“ปรับตารางชีวิต” เพื่อสุขภาพที่สมดุล
ไม่ได้มีแค่ป๊อปอายเท่านั้นหรอกที่กล้ามใหญ่ด้วยผักโขม หนุ่มสาวออฟฟิศอย่างเราๆก็สามารถเติมพลังงานได้เช่นเดียวกัน ขอเพียงรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติของกลไกอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายดีพอ
คุณเคยตั้งข้อสงสัยบ้างไหมว่า ทำไมบางครั้งเป็นหวัดไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ หรือเวลาโดนมีดบาดแล้วทำไมแผลหายเองได้ ก็เพราะร่างกายเรามีพลังมหัศจรรย์ในการดูแลและรักษาตนเองโดยอัตโนมัติ
สมัยก่อนกลไกในการดูแลรักษาตนเองนั้นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบันสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง มลพิษทางอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ รวมถึงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตที่ละเลยการออกกำลังกาย ทำงานหนักหรือเครียดมากเกินไป พักผ่อนน้อย และการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ฯลฯ ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นการผลักภาระให้ร่างกายต้องใช้พลังงานในการต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้
นั่นทำให้พลังมหัศจรรย์ในการดูแลหรือซ่อมแซมตนเองจึงถดถอยลดลงหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นมนุษย์เราจึงพยายามเสริมสร้างพลังงานบำบัดในร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเพิ่มพลังงานในร่างกายให้มีการไหลเวียนของพลังงานธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัด อาทิ การรำชี่กง ไทเก๊ก โยคะ หรือการออกกำลังกายประเภทอื่นๆ
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยเพิ่มพลังงานในร่างกายให้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น คือการรู้จักหรือเข้าใจธรรมชาติของกลไกอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายว่า ช่วงเวลาใดเป็นช่วงเวลาที่ควรเติมพลังงาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ ปรียารัตน์ นิธิบุญญาพันธ์ (Traditional Chinese Medicine) แพทย์แผนจีน จาก ALIVE Wellness Solutions แนะนำว่าร่างกายจะมีการไหลเวียนของพลังชีวิตผ่านอวัยวะภายในเรียกว่า “นาฬิกาชีวิต” คือจะมีเวลาของแต่ละอวัยวะที่ทำงานอย่างเต็มที่ และพึงหลีกเลี่ยงไม่ให้อวัยวะนั้นทำงานหนักเกินไป รวมทั้งเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเสริมสร้างพลังให้อวัยวะภานในแข็งแรง วิถีชีวิตที่ผิดเวลา พลังอวัยวะภายในก็จะผิดปกติ ดังนั้นเราจึงควรดูแลและเติมพลังให้กับร่างกายในแต่ละช่วงเวลาของวันดังนี้
ช่วงเช้า
03:00-05:00 น. ควรตื่นนอนแต่เช้ามืด และดูดอากาศบริสุทธิ์ เพื่อช่วยเติมพลังให้ปอดแข็งแรง
หลังตื่นนอน ก่อนแปรงฟันควรดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดา 1-2 แก้ว เพิ่มภูมิต้านทานและขับสารพิษร่างกาย
05:00-07:00 น. เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการขับถ่าย ถ้าไม่ขับถ่ายของเสียถูกดูดซึมกลับ
07:00-09:00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร ควรทานมื้อเช้าในช่วงนี้เพื่อให้กระเพาะอาหารแข็งแรง
ช่วงกลางวัน
สมาธิการทำงานเริ่มลดลง ชาร์จพลังด้วยอาหารกลางวันที่อุดมด้วยไฟเบอร์ เช่น ผักผลไม้สด จะช่วยให้ร่างกายขับสารพิษดีขึ้น
11:00-13:00 น. เป็นช่วงหัวใจทำงานหนัก หลีกเลี่ยงความเครียด อาจจะหาเวลางีบนอนสัก 15-20 นาที เพื่อเติมพลังให้สมองและหัวใจ
ช่วงเย็น
15:00-17:00 น. เป็นช่วงเวลาที่ควรทำให้เหงื่อออกโดยการออกกำลังกาย หรือซาวน่า จะทำให้กระเพาะปัสสาวะแข็งแรง
19:00-21:00 น. เป็นช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ เวลานี้ควรพักผ่อนทำสมาธิหรือสวดมนต์ งดกินอาหารหรือออกกำลังกาย เพราะเป็นช่วงร่างกายเริ่มซ่อมแซมตนเอง
21:00 น. เป็นช่วงเวลาที่ควรเข้านอนที่สุด ควรอาบน้ำอุ่นก่อนนอน ทำให้ไม่เป็นหวัดและเจ็บป่วยง่าย (ตอนเช้าอาบน้ำเย็น ตอนเย็นอาบน้ำอุ่น) และควรนอนแต่หัวค่ำ เพื่อที่ตับจะได้ทำหน้าที่ขจัดสารพิษฆ่าเชื้อโรคได้อย่างเต็มที่ นอนดึกไขมันจะพอกสะสมที่ตับทำให้ติดเชื้อง่าย
ควรดื่มน้ำมากๆ ก่อนนอน หรือก่อนเวลา 23:00 น. เพื่อทำให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ ถ้าร่างกายขาดน้ำจะทำให้ถุงน้ำดีไม่แข็งแรง
รู้อย่างนี้แล้ว มาตั้งนาฬิกาชีวิตใหม่(ที่ดีกว่ากันเถอะ) เพราะพวกเราสามารถเติมพลังงานให้กับตนเองได้ในทุกช่วงเวลาของวัน เพื่อการทำงานของอวัยวะที่สมดุลและสมบูรณ์มากขึ้นได้
ที่มา : ทูเดย์-ไกด์ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม 2555 หน้า2