‘ดอกโปรยตกพรู’เรือโทชัยสิทธิ์ เตชะสว่างวงศ์ ลูกประดู่กลาง’ไฟใต้’
“มึงจะไปใต้ทำไม?”
“กูอยากไปช่วยคน ที่นั่นมีระเบิดทุกวัน”
เป็นข้อความบางส่วนที่ปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กนี่ของ “เน็ต” หรือ เรือโทชัยสิทธิ์ เตชะสว่างวงศ์ นายทหารหนุ่มจากรั้วสามสมอ วัยเพียง 26 ปี ซึ่งพลีชีพไปในเหตุการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2556 หลังการทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายในชีวิตด้วยการเก็บกู้ระเบิดที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบวางไว้ริมถนนบริเวณสะพานบ้านจำปากอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ระเบิดแสวงเครื่องที่ดัดแปลงจากถังแก๊สน้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม ซึ่ง เรือโทชัยสิทธิ์ หัวหน้าชุดเก็บกู้ระเบิดที่ 1 หมวดทำลายวัตถุระเบิดและหัวหน้าทีมเก็บกู้ระเบิดอีโอดี หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 นำกลับไปตรวจสอบพิสูจน์ทราบที่ฐานปฏิบัติการจะแผดเสียงกัมปนาทขึ้นมาได้ ทั้งที่มีการตัดวงจรตามขั้นตอนไปแล้ว
อานุภาพของอาวุธสังหารลูกนั้น ทำให้เรือโทชัยสิทธิ์ กับลูกทีมอีก 2 นายคือ พันจ่าเอกทัศนัย ชมพูทวี และจ่าเอกเรวัตร คงนาค ต้องเสียชีวิต อีกทั้งยังมีผู้บาดเจ็บอีก 6 ราย ในจำนวนนี้ต้องสูญเสียดวงตา และขาขาดถึง 2 ราย
เรือโทชัยสิทธิ์ เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 45 นักเรียนนายเรือ รุ่น 102 คงจะมีเส้นทางการรับราชการที่ยาวไกลกว่านี้ หากเขาจะไม่ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตของตนเองจากลูกประดู่ที่ปฏิบัติงานบนเรือรบ ไปเป็นนักประดาน้ำและเก็บกู้ระเบิด หรือ “อีโอดี” แห่งหน่วยถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ เพื่อปฏิบัติงานตามอุดมการณ์อันแรงกล้า
หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือเข้ารับพระราชทานกระบี่ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 เรือโทชัยสิทธิ์ถูกส่งไปประจำการบนเรือหลวงเจ้าพระยา ในตำแหน่ง “นายทหารอาวุธปล่อย นำวิถี” ซึ่งเป็นเขี้ยวเล็บหลักของเรือรบลำนี้แต่ไฟใต้ที่ลุกโชนแผ่นดินด้ามขวานทำให้นายทหารหนุ่มผู้ได้รับการหล่อหลอมเลือดเนื้อและจิตวิญญาณให้สำนึกในหน้าที่ปกป้องชาติดูแลประชาชนตั้งแต่สมัยที่เป็นนักเรียนเตรียมทหารและนักเรียนนายเรือ ทำให้ เรือโทชัยสิทธิ์ตัดสินใจสมัครเข้ารับการฝึกเป็น “อีโอดี” ของกรมสรรพาวุธทหารเรือ
“ตอนที่ย้ายขึ้นมาจากเรือ เขาบอกแม่ว่า เน็ตจะไปเรียนประดาน้ำ ไม่ยอมบอกว่าจะไปเรียนเป็นคนกู้ระเบิด แม่มารู้ทีหลังก็ใจเสีย กลัว ตั้งแต่แรก แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงและยิ่งกลัวมากขึ้น เมื่อรู้ว่าเน็ตจะลงใต้”
อำไพ เครื่องถมยา ผู้เป็นมารดาของเรือโทชัยสิทธิ์ รำลึกถึงลูกชายผู้จากไปอย่างกะทันหันเธอบอกว่า ลูกชายเป็นเด็กดี มีมานะอดทน พ่อของเขาชื่อ ประเวศ เสียชีวิตไปเมื่อปี 2545 ซึ่งตอนนั้นลูกกำลังจะสอบเข้าเตรียมทหาร บ้านเรามีเชื้อสายจีนอยู่กันหลายคน เวลากลับมาบ้าน ลูกจะดูแลอาม่า อากง ญาติผู้ใหญ่ทุกๆ คนอย่างดี ไปไหนเขาจะคอยเข็นรถให้ แม่ยังจำวันที่น้องชายไปเยี่ยมที่โรงเรียนเตรียมทหาร ตอนเป็นนักเรียนใหม่ได้ไม่ลืม ลูกเอาพวงมาลัยมากราบเท้า แม่ปลื้มใจ น้ำตาไหล ทั้งที่ไม่เคยอยากให้ลูกเป็นทหาร แต่ในเมื่อเป็นความฝันของลูก แม่ก็ยอม
นี่คือหัวอกของคนเป็นแม่ก่อนลงใต้ เรือโทชัยสิทธิ์เองก็รู้ว่ามารดากังวลและหวาดหวั่น เขาจึงพยายามย้ำอยู่เสมอว่า ไม่ต้องห่วง ไม่มีอะไรน่ากลัว และให้คำมั่นว่า “เน็ตจะระวังตัว” แต่นายทหารหนุ่มก็ไม่อาจฝืนชะตาของตนเองได้ “ตอนที่รู้ว่า เน็ตโดนระเบิดเสียชีวิต หัวใจของแม่เหมือนถูกฉีกเป็นชิ้นๆ เฝ้าแต่ถามตัวเองว่าทำไมต้องเป็นลูกเรา ทำไมวันเวลาของเน็ต จึงสั้นนัก” นางอำไพซึ่งหาเลี้ยงชีวิตและครอบครัวที่มีลูกชาย 2 คน ด้วยการจำหน่ายเครื่องใช้สำนักงานเล่าทั้งน้ำตา ผู้เป็นแม่บอกว่า ตอนที่นั่งรถไปรับร่างของลูกที่สัตหีบ เราจะมองเห็นคนที่แต่งชุดทหารเรือเป็นลูกเราไปหมด เพราะลูกเคยพาแม่มาที่นี่ บอกว่าสัตหีบเป็นเมืองทหารเรือ อยากให้แม่รู้จัก เคยชี้ให้ดูว่าเรือที่ทำงานคือลำไหน แต่จากนี้ไป แม่คงจะไม่ได้มาที่เมืองทหารเรือแห่งนี้อีกแล้ว
อีกคนหนึ่งที่หัวใจสลายไม่แพ้กัน คือ “เมย์”หรือ กชมน เตชะสว่างวงศ์ พนักงานบริษัทหนึ่งในอมตะนคร คู่ชีวิตของเรือโทชัยสิทธิ์ ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัวได้เพียง 5 เดือนเศษๆ
กชมนยังคงอยู่ในอาการโศกเศร้า สีหน้าแววตาท่วมท้นไปด้วยความรวดร้าวจากความสูญเสียที่บังเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว “วันที่ 30 เมษายน ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของเน็ตพอดี จากที่เคยคิดว่า จะส่งรูปดอกไม้เบิร์ธเดย์ไปให้เขาทางไลน์กับเฟซบุ๊ก กลายเป็นว่าเราต้องมาวางดอกไม้จันทน์ให้เขา ไม่คิดเลยว่าชีวิตจะเจออะไรที่โหดร้ายต่อความรู้สึกถึงเพียงนี้” กชมนกล่าว เธอบอกว่า ตอนที่เราแต่งงานกัน เขาบอกว่าจะยังไม่มีลูกจนกว่าเราจะเป็นครอบครัวจริงๆ ได้อยู่ด้วยกันทุกวัน เพราะเขาไม่ต้องการให้เลี้ยงลูกคนเดียว แต่สิ่งที่คิดกันไว้ก็คงจะเป็นแค่ฝันที่ไม่มีวันเป็นไปได้อีกแล้ว
“เรื่องที่เน็ตสมัครไปเรียนกู้ระเบิดเพื่อจะลงใต้ รู้มาตลอด แต่ก็พูดไม่ออก ถามว่ากลัวมั๊ย เรากลัวเพราะมีข่าวระเบิดเกือบทุกวัน สิ่งที่ทำได้ก็คือ ภาวนาขอให้เน็ตปลอดภัย แต่มันก็ไม่เป็นแบบนั้น” กชมนกล่าวทั้งน้ำตา ชีวิตที่เหลืออยู่ของกชมนและนางอำไพก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของครอบครัวทหารกล้าอีกหลายครอบครัว ที่ต้องสูญเสียผู้เป็นพ่อ สามี ลูกชาย จากการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่ว่าวันเวลาที่เหลือ
อยู่ตลอดเส้นทางข้างหน้าจะยากลำบาก ว้าเหว่ โดดเดี่ยวเพียงใด แต่ทุกคนก็จะต้องก้าวเดินต่อไป การอุทิศชีวิตและเลือดเนื้อเป็นชาติพลีของกำลังพลเหล่านี้ นับเป็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่สมควรได้รับการตอบแทน
พลเรือเอก สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ จึงจัดตั้ง “กองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่รับผิดชอบกองทัพเรือ” โดยมอบให้ พลเรือเอก จักรชัย ภู่เจริญยศ เสนาธิการทหารเรือ เป็นประธานบริหารกองทุน โดยครอบครัวของเรือโทชัยสิทธิ์ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าว นอกเหนือจากสิทธิที่ได้จากทางราชการ เช่นเดียวกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจนพิการทุพพลภาพรายอื่นๆ
ทั้งนี้ผู้ที่อยู่แนวหลังและมีจิตศรัทธาสามารถบริจาคเงินสมทบกองทุนนี้ได้ที่ ธนาคารทหารไทย ชื่อบัญชี “กองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่รับผิดชอบกองทัพเรือ” หมายเลขบัญชี 115-2-17087-2 หรือสอบถามรายละเอียดที่ทางโทรศัพท์ 0-2475-3031
เรื่องราวของเรือโทชัยสิทธิ์ ซึ่งได้รับการเลื่อนยศเป็น “นาวาเอก” หลังเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่เด็กหนุ่มจากทั่วทุกสารทิศที่ใฝ่ฝันถึงเครื่องแบบทหารเรือ
ซึ่งเมื่อก้าวไปถึงปลายทางอันงดงาม แน่นอนว่า ทุกคนย่อมเปี่ยมไปด้วยความสุขและความภาคภูมิใจ แต่ความรู้สึกนั้นจะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น เมื่อพวกเขาจะได้ประจักษ์ในเวลาต่อมาว่า ความสำเร็จที่ได้รับ ไม่ใช่เพื่อตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังเพื่อผู้คนอีกมากมายที่อยู่ร่วมผืนแผ่นดินเดียวกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2556 หน้า 21