โลกอันรื่นรมย์ของ ‘หญิงพิการ’
“เกิดเป็นผู้หญิง การพูดเรื่องเพศก็ยากแล้ว ยิ่งเป็นผู้หญิงพิการการจะพูดเรื่องเพศก็ยิ่งยากมากขึ้นไปอีก สังคมจะประณามว่าไม่เจียมตัว ผู้หญิงพิการถูกควบคุมเรื่องเพศเกือบทุกด้าน ห้ามไม่ให้มีความรัก ไม่ให้มีความรู้สึก และความต้องการทางเพศ”
เป็นความรู้สึกอัดอั้นตันใจของผู้หญิงพิการรายหนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ที่ได้ยินไปตามๆ กัน
สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจความพิการ ปี 2550 พบว่าประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 1.9 ล้านคนหรือ 2.9% และเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แทบทั้งหมดใช้ชีวิตในสังคมอย่างยากลำบากเพราะถูกเลือกปฏิบัติ ถูกล่วงเกินทางเพศและละเมิดสิทธิ น้อยรายนักที่จะลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองได้ เพราะขาดความรู้ทางด้านกฎหมาย
ผู้หญิงที่ถูกเปรียบดั่งดอกไม้อันสดใสสวยงาม แต่เมื่อเติมคำว่า “พิการ” ต่อท้าย ก็กลับกลายเป็นเพียงแค่ดอกไม้แห้งเหี่ยวเฉา แต่ในท่ามกลางความมืดมิด ความดีงามยังคงส่องแสง…
“ผู้หญิงพิการ : แรงบันดาลใจ ความงามและคุณค่า” นิทรรศการภาพถ่ายขาวดำจำนวน 50 ภาพ สะท้อนเรื่องราวชีวิตและการทำงานของผู้หญิงพิการจำนวน 25 คนหลากหลายอาชีพและความพิการ เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงแง่มุมที่มักไม่ถูกพูดถึงในสังคมไทยของผู้หญิงพิการ ในฐานะของการเป็นแรงผลักดันผู้สร้างและผู้ให้ ผ่านมุมมองของ อภิลักษณ์ พวงแก้ว ช่างภาพอิสระฝีมือดีที่ทำงานด้านสังคมมาอย่างสม่ำเสมอ
ทุกภาพล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความงดงามทรงคุณค่าในศักดิ์ศรีและจิตวิญญาณของผู้หญิงพิการ ที่แม้พิการทั้งทางร่างกายแต่ทว่าจิตใจยังคงแข็งแกร่ง ยังมีความรักความหวัง ความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ชุมชนและสังคมที่พวกเธออาศัยอยู่
“ผู้หญิงพิการก็อยากมีความสุขเหมือนคนทั่วไปครับ” โจ้-อภิลักษณ์ พวงแก้ว ช่างภาพหนุ่มฝีมือดี เจ้าของผลงาน รำพึงเบาๆแต่มากล้นด้วยความหมายแฝงเร้น
“ไม่มีใครสนใจผู้หญิงพิการ ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้อยู่รอบตัวเราไปหมด ในสายตาของคนทั่วไปมักมองว่าผู้หญิงเป็นตัวแทนของความสวยงาม ความสดใสมีชีวิตชีวา แต่พอเติมคำว่า พิการ ต่อท้าย ภาพดีๆ เหล่านี้เลือนหายไปหมด แทนที่ด้วยความหดหู่ เศร้าหมอง และไร้รัก สังคมยังมีอคติต่อผู้หญิงพิการ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่ไม่สวยงาม ไม่มีคุณค่า”
“ผมว่าการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อความพิการและสิทธิทางเพศของคนเหล่านี้ จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้หญิงพิการมีความมั่นใจ มีความสามารถในการใช้ชีวิตเช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วไป” เขาอธิบายด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ผู้หญิงพิการที่มาร่วมในนิทรรศการภาพถ่ายขาวดำทั้ง 50 ภาพ มีทั้งพิการทางร่างกาย ทางการมองเห็น และทางการได้ยินและมาจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะนักธุรกิจ นักจัดรายการวิทยุ ครูสอนโรงเรียนตาบอด หมอนวดแผนไทย แม่บ้าน นักข่าวนักเขียน นักดนตรี นักกีฬา เจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา ทุกคนต่างใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปอย่างเป็นปกติสุข
“ยามทำงานถ่ายภาพชุดนี้ ทุกครั้งเวลากดชัตเตอร์ สิ่งที่ผมเห็นไม่ใช่ผู้หญิงพิการที่จิตใจหดหู่ ใบหน้าโศกเศร้า หรือเต็มไปด้วยความทุกข์แต่อย่างใด พวกเขาก็เป็นเหมือนผู้หญิงทั่วไปที่ดูมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้บรรยากาศมีชีวิตชีวา พลันทำให้รู้สึกถึงความรักความอบอุ่น ความหวัง และพลังใจแผ่ซ่านมายังตัวผมด้วยครับ”
เจ้าของผลงานบอกอย่างตื้นตันว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็มในการบันทึกภาพครั้งนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งตั้งแต่ทำหน้าที่ช่างภาพมานานนับสิบปี ภาพทุกภาพไม่มีการเซตอัพ ทุกกิริยาทุกท่วงท่าการกระทำ ล้วนเป็นไปตามธรรมชาติโดยแท้จริง
“ผมอยากให้สังคมมองผู้หญิงพิการเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ยังคงมีความสวยงามน่ารักสดใสเบิกบานเหมือนกัน แม้ร่างกายพวกเธอจะไม่สมบูรณ์ แต่เธอก็ยังสามารถมีความรักต่อผู้อื่น มีความตั้งใจในการทำให้สังคมรอบข้างดีงาม และยังสามารถเป็นแม่ของลูกได้ด้วยเช่นกัน ความคิดเช่นนี้จะเปิดโอกาสของผู้หญิงพิการให้มีชีวิตปกติธรรมดาเหมือนกับคนอื่นๆ”
แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายขาวดำทั้ง 50 ภาพนี้ น่าจะส่งต่อพลังแห่งความดีงาม ความหวังในการที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไปยังคนอื่นๆ และยังทำให้ผู้ชมได้รับรู้ว่าในอีกมุมหนึ่งที่น้อยคนนักที่จะสนใจใคร่ครวญนั้น
โลกของ “ผู้หญิงพิการ” ก็สดชื่นรื่นรมย์เหมือนกัน
นิทรรศการภาพถ่าย “ผู้หญิงพิการ:แรงบันดาลใจ ความงามและคุณค่า” ผลงานของอภิลักษณ์ พวงแก้ว กำลังจัดแสดงอยู่ ณ โถงชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 27 มิ.ย. 2553–จบ–
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์