Select Page

แล่นเรือใบครั้งแรกในชีวิต นาทีแห่งอิสรภาพและความท้าทาย

แล่นเรือใบครั้งแรกในชีวิต นาทีแห่งอิสรภาพและความท้าทาย

ครั้งแรกที่ได้ล่องลอยอยู่กลางทะเลเพียงลำพัง ในเรือใบลำเล็ก หลังจากที่พี่เลี้ยง ซึ่งเป็นเด็กสาววัย 15 ปี ดีกรีระดับคู่ฝึกแชมป์เรือใบเยาวชนมาหลายคน กระโดดลงน้ำไป แม้จะไม่ตื่นกลัว ตามประสาคนที่ชอบความท้าทายเป็นทุนเดิม แต่ก็ตื่นเต้นเหมือนกันค่ะ นาทีนั้น สัญชาติญาณการเอาชีวิตรอดก็สั่งให้ตั้งสติ แล้วสมองก็สั่งการมือซ้ายและขวาบังคับใบเรือและหางเสือเรือ ให้สามารถแล่นไปในทิศทางที่ต้องการได้แม้จะค่อนข้างทุลักทุเล

เรื่อง::สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ภาพ::กองทัพเรือ


 
           ประสบการณ์แล่นใบครั้งแรกในชีวิตนี้เกิดขึ้นเมื่อดิฉันได้ไปทำข่าวพิธีเปิดโครงการ”เยาวชนเรือใบหัวใจสามัคคี” ที่สมาคมเรือใบแห่งประเทศไทย และกองทัพเรือ ร่วมกับภาคเอกชน จัดขึ้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้สถานที่ศูนย์ล้อมสวัสดิ์ ซึ่งบริษัทโอสถสภาเป็นเจ้าของ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2554 ค่ะ ก่อนอื่นต้องพูดถึงโครงการนี้เสียก่อน เพราะน่าสนใจสำหรับเยาวชนและพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเล่นเรือใบเป็น


 
          เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้ไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นเวลานับสัปดาห์ ที่พักพร้อม อาหารเพียงพอ แบบที่ผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายเงินสักบาท ทางสมาคมเรือใบฯจัดครูฝึกมากประสบการณ์มาสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กฏ กติกาเบื้องต้นของกีฬาเรือใบ การนิรภัยทางน้ำ แต่ก่อนจะได้ลงน้ำจริงๆ ต้องฝึกบังคับเรือใบจำลองบนบกเพื่อให้เกิดทักษะเบื้องต้นในการควบคุมเรือใบกันก่อนค่ะ แม้จะอยู่บนบก แต่เวลาที่มีลมพัดมาเจ้าเรือใบจำลองนี้จะให้ความรู้สึกเหมือนจริง ครูฝึกสามารถสอนวิธีการบังคับใบและหางเสือให้เด็กๆคุ้นเคย พอลงทะเลไปเจอคลื่นลมจริงๆ ก็จะลดความตื่นเต้นไปได้มาก แต่อย่างไรก็ตามการฝึกแล่นใบนี้ต้องมีครูฝึกคอยควบคุมดูแลเด็กๆอย่างใกล้ชิด โดยครู 1 คน ดูแลเด็กไม่เกิน 5 คนค่ะ

 
          นอกจากการฝึกแล่นใบแล้ว ระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่เด็กๆได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ทำกิจกรรมต่างๆด้วยกัน ยังเป็นการเสริมสร้างความรักความสามัคคี ทำให้เด็กคิดเป็น ตัดสินใจเป็น และจุดประกายให้เด็ก ๆ อยากเป็นนักกีฬาเรือใบที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับแชมป์โลก เรือใบเยาวชน ของสมาคมแข่งเรือใบฯ ที่มาร่วมดูแลและเป็นผู้ช่วยฝึกเด็กๆในโครงการนี้ด้วย
 
          กองทัพเรือและสมาคมแข่งเรือใบฯ ได้เริ่มจัดโครงการเยาวชนเรือใบเมื่อปีที่แล้วในภาคตะวันออก และที่อำเภอหัวหินเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โอสถสภา จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ศูนย์ล้อมสวัสดิ์ และ เทศบาลเมืองหัวหิน และในอนาคตจะขยายโครงการไปทั่วประเทศไม่เว้นแม้แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เดิมหลายคนคงคิดเหมือนกับดิฉันว่า เรือใบจะอยู่คู่กับทะเลเท่านั้น แต่เมื่อได้พูดคุยกับครูฝึกถึงได้เข้าใจว่า กีฬาเรือใบสามารถเล่นได้ในแหล่งน้ำทุกที่ไม่เฉพาะในทะเล ดังคำกล่าวที่ว่า “ที่ใดมีน้ำ มีลม ที่นั่นมีเรือใบ” 
 
          ร.ต.สมเกียรติ พูนพัฒน์ ผู้ฝึกสอนประจำสมาคมเรือใบแห่งประเทศไทย ยังอธิบายต่อไปอีกว่ากีฬาประเภทนี้สามารถเล่นได้ทั้งชายและหญิง ฝึกได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก แม้กระทั่งเด็กพิเศษเช่นออทิสติก ก็สามารถฝึกได้ หากแต่ครูฝึกจะต้องประกบอย่างใกล้ชิดแบบตัวต่อตัวไม่ให้คลาดสายตา เด็กชั้นประถมขึ้นไปถึงผู้ใหญ่โดยทั่วไป เรียนแบบจริงจังเต็มๆวันก็จะเห็นผลแล้ว สามารถบังคับเรือใบได้ เพียงแต่จะเก่งหรือไม่เก่ง จะพัฒนาไปถึงขั้นไหนนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความขยันหมั่นฝึกซ้อมนั่นเองค่ะ เมื่อซ้อมมากอยู่ในทะเลบ่อยๆ ก็จะมีโจทย์เรื่องลมและคลื่นในสภาวะต่างๆ มาให้แก้ปัญหาจนเกิดทักษะสูงขึ้นไป ฟังแล้วก็ชักสนใจอยากจะเล่นเรือใบให้เก่งเสียแล้วสิคะ คิดว่าใครที่เอาจริงเอาจังก็ไม่อยากเกินความพยายามแน่นอน เพราะดิฉันเองแค่ลงน้ำไปไม่ถึงชั่วโมง (โดยไม่ผ่านการฝึกเรือใบจำลองบนบกก่อนด้วยซ้ำ) ก็ยังพอเอาตัวรอดได้ แค่มีจังหวะที่เรือเอียงจนเกือบล่มไปนิดเดียวเท่านั้นเอง!!!!
 
          ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่าที่คนไทยไม่นิยมเล่นเรือใบเพราะค่าใช้จ่ายมันสูงเกินไปรึเปล่า ร.ต.สมเกียรติก็ยอมรับว่าเป็นเหตุผลหนึ่ง นอกจากนั้น กีฬาเรือใบสมัยก่อนๆ ที่ยังไม่มีเทคโนโลยีการถ่ายทอดข่าวสารออกไปสู่ประชาชนทั่วไป ก็ทำให้ไม่มีใครได้เห็นกันมากนัก เด็กๆก็ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และไม่เกิดแรงบันดาลใจที่จะเล่นเรือใบ ทางสมาคมเรือใบฯจึงพยายามเผยแพร่เรื่องนี้ และการเปิดโครงการอบรมให้แก่เยาวชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เยาวชนไทยได้เข้าถึงกีฬาชนิดนี้ แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ(รวมทั้งดิฉันด้วย) บรรดาครูฝึกก็เชื้อเชิญให้ไปฝึกที่สมาคมเรือใบฯ ที่สัตหีบได้ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ค่ะ
 
          ดิฉันเห็นด้วยกับสมาคมเรือใบฯ ที่ว่าหากขยายผลกีฬาเรือใบให้กว้างขวางออกไปในหมู่เยาวชนมากเท่าใด ก็จะยิ่งฝึกทักษะให้เยาวชนไทยคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น มากยิ่งขึ้น ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่ว่า”ถ้าเราเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้ แล้วนำมาใช้ชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้ ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต” 
 

          แต่ความประทับใจส่วนตัวที่ดิฉันคิดว่าเป็นเสน่ห์ของการเล่นเรือใบ คือ ความรู้สึกมีพลังอำนาจในการควบคุมตัวเองอย่างอิสระกลางคลื่นลมในทะเล ฝึกใช้สติ ใช้สมองและสองมือให้สัมพันธ์กัน สายตาไม่ละเป้าหมายและจิตใจที่แน่วแน่เพื่อนำพาเรือใบเข้าฝั่งให้ได้อย่างปลอดภัย

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.