Select Page

รู้รักษ์ภาษาไทย กับ อสมท กิจกรรมดีดีของสังคมไทย

รู้รักษ์ภาษาไทย กับ อสมท กิจกรรมดีดีของสังคมไทย

ภาษาไทยถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย อีกทั้งยังแสดงถึงเอกราชของชาติที่ไม่เคยตกอยู่ใต้การปกครองของใคร นับตั้งแต่พ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นใช้ตราบจนวันนี้ เป็นเวลายาวนานกว่า ๗๒๘ ปี ที่บรรพบุรุษสละชีพเพื่อรักษาความป็นเอกราชนี้ไว้ เดือนกรกฎาคมถือเป็นเดือนที่มีวันสำคัญวันหนึ่งซึ่งคนไทยควรจดจำและภาคภูมิใจ นั่นคือ วันภาษาไทย ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี

รื่อง : วิรงรอง พรมมี

ภาพ : พันธ์พันธ์ พวงพิลา



          บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและปัญหาในการใช้ภาษาไทย รวมถึงบทบาทสื่อมวลชนกับการใช้ภาษาไทยด้วย จึงได้จัดโครงการดีดีที่มีชื่อว่า “นิสิต-นักศึกษา รู้รักษ์ภาษาไทยกับ อสมท” ขึ้นเมื่อวันอังคารที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่๓ แล้ว งานนี้มีนิสิต-นักศึกษาเข้าร่วมถึง ๒๐ สถาบันจากทั่วประเทศ หรือ ๑๙๔ คน วิทยากรที่มาให้ความรู้แต่ละท่านล้วนเป็นผู้มีความชำนาญด้านการใช้ภาษาไทยทั้งสิ้น


ช่วงเช้าจะเป็นการบรรยายโดย รศ.สุนีย์ สินธุเดชะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต อาจารย์เริ่มการบรรยายจากการใช้ภาษาให้ถูกกาลเทศะ อ.ใช้คำว่า กราบประทานอภัย กับผู้ใหญ่ของช่องที่ร่วมฟังการบรรยายอยู่ที่นั้นด้วย เนื่องจากอ.จะขอใช้คำพูดที่ไม่ไพเราะ อ.อธิบายต่อว่าสมองมนุษย์มีสองซีกคือซ้ายและขวา สมองซีกซ้ายจะให้ความถนัดด้านศาสตร์ ส่วนซีกขวาจะให้ความถนัดด้านศิลป์  ซึ่งสมองทั้งสองซีกจะสื่อสารและแสดงออกเป็น “ภาษา”  คำว่า ภาษา มาจากคำสันสกฤต คำว่าภาษา ซึ่งแปลว่า เข้าใจ ดังนั้นหากถูกใครดุว่าไม่รู้ภาษา ย่อมแปลว่า ไม่เข้าใจ ใช้ไม่ได้ นั่นเอง เคยมีคำถามว่าเหตุใดภาษาจึงสำคัญต่อชีวิตและประเทศชาติ ก็คงต้องตอบว่าเพราะภาษาแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติและยังถือเป็นวัฒนธรรมประจำชาติอีกด้วย ซึ่งจะสลายไปไม่ได้เพราะนี่คือมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “สิ้นภาษา ก็สิ้นชาติ” บรรพบุรุษของเรามีความฉลาดและอาจหาญยิ่งนักจะเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่๒ ที่ไทยจับมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นรบกับอังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศสซึ่งเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามไทยก็ย้ายข้างมาอยู่กับอังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส เพื่อรักษาเอกราชชาติไทยไว้ เหตุการณ์นี้อาจทำให้หลายประเทศมองไทยไม่ค่อยดีนักแต่นั่นคือการรักษาชาติที่ดีที่สุด มิเช่นนั้นคงตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกไปแล้ว ลักษณะเด่นของภาษาไทยคือ๑.คำคำเดียวมีเสียงหนักเบาและสามารถนำมาสร้างเป็นวรรณกรรม ๒.ความมีเสียงเสนาะในภาษา คือเสียงวรรณยุกต์ ๓.คำเป็นคำตายทำให้เกิดการหยุดเสียงในตัวเอง ๔.ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์  อัตลักษณ์ และอัจฉริยะลักษณ์ที่งดงาม ๕.ผลของการอนุรักษ์ภาษาเป็นวรรณศิลป์ทำให้เรามีสมบัติและมรดกทางปัญญาของบรรพชน ๖.ภาษามีผลต่อบุคลิกของผู้เป็นเจ้าของภาษา กิริยามารยาทไทย ๗.เสน่ห์ของภาษาไทยคือมีคำสุภาษิต สำนวน คำคม     คำอุปมาอุปไมย เป็นต้น เมื่อเกิดเป็นคนไทยแล้วจึงควรภาคภูมิใจในความเป็นไทย หลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้รับการยกย่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อบันทึกความจำของโลก เดิมคำว่า ประเทศไทยไม่มี ย เพราะ ไท คำนี้แปลว่าอิสระเสรี แต่ต่อมาเห็นว่าไม่สวยงามจึงเติม ย ลงไปและกลายเป็นไทย เรื่องต่อมาภาษาซ่อนความหมายอะไรหลายๆอย่างเช่น สุภาษิตสอนหญิงที่ฟังไพเราะและแฝงแง่มุม เช่น การรักนวลสงวนตัวด้วย โบราณสอนว่า“แม้จะรักรักไว้ในอารมณ์ อย่ารักชมเกินหน้าเป็นราคี” ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงอาจสรุปได้ว่าเอกราชของชาติอยู่ที่ภาษา เพราะฉะนั้นคนไทยทุกคนจึงควรรักษาภาษาของชาติ เพราะถ้าสิ้นภาษาก็สิ้นชาติ


           วิทยากรคนต่อมาคือคุณพัชรินทร์ เศวตสุทธิพันธ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าวราชสำนัก อธิบายว่า ปัจจุบันการใช้ภาษาไทยกับสื่อมวลชนควรเลือกใช้คำให้ดี เพราะภาษาในข่าวต้องสั้น กระชับ และได้ใจความ หากเลือกใช้คำไม่ดีพอประโยคนั้นก็อาจมีความหมายผิดเพี้ยนตามไปด้วย การใช้คำราชาศัพท์กับการทำข่าวพระราชสำนักเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะต้องระวังการใช้ไม่ให้ผิดพลาด คำที่มักใช้ผิดคือ องค์ประธาน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ต้องเป็นคำว่าประธาน และต้องอ่านออกเสียง ร ล ให้ชัดเจน คุณสมบัติของผู้ประกาศได้แก่ ๑.อ่านหนังสือแตกฉาน อ่านได้รวดเร็ว จับใจความได้ มีไหวพริบปฏิภาณ เมื่อพบว่าผู้พิมพ์ พิมพ์ผิดพลาด ๒.สามารถแก้ไขคำผิดให้ถูกได้ทันที ๓.เลือกใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะ ๔.ออกเสียงภาษาไทยให้ชัดเจน  ๕.รับฟังการตักเตือนเมื่ออ่านผิด เหตุผลที่เลือกวันที่ ๒๙ ก.ค. เป็นวันภาษาไทยเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๙ ก.ค. ๒๕๐๒พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานวันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งท่านมีอัจฉริยภาพในทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งเรื่องปัญหาการใช้ภาษาไทย วันนี้จึงได้รับการขนานนามว่า ‘วันภาษาไทย’


สำหรับช่วงบ่ายเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ ‘บทบาทสื่อมวลชนกับการใช้ภาษาไทย’ โดยคุณเกวลิน กังวานธนวัต,คุณโสภณ นวรัตนาพงษ์ ผู้ประกาศข่าว อสมท และ      คุณเขมิอร วงส์ดีลาภ ผู้สื่อข่าว อสมท เริ่มบรรยายที่ความแตกต่างของสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต จุดเด่นของงานโทรทัศน์คือภาพและเสียงซึ่งสื่อต่อผู้รับสารได้ดีกว่าสื่อประเภทอื่นๆ แต่หากเป็นการถ่ายทอดสดข่าวที่จะออกไปสู่ผู้ชมจะต้องผ่าน ผู้สื่อข่าวไปยังกระบวนการเรียบเรียง/ตัดต่อ แล้วจึงไปยังผู้ประกาศข่าว สุดท้ายคือส่งไปยังผู้ชม หากใครสนใจที่จะทำงานในสายงานข่าว คงต้องถามก่อนว่า สนใจข่าวอะไร เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม พระราชสำนัก สิ่งแวดล้อม กีฬา  การเกษตร บันเทิง เป็นต้น  ต้องตอบตัวเองให้ได้ ทักษะของผู้สื่อข่าวที่สำคัญ ได้แก่ ๑.ความรู้ ความเข้าใจในข่าว ๒.การคิดวิเคราะห์ เรียบเรียงความคิด ๓.การจับประเด็น ๔. การสัมภาษณ์ ๕.การเขียนข่าว (ทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน ต้องแตกฉาน) ๖.เทคโนโลยี ๗.ความรับผิดชอบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าภาษาข่าวเป็นภาษาที่ชัด ตรง ไม่เยิ่นเย้อและควรเลือกใช้คำให้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น คำว่าบอกว่า อ้างว่า กล่าวว่า อธิบายว่า ยอมรับว่า แถลงว่า อาจฟังดูมีความหมายคล้ายคลึงกัน แต่ความจริงแล้วใช้ในโอกาสที่แตกต่างกัน หลังจากให้ความรู้จบแล้ว ต่อมาเป็นการปฏิบัติการข่าวหรือเวิร์คช็อป โดยพี่ๆทั้งสามคน ให้น้องๆได้เขียนข่าวจากภาพที่กำหนดให้แล้วพี่ๆเขาก็แสดงความคิดเห็นต่องานชิ้นนั้นๆ  นอกจากนี้ทักษะของผู้ประกาศข่าวยังได้แก่ ๑.เข้าใจเรื่องที่อ่าน ๒.สมาธิ ๓.อ่านถูกอักขรวิธี ๔.ถ่ายทอดอารมณ์ได้ ๕.ความมั่นใจ ๖.แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เคล็ดลับการเป็นผู้ประกาศมืออาชีพคือการสั่งสมประสบการณ์ การเก็บข้อมูล หมั่นทำการบ้านและทำความเข้าใจกับข่าวที่อ่าน สุดท้ายเป็นกิจกรรมการปฏิบัติการประกาศข่าวโดยตัวแทนจากหลายสถาบัน ข่าวที่ให้ทดลองอ่านก็มีทั้งข่าวสังคม ข่าวพระราชสำนักและข่าวเศรษฐกิจ นักศึกษาที่เข้าร่วมทุกคนมีอาการตื่นเต้นและเกร็งอย่างชัดเจน  พี่ๆบอกว่า ครั้งแรกน้องๆทำได้แค่นี้ก็ถือว่าใช้ได้ในระดับหนึ่งแล้ว การเป็นผู้ประกาศข่าวต้องอาศัยการฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์ ดังนั้นเมื่อภาษาไทยเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย เราคนไทยจึงควรใช้ให้ถูกต้องและรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลัง  ในช่วงสุดท้ายก่อนหมดเวลา พี่ๆอนุญาตให้น้องๆถามเรื่องที่อยากรู้หรือข้องใจในการบรรยายครั้งนี้ ปรากฏว่าถามตอบกันอย่างครึกครื้น


              การอบรมด่านสุดท้ายของวันนี้คือ การใช้ภาษาไทยกับรายการวิทยุ ช่วงแรกเป็นการฉายวีดีทัศน์ประวัติของวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย วิวัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบัน  ต่อมาเป็นการแนะนำผู้ประกาศคลื่นต่างๆของ อสมท พร้อมกับเคล็ดลับการใช้ภาษาไทยที่ดี ดีเจกบ จาก 95.00 ลูกทุ่งมหานคร    บอกว่า “การที่พี่พูดชัดเป็นเพราะติดมาจากการอัดรายการวิทยุและชอบอ่านป้ายโฆษณาตามทางแบบอัดสปอต ซึ่งถือเป็นการซ้อมทุกวัน” ดีเจต๊ะ จาก Seed97.50 บอกว่า “ถ้าอยากเป็นดีเจย่อมฝึกฝนได้ อะไรที่ทำได้ไม่ดี ย่อมฝึกฝนให้ดีได้” ดีเจแก้ว จากMet 107 บอกว่า “แก้วเป็นลูกครึ่ง แก้วจะติดพูดไทยคำอังกฤษคำ แต่ตอนนี้ไม่เป็นแล้วเพราะฝึกฝนการพูดให้ชัด เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชน” สุดท้ายจาก 99.00 คลื่นเมืองไทยแข็งแรง โดยดีเจธรและดีเจชิต ดีเจธร บอกว่าผมมีปัญหาในการอ่านออกเสียง ร ล ไม่ชัดเจนเพราะผมลิ้นไก่สั้น ซึ่งผมการหมั่นฝึกอ่านหนังสือที่มี ร ล  เยอะๆ เพื่อเป็นการฝึกฝน ตอนนี้ทำได้แล้ว ด้านดีเจชิต บอกว่าปัญหาของตนคือพูดไม่ค่อยรู้เรื่องชอบรวบคำ พรสวรรค์เป็นเพียงบางส่วนของการใช้เสียงทำมาหากินแต่การมีพรแสวงย่อมดีกว่า ทุกคนสามารถฝึกฝนได้ กิจกรรมต่อมาเป็นการบริหารอวัยวะด้วยการหัวเราะ โดยพี่หนูนา ดีเจคลื่น 99.00 คลื่นเมืองไทยแข็งแรง  น้องๆนักศึกษาทุกคนสนุกไปกับพี่หนูนา งานวิทยุกระจายเสียงจำเป็นต้องออกเสียงให้ชัดเจนเพราะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ฟังในการใช้ภาษาไทยต่อไป ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ความตอนหนึ่งว่า  “…ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เอง เป็นสิ่งอันเป็นประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่า ตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกัน เพื่อความวัฒนาของประเทศชาติ…”

           สำหรับผู้สนใจท่านใดที่พลาดกิจกรรมดีดี จาก อสมท ในปีนี้ ก็ขอให้ติดตามข่าวสาร กิจกรรมต่างๆของ อสมท ได้ทาง  www.mcot.net ค่ะ

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.