Select Page

ตลาดร้อยปีที่สามชุก

ตลาดร้อยปีที่สามชุก

samchookmarket
นับตั้งแต่ “ตลาดร้อยปีสามชุก” ได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมระดับดี (Award Merit) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2552 จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และกระทรวงวัฒนธรรมยกให้เป็นชุมชนต้นแบบแห่งความสามัคคี เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาประเทศในมิติของวัฒนธรรม ก็ทำให้ผู้คนหลั่งไหลไปสัมผัสตลาดเก่าแก่ที่ได้รับการบูรณะและฟื้นชีวิตขึ้นมาอย่างคึกคัก ฉันเองไปเยือนตลาดร้อยปีแห่งสามชุกมาตั้งแต่ปี 2549 และเขียนเล่าไว้ในคอลัมน์ “คุยกับสายสวรรค์” ใน นสพ.สวัสดีกรุงเทพ ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2549 ก็ขอนำมาฟื้นความหลังกันอีกครั้ง เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในเว็บไซต์นี้ด้วยค่ะ 

เรื่อง:สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ภาพ:อิศเรศ จันทรวดี

samchookmarket 023

           “………จากกรุงเทพฯจะไปสามชุก ฉันใช้เส้นทางผ่านอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรีค่ะ ไปจนถึงตัวเมืองสุพรรณบุรีแล้วก็อย่าเพิ่งวอกแวก วิ่งไปตามถนนสาย 340 เรื่อยไป ผ่านอำเภอศรีประจันต์ จนกระทั่งเห็นป้ายบอกทางเลี้ยวเข้าอำเภอสามชุก ก็เลี้ยวเข้าไป ถึงตรงนั้นจะมีป้ายบอกทางตลาดร้อยปีอยู่เป็นช่วงๆ พอไม่ให้หลง ตลาดจะอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณ ติดกับที่ว่าการอำเภอสามชุกค่ะ ที่จอดรถอาจจะไม่กว้างขวางนัก แต่ก็พอหาที่พอจะมีร่มเงาต้นไม้เป็นที่จอดsamchookmarket 094

          เมื่อเข้าไปในตลาดร้อยปีแล้ว ขอแนะนำให้ท่านเริ่มต้นทำความรู้จักสถานที่ จากพิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ค่ะ เป็นบ้านคหบดีเก่าที่ลูกหลานอนุรักษ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไว้ให้ชมอย่างสมบูรณ์ มีประวัติความเป็นมาของตลาดร้อยปีและจุดสำคัญๆ ที่ควรจะไปเยี่ยมเยือนไว้อย่างละเอียด รวมทั้งมีแบบจำลองอาณาบริเวณของตลาดสามชุก ที่คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเขาจัดทำขึ้นเพื่อให้ได้เห็นภาพรวมในมาตราส่วน 1 :75 ด้วย

samchookmarket 082samchookmarket 043

samchookmarket 048samchookmarket 056          ขณะที่เดินชื่นชมไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ท่านจะได้รับการต้อนรับพูดคุยอย่างเป็นกันเองจากคนในพื้นที่ ทำให้อดชื่นชมไม่ได้ว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ดีจริงๆ นอกจากนี้ยังเห็นเขาจัดพื้นที่บริเวณส่วนกลางตลาด เป็นลานเอนกประสงค์เพื่อการเรียนรู้สำหรับจัดงานแสดงศิลปะและขายของแบบถนนคนเดิน พร้อมทั้งมีเวทีเสวนาเล็กๆอยู่ด้วย น่าเสียดายที่ฉันไม่ได้ไปในช่วงที่เขาจัดงาน จึงสัมผัสได้เพียงกลิ่นไอของชุมชนแห่งการเรียนรู้

          samchookmarket 123samchookmarket 129ช่วงที่พักเหนื่อยซื้อน้ำมะนาวดองดื่มเย็นๆ ที่ชั้นล่างของโรงแรมอุดมโชค โรงแรมโบราณที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งหนึ่งของตลาด พี่สาวใจดีคนหนึ่งช่วยอธิบายความเป็นมาของตลาดสามชุกให้ฟังอย่างเพลิดเพลิน เธอบอกว่ากว่าจะมีวันนี้ ชาวตลาดสามชุกเกือบต้องย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนกันไปแล้ว เพราะเจ้าของที่ดินคือกรมธนารักษ์จะเวนคืนที่ดินคืนแล้วแปลงโฉมตลาดเรือนห้องแถวไม้เก่าคร่ำคร่าไปเป็นอาคารพาณิชย์และลานจอดรถแทน ชาวชุมชนนำโดย ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีต สว.สุพรรณบุรีผู้ที่พื้นเพเป็นชาวสามชุก ก็รวมตัวกันในรูปคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกในเชิงอนุรักษ์ และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชุมชนไทย ฟื้นลมหายใจอันแผ่วเบาของตลาดเก่า ให้เป็นตลาดที่มีชีวิตชีวา

          ร้านรวงที่เกือบล้มหายตายจากอย่างร้านถ่ายรูป “ศิลป์ธรรมชาติ” ร้านขายยาแบบโบราณ “ฮกอันโอสถสถาน” ร้านกาแฟ “ท่าเรือส่ง” ตลอดจนร้านขายเครื่องจักสาน งานฝีมือต่างๆ ก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนให้เปิดบริการต่อไปได้ และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลเสน่ห์ของบรรยากาศเก่าๆ ไปเที่ยวชมsamchookmarket 163

          เมื่อชุมชนได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีคนมาเที่ยว มาพูดคุยอย่างสนใจใคร่รู้ และจับจ่ายซื้อของ ก็ยิ่งมีการรวมตัวกันเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ คุยกันอยู่นานถึงได้ถามชื่อเสียงเรียงนาม ที่แท้เธอมีศักดิ์เป็นหลานสาวของ ดร.สมเกียรติ นั่นเอง ปัจจุบันเป็นกรรมการชุมชน และคอยเป็นวิทยากรให้แขกผู้มาเยือน เธอชื่อพี่อรุณลักษณ์ อ่อนวิมล ค่ะ

          ใครคิดจะไปตลาดสามชุกช่วงสงกรานต์นี้ละก็ลองใช้เคล็ดลับส่วนตัวของดิฉันดูนะคะ คือออกจากบ้านสัก 10 โมงเช้า ไปถึง 11 โมงกว่าๆ ก็จะได้เวลาอาหารกลางวันพอดี เรียกน้ำย่อยด้วย “ก๋วยเตี๋ยวยำบก” samchookmarket 028หรือ “ข้าวห่อใบบัว”สูตรดั้งเดิมไม่เหมือนที่ไหน ก่อนจะเดินเล่นสักพักแล้วกิน “บะหมี่เกี๊ยวเจ๊กอ้าว” รสชาติแบบจีนๆ อร่อยลิ้น ตบด้วยกาแฟ “ท่าเรือส่ง”รสเข้มข้น หรือจะหวนนึกถึงวัยเด็กด้วยการเดินดูดไอศกรีมโบราณที่เขาใส่น้ำหวานรสต่างๆ บรรจุเป็นถุงทรงเหมือนหลอดที่ขายอันละ 2 บาทเท่านั้น ก็สนุกดีค่ะ

          ก่อนกลับก็น่าจะซื้ออาหารแนะนำอย่างเป็ดย่างเชอร์รี่ ที่เขาขายอยู่หน้าร้านกาแฟท่าเรือส่ง ซื้อปลาสลิดตัวอวบๆ มาทอดเองที่บ้าน หรือซื้อขนมเก่าแก่ อย่างขนมกง ขนมเปี๊ยะ หรือขนมไข่สูตรโบราณมาฝากเพื่อนฝูง ก็ล้วนแต่ราคามิตรภาพค่ะ

          ฉันเองนอกจากของกินแล้วยังอุดหนุนของใช้เขามาอีกด้วย คือไซดักปลารูปทรงเหมือนลูกรักบี้แต่ออกจะกลมกว่า งานฝีมือของคนแก่ในท้องถิ่นค่ะ คงไม่มีปัญญาจับปลากินเองแน่ๆ แต่นำมาดัดแปลงเป็นโคมไฟแต่งสวนค่ะ แค่นึกก็เก๋แล้ว หวังว่าวันหยุดนี้ท่านผู้อ่านสวัสดีกรุงเทพคงจะมีตลาดสามชุกเป็นหนึ่งในทางเลือกคลายร้อนนะคะ”samchookmarket 144

          หมายเหตุ: ฉันนำเรื่องที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2549 นี้มาลงเกือบครบทุกบรรทัด ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันนะคะ อยากให้ถือว่าเป็นร่องรอยสืบค้นย้อนหลังไปได้ว่าประสบการณ์ที่ได้ไปพบเห็นในช่วงเวลานั้นๆ เป็นอย่างไรบ้าง และถ้ามีโอกาสฉันจะไปเยือนตลาดเก่าเจ้าเสน่ห์แห่งนี้อีกอย่างแน่นอน

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.