Select Page

ครอบครัวจิตรกร….

ครอบครัวจิตรกร….

หากพูดถึงสถาบันที่เล็กที่สุดก็คงไม่พ้นสถาบันครอบครัว และเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมที่จะออกไปสู่สังคมภายนอกอย่างมีคุณภาพ  อย่างครอบครัว “คะมะนะ” ที่ส่งเสริมบุตรได้อย่างน่าปลื้มใจด้วยการอ่านและการวาดภาพศิลปะ……..

 

 

โดย อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์   

  

          การส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีในชีวิตครอบครัวในสังคมไทย นอกจากความรัก การให้อภัยและเป็นที่พักพิง ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเสียสละ ที่มีภายในครอบครัวยังต้องมีการส่งเสริมในกิจกรรมที่ดีเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ของพ่อ แม่ ลูก ทั้งในเรื่องการเรียนและการดำรงชีวิต ซึ่งต้องปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัยอย่างเช่น

           ด.ช.ทิวทัศน์ คะนะมะ นักเรียนโรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย ปีที่ 3  พ.ศ.2552  กับผลงาน “แห่บั้งไฟ” และที่ทำให้รางวัลนี้พิเศษยิ่งขึ้น   คือการได้รับคัดเลือกจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นำภาพวาดของเขาไปจัดทำเป็นดวงตราไปรษณียากรชุด จินตนาการ สืบสานวรรณกรรมไทย  ออกจำหน่ายในงานแสดงตราไปรษณียากรภาคพื้นเอเชีย พ.ศ.2553 ในวันที่ 7 สิงหาคม 2553 ก่อนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ

          ทิวทัศน์ บอกว่า “การอ่าน ทำให้ได้ฝึกฝนทักษะการสะกดคำต่างๆ และภาษาจากวรรณกรรม อีกทั้งวรรณกรรมที่ได้อ่าน ยังสอดแทรกคติสอนใจไว้ในเรื่องด้วย  เมื่อได้เข้าร่วมโครงการนี้ก็ทำให้ได้ประโยชน์มากขึ้น คือ การวาดภาพ และการใช้จินตนาการจากวรรณกรรมที่ได้อ่าน อย่างเช่นที่ผมได้วาดออกมานี้เป็นประเพณีแห่บั้งไฟ จากวรรณกรรมเรื่อง “ผาแดง-นางไอ่” ที่สะท้อนออกมาให้เห็นถึงพลังความสามัคคี และโดยส่วนตัวเป็นคนชอบวาดภาพ ก็สามารถทำให้เราได้ฝึกฝนและพัฒนาการวาดภาพของเราด้วย

          สำหรับรางวัลที่ได้ ผมรู้สึกดีใจครับ และอยากเชิญให้พี่ๆ เพื่อนๆได้มาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่นที่ผมได้ทำ”

            ด้าน ด.ช.เทิดธันวา คะนะมะ นักเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พี่ชายก็ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากการประกวดวาดภาพจากโครงการเดียวกัน เทิดธันวา เล่าว่า “คุณพ่อจะเป็นคนที่คอยหาหนังสือมาให้อ่านอยู่เสมอ ในการอ่านหนังสือนอกจากจะให้เราได้ความรู้แล้วยังสามารถทำให้เรามีสมาธิ ความนิ่ง และความคิดที่ได้จากจินตนาการในการอ่านวรรณกรรม  ในการฝึกวาดพ่อก็จะเป็นคนช่วยสอน แนะนำ ทั้งการวาดและการอ่านว่าสิ่งไหนดี หรือไม่ดี  แต่พ่อจะเน้นการสอนให้ฝึกคิดก่อน เวลาฝึกวาดภาพกับน้องผมก็จะมีเทคนิค และแนะนำบางอย่างให้น้องด้วย

            ความรู้สึกที่ได้รับรางวัล ก็รู้สึกดีใจถึงแม้ว่าจะไม่ใช่รางวัลชนะเลิศแต่มันมาจากความตั้งใจ ก็อยากให้เพื่อนๆได้ลองมาทำเหมือนผมกับน้องที่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง”

            สำหรับคุณธีระวัฒน์ คะนะมะ คุณพ่อของน้องทั้งสอง ได้เล่าถึงวิธีการสอนลูกว่า “ ก่อนอื่นเลยนิทานบ้านเรา น่าจะมีภาพประกอบให้มากขึ้น ตอนลูกยังเล็ก ผมจะสอนให้เรียนรู้เรื่องราวผ่านรูป แล้วค่อยพัฒนาไปในการอ่าน โดยยังไม่เน้นเรื่องของคติสอนใจ เพราะอยากให้ลูกรักในการอ่านก่อน เมื่อเขาเกิดความรักก็จะเกิดการใส่ใจในสิ่งที่เขาได้อ่าน แล้วคติสอนใจก็จะตามมาเอง ถ้าเขารักในการอ่าน”

             “ในฐานะที่เป็นจิตรกร จะต้องตีกรอบหรือไม่ ? ว่าลูกจะต้องเป็นเหมือนพ่อ….”

            คุณธีระวัฒน์ ตอบว่า “ไม่เคยตีกรอบว่าลูกจะต้องเป็นจิตรกรเหมือนพ่อ หรือจะต้องวาดภาพ แต่จะชอบให้ลูกรู้จักคิด รู้จักตัวเอง ส่วนหนึ่งที่ใช้ในการสอนลูกคือ การเข้าถึงตัวลูก  ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนไม่มีใครไม่อยากให้ลูกได้ดีอยู่แล้ว หรือไม่ว่าในอนาคตเขาทั้ง2 คน จะมีชื่อเสียง ผมก็จะเน้นย้ำเสมอว่าสิ่งเหล่านี้ที่เราได้มามันเป็นเพียงผลพลอยได้ แต่สิ่งที่ได้จริงๆคือ ความตั้งใจที่เราได้ทำสิ่งนั้น

            ครั้งหนึ่งน้องทิวทัศน์เคยได้รางวัลมีเงินรางวัล 3,000 กว่าบาท น้องขึ้นไปรับรางวัลบนเวที ได้เพียงกระดาษแผ่นเดียว แล้วหันมาถามผมว่า “ไหนว่าจะได้เงิน แต่ทำไมมีกระดาษเพียงใบเดียว” ผมก็อธิบายให้เขารู้ว่า สิ่งที่เราได้ตรงนี้คือผลพลอยได้ แต่สิ่งที่เราได้มากกว่านั้นคือความตั้งใจ จริงใจ และความสุขที่เราได้ลงมือทำ”

            หลักในการสอนศิลปะลูก?

           “ก็จะถามลูกว่าสนใจเรื่องไหนถ้าเขาสนใจวรรณกรรมเรื่องอะไร หรือนิทานเรื่องไหนก็จะหามาให้ หรือว่าเรื่องใดที่เราคิดว่าดีเราก็จะเอามาให้เขาอ่าน ส่วนการเรียนศิลปะที่ดีและได้ผลนั้นผมคิดว่า การเรียนศิลปะต้องเรียนเป็นกลุ่ม เวลาที่น้องเรียนก็จะมีเพื่อนๆเขามาเรียนด้วย เพื่อให้เกิดความสนุก และสอนการอยู่ร่วมกันในสังคมให้เขาไปในตัว

            ส่วนคุณแม่ก็จะมีส่วนร่วมในการสอน แนะนำ ส่งเสริมตลอดเวลาที่เพื่อนของน้องมาเรียนที่บ้าน ผมคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง’กำลังใจ’ คือทุกผลงานที่น้องเขาได้วาด ได้สร้างมันขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจและตั้งใจถึงที่สุด นั่นแหละคือรางวัล ถึงแม้ผลงานชิ้นนั้นจะไม่ได้รับรางวัลในการประกวดก็ตาม แต่สิ่งที่น้องได้คือความตั้งใจที่เขาได้ลงมือทำ”

ผมเชื่อว่า ‘ครอบครัว’ มีความสำคัญมากที่สุดแก่บุคคลทุกคน การส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีในชีวิตครอบครัว จะสมบูรณ์ได้ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ครอบครัวมอบให้ เช่นเดียวกับครอบครัว ‘คะนะมะ’

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.