Select Page

5 วิธีสวย (แต่) เสี่ยงมะเร็ง

5 วิธีสวย (แต่) เสี่ยงมะเร็ง

เมื่อเดือนที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้ผู้หญิงหันมาตระหนักหรือให้ความสำคัญกับ “มะเร็งเต้านม” เนื่องจากเป็นเดือนแห่งการ “รณรงค์เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านมโลก” ซึ่งเราๆ ท่านๆ ก็คงรู้กันดีว่ามะเร็งเต้านมนั้นพบมากเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทยในวันนี้ ส่วนผู้หญิงทั่วโลกพบว่าในทุกๆ ปีจะมีอุบัติการณ์มะเร็งเต้านมราว 1.5 ล้านคน 
และไม่เฉพาะมะเร็งเต้านมเท่านั้น ที่ถือเป็นมฤตยูร้าย แต่ในบรรดาโรคต่างๆ คนไทยกลัวการเป็นมะเร็งมากที่สุด เพราะจากผลวิจัยเรื่อง สังเคราะห์งานวิจัยสู่ข้อเสนอโมเดลลดปัจจัยเสี่ยงจากวิถีอาหารปลอดภัย โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า โรคร้ายแรงที่คนไทยกลัว อันดับ 1 ร้อยละ 71.9 คือ โรคมะเร็ง

แนวทางสำคัญที่จะสู้กับโรคนี้ได้ จึงอยู่ที่การเลือก ตั้งแต่เลือกกิน เลือกอยู่ เลือกพักผ่อน – ออกกำลังกาย รวมทั้งต้องเลือกตรวจคัดกรองมะเร็ง เมื่ออายุเข้าเลข 4 โดยเฉพาะคนที่มีญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคนี้

เมื่อพูดถึงมะเร็ง นอกจากจะต้องระมัดระวังภัยจากสิ่งที่เรากล่าวไปข้างต้นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องความสวยความงาม ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้เช่นกัน ฉบับนี้เราไปดู 5 วิธีสวย (แต่) เสี่ยงมะเร็ง ซึ่งคุณอาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่เคย เสี่ยงต่อวิธีการเหล่านี้แล้วก็ได้

1) กลูต้าไธโอน เห็นใครๆ ก็อยากขาวใสไร้ที่มติ คนผิวเข้มจำนวนไม่น้อยจึงเลือกทางลัดด้วยการฉีดกลูต้าไธโอนเพื่อเร่งผลัดผิวให้กระจ่างใส ไวเหมือนโกหก แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากความขาวจะไม่คงทนถาวรแล้ว แล้วยังเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังอีกด้วย เพราะอย่าลืมว่า คุณไม่ได้ขาวแบบธรรมชาติภูมิต้านทานผิวจึงไม่มี เมื่อสารชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เม็ดสีผิวลดลง ดูขาวขึ้น เมื่อเจอกับแสงแดดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองแพ้แสงแดด และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ โดยเฉพาะคนที่ฉีดสารในปริมาณมากและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อมะเร็งตับและการทำงานของไต ซึ่งรวมไปถึงกลูต้าไธโอนชนิดที่รับประทานติดต่อกันไปนานๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของตับ รวมทั้งโรคต้อได้เช่นกัน

 

2) เปลี่ยนสีผมบ่อยๆ มีการวิจัยอย่างต่อเนื่องถึงฤทธิ์ของสีย้อมผม ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่เรียกตัวเองว่าอินเทรนด์สุดๆ จะสีไหนแบบไหนขอให้ได้เปลี่ยน (สี) หากเปลี่ยนมากกว่า 9 ครั้ง /ปี มีสิทธิ์เสี่ยงต่อโรคลูคีเมีย หรือมะเร็งในเม็ดเลือด โรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง รวมทั้ง โรคเนื้องอกในสมอง ได้ง่ายกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 60 ผลวิจัยยังบอกอีกว่า ผู้หญิงที่ใช้น้ำยาปกปิดสีผมขาวชนิดสีดำจะมีโอกาสที่มะเร็งจะพัฒนาไปเป็นเนื้องอกในสมอง และมะเร็งในเม็ดเลือดชนิดที่ไม่ลุกลามได้ง่ายขึ้นกว่าถึงร้อยละ 50 คนที่เปลี่ยนสีผมหลากสีสันไปมาอยู่เรื่อยๆ จะมีความเสี่ยงสูงกว่าถึงร้อยละ 70

 

 

3) ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาว นอกจากกลูต้าไธโอนที่เน้นฉีดเข้าร่างกายแล้ว สารพัดครีมเพื่อผิว – หน้า ขาว ก็เป็นอีกตัวการหนึ่งที่ทำให้เราเสี่ยงมะเร็งผิวหนังได้ ตัวอย่างที่ได้ยินกันอย่างครึกโครมก็คือ การใช้ “ครีมกัดผิว” เปลี่ยนสีผิวให้ขาวใสทันใจสไตล์เกาหลี ซึ่งหากใช้บ่อยจะอันตราย เพราะทำให้ผิวบาง ผิวแพ้สารเคมีง่ายขึ้น เพราะมีฤทธิ์กัดกร่อนระคายเคืองสูง อาจทำให้เกิดระคายเคือง แสบ คัน เป็นผื่น และเกิดริ้วรอยได้ง่ายขึ้นเช่นกัน หากใช้ต่อไปเรื่อยๆ ผิวจะไม่ทนต่อแสงแดด ทำให้อนาคตเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง รวมทั้งเนื้องอก จากสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ผสมอยู่ในครีม

4) ยาสิว ยาที่คุณทานเพื่อรักษาสิวส่วนใหญ่ คือยากลุ่มกรดวิตามินเอ เป็นยาที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ทาน ยาตัวนี้ต้องทานต่อเนื่องกันนานเพื่อให้ได้ขนาดยาที่เหมาะสมต่อการรักษา อย่างไรก็ตาม ยาตัวนี้ทำให้ริมฝีปากแห้ง ตาแห้ง ผิวแห้ง บางคนอาจมีเลือดกำเดาไหล หรือคนไข้บางรายอาจทำให้ตับอักเสบได้ และอาจทำให้มีไขมันในเลือดสูง จากการศึกษาพบว่า ยากลุ่มนี้ หลายตัวมีผลเสียต่อตับ จึงต้องควรระมัดระวังไม่ใช้ยาเหล่านี้โดยไม่จำเป็น ต้องให้แพทย์สั่ง หรือต้องคอยตรวจการเปลี่ยนแปลงทางห้องปฏิบัติการของตับอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นอาจเข้าทำนอง “สิวหายแต่ตับไตพัง”

 

5) ฟิลเลอร์ปลอม กรณีของการฉีดฟิลเลอร์ขนาดของแท้แกะกล่องยังมีความเสี่ยง ยิ่งถ้าเป็นฟิลเลอร์ของปลอมราคาถูกที่ประกาศขายทางเว็บไซต์ นอกจากจะเสี่ยงต่อร่างกาย (หากไม่เป็นอะไร) แล้ว ในระยะยาว คุณอาจเสี่ยงมะเร็งได้ไม่ยาก เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าฟิลเลอร์ปลอมที่ฉีดเข้าไปจะไปทำปฏิกิริยาอย่างไรกับอวัยวะของเรา ตัวอย่างที่มีให้เห็นกรณีพริตตี้สาวที่สังเวยชีวิตด้วยการฉีดคลอลาเจนปลอมด้วย สารโพลีอะคริลาไมด์ ซึ่งเป็นสารที่ไม่สลายตัว ให้ผลคล้ายซิลิโคน ถ้าหากไม่เป็นอะไรในระยะยาวก็เสี่ยงมะเร็งอยู่ดี

 

ที่มา : คอลัมน์ รู้ทันโรคมะเร็ง (หน้าพิเศษ Hospital Healthcare ) หนังสือพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2555 หน้า 7

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.