ไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน
ไทยทรงดำ เป็นชนเผ่าที่อพยพมาจากเวียดนามกว่า 300 ปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย แต่พื้นที่หนึ่งที่ชาวไทยทรงดำยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเองมาได้หลายชั่วอายุคนแล้ว ก็คือที่ บ้านหัวเขาจีน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งมีศูนย์วัฒนธรรมเป็นที่รวบรวมองค์ความรู้ และปลูกฝังค่านิยมให้ลูกหลานภูมิใจในเชื้อสายของตัวเอง
ภาพ: พงษ์พันธ์ พวงพิลา
ดินแดนสิบสองจุไทยในเวียดนามเหนือปัจจุบัน เป็นถิ่นฐานเดิมของชาวไทยทรงดำหรือที่เรียกกันว่า ‘ไทยโซ่ง’ โดย ‘โซ่ง’ คำนี้มาจากชุดแต่งกายเพราะนุ่งส่วงดำหรือกางเกงสีดำ ซึ่งต่อมาอพยพผ่านมาทางประเทศลาว จึงมีคำเรียกอีกคำว่า ‘ลาวโซ่ง’
การเดินทางในวันนี้ ดิฉันจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับชาวไทยทรงดำ ณ ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน ต.ห้วยยางโทน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งที่นี่มีชาวไทยทรงดำประมาณ 80% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยแบ่งเป็นเพศชาย 265 คน เพศหญิง 312 คน รวม 577 คนและมี 143 ครัวเรือน นอกจากนี้จ.ราชบุรี ยังแบ่งออกเป็น 8 ชนเผ่าและชาวไทยทรงดำคือ 1 ใน 8 ชนเผ่านั้น ซึ่งอาชีพหลักคือการทำไร่ ทำนาและการทอผ้าคืออาชีพเสริม
ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เป็นศูนย์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ให้คนทั่วไปที่สนใจวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทยทรงดำ สามารถมาศึกษาดูงานได้ นอกจากนั้นที่นี่ยังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ กองทุนแม่ของแผ่นดิน กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์สัจจะและกลุ่มอาชีพเสริมสตรีทอผ้า ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชุมชนก็ว่าได้ บ้านของชาวไทยทรงดำเป็นเรือนลาวทรงสูง ใต้ถุนโปร่งเป็นพื้นที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งใช้เป็นที่ทอผ้าของกลุ่มสตรี ส่วนหลังคาจะเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วมี ‘ขอกุด’ เป็นสัญลักษณ์ (ขอกุด คือ ไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควายไขว้กัน) วันนี้มีคุณครูไพรัช บัวบางใบ เป็นผู้นำชม เรากำลังเดินขึ้นสู่ชั้น 2 ของเรือนลาวเพื่อชมเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้จำนวนมากวางเรียงรายอยู่ขวามือของทางเข้า พื้นที่กลางเรือนใช้วาง ผ้าแต่ละลวดลาย “เข็นด้าย” ซึ่งทำด้วยไม้ มีขนาดใหญ่มาก เข็นด้ายใช้สำหรับพันด้ายแยกสีเป็นหลอดๆตามจำนวนที่ต้องใช้ในการทอ ดิฉันได้ชมการสาธิตเข็นด้ายนี้ด้วย คุณครูยกเครื่องมือไม้อีกชนิดหนึ่งออกมาให้ดู ท่านบอกว่า อันนี้เรียกว่า ‘อิ้ว’ อิ้วคือ เครื่องมือสำหรับแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย มีเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่หน้าตาแปลกๆอันนี้คุณครูบอกว่า เขาเรียก”กระเดื่อง”ใช้สำหรับตำข้าวของคนสมัยก่อน ส่วนสุดท้ายที่คุณครูพาชมก็คือ”ห้องพิธี” ซึ่งชาวไทยทรงดำเป็นชนเผ่าที่ยังคงเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ จึงเกิดพิธี”เสนเรือน”หรือ”เซ่นผี”นั่นเอง เวลาทำพิธีก็ต้องทำในห้องนี้เท่านั้น
ความรู้อีกอย่างหนึ่งที่ดิฉันได้ในวันนี้ก็คือ ชาวไทยทรงดำยังคงพูดกันด้วยด้วยภาษาไทยทรงดำ แต่การเขียนนั้นไม่ค่อยมีแล้ว อาจเป็นเพราะเขียนยาก ก็เลยไม่เป็นที่นิยม แต่ยังคงมีให้ชมนะคะ เอกลักษณ์ของชาวไทยทรงดำที่นี่อีกสิ่งหนึ่งคือการแต่งกายแบบดั้งเดิมตามบรรพบุรุษคือผู้ชายสวมเสื้อสีดำและกางเกงสีดำ ส่วนผู้หญิงก็จะสวมเสื้อสีดำ ผ้าซิ่นสีดำและทรงผมแบบ
“ปั้นเกล้าต่วง”(จะไว้เมื่ออายุ 20 ปี เกล้าผมไว้กลางศีรษะหูกระต่าย ผมต่อผมพันกันใช้ไม้ขัดเกล้าเสียบผมจะพันกันอย่างเรียบร้อย นอนก็สะดวก ผมทรงนี้ทำได้ตั้งแต่สาว ไปจนแก่ ) ซึ่งมีความงดงามมากและคนที่ทำได้คือคนที่มีความชำนาญ เหตุผลที่หมู่บ้านนี้ยังคงเอกลักษณ์เดิมๆไว้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาปลูกฝังค่านิยมกันตั้งแต่เด็กๆ ไม่ให้อายที่จะใช้ภาษาถิ่นและภูมิใจในความเป็นชนเผ่าของตน ภาพน่ารักอีกภาพหนึ่งที่ดิฉันเห็นคือ ภาพคุณยายท่านหนึ่งกำลังเคี้ยวหมาก เห็นแล้วนึกถึงคุณย่าของดิฉันค่ะ แอบสงสัยนิดหนึ่งว่าไม่เผ็ด ไม่ร้อนหรืออย่างไร…อร่อยเหมือนเคี้ยวหมากฝรั่งไหมนะ? คนที่นี่อัธยาศัยไมตรีดีมากๆเลยค่ะ รอยยิ้มก็จริงใจมากๆด้วย เมื่อเห็นเขายิ้มแล้วดิฉันยังเผลอยิ้มตามเลยค่ะ
ดิฉันได้นั่งคุยกับคุณป้าท่านหนึ่ง ชื่อป้าสมหมาย กลิ่นสุคนธ์ เป็นปฏิคมของศูนย์ฯแห่งนี้ ดิฉันชวนป้าพูดคุยในเรื่องทั่วๆไป ชวนดูภูเขา ทุ่งนา ต้นไม้ ป้าคุยกับฉันอย่างเป็นกันเอง ป้ายังบอกฉันเลยว่ามีโอกาสให้มาเที่ยวที่นี่อีก จะพานั่งเกวียนไปเที่ยวถ้ำหัวเขาจีน ซึ่งห่างจากศูนย์ฯไม่มากนัก ดิฉันชอบทรงผมป้ามาก เมื่อมีโอกาสฉันเลยถามป้าว่า ทรงผมนี้ป้าทำเองได้รึเปล่าคะ ป้าบอกฉันว่า “ไม่ได้จ้ะ คนที่ทำได้ในหมู่บ้านนี้มีเพียง 3 คน เป็นคนแก่ 2 คนและวัยรุ่นที่เข้าไปเรียนในเมืองจบช่างเสริมสวยอีกหนึ่งคน” ป้าพูดคุยกับฉันด้วยภาษาไทยแต่พูดคุยกับชาวไทยทรงดำด้วยกันด้วยภาษาถิ่นซึ่งแน่นอนว่าฉันฟังไม่รู้เรื่องเลย ป้าสมหมายใจดีมากเพราะวันนี้ป้าสาธิตการสาวไหมด้วยเครื่องมือเก่าให้ดิฉันดูด้วย
ดิฉันดีใจที่วันนี้ได้มาเที่ยวที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน เพราะได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่ไม่เคยรู้มาก่อนและดิฉันอยากเชิญชวนทุกท่านที่มีความชอบหรือความสนใจในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้แวะเวียนมาที่ศูนย์ฯแห่งนี้ได้นะคะ เพราะนอกจากคุณจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายภายในอ้อมกอดของขุนเขาและธรรมชาติที่สวยงาม คุณยังได้พักผ่อนแบบโฮมสเตย์อีกด้วย ซึ่งที่นี่ยังอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯด้วยค่ะ ใช้เวลาเดินทางเพียงสองถึงสามชั่วโมง คุณก็จะได้เห็นความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายซึ่งแตกต่างจากสังคมเมืองโดยสิ้นเชิง