Select Page

เล่าเรื่อง (จริง) ผู้บริโภค ผ่านหนังสั้น

เล่าเรื่อง (จริง) ผู้บริโภค ผ่านหนังสั้น

ขึ้นชื่อว่าผู้บริโภคเราทุกคนก็ล้วนแต่ประสบปัญหาต่างๆ มากหรือน้อยแตกต่างกันออกไป  มีตั้งแต่เรื่องเจอของหมดอายุในร้านราคาไม่กี่สิบบาท  ราคาของค่าทางด่วนที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงถูกโกงสัญญามูลค่าหลายสิบล้านจากการซื้อบ้านจัดสรร พูดง่ายๆ ว่าเรื่องปัญหาผู้บริโภคนั่นเป็นปัญหาครอบจักรวาล หลายปัญหาไม่เพียงแค่ต้องเสียเงิน เสียเวลา หรือเสียความรู้สึก แต่หลายครั้งความสูญเสียก็ยิ่งใหญ่เกินจะหาสิ่งใดมาทดแทน

          ภาพยนตร์สั้นที่เข้าร่วมในโครงการ “หนังสั้นเล่าเรื่องผู้บริโภค” ประกอบด้วย หนังสั้น สารคดี 6 เรื่อง และ อีก 1 เรื่องพิเศษ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานที่ถูกเขียนบท กำกับ และถ่ายทำขึ้นใหม่ เพื่อนำเสนอในโครงการนี้โดยเฉพาะ  เรื่องราวที่ผู้กำกับแต่ละคนเลือกนำมาบอกเล่าในผลงานภาพยนตร์สั้นแต่ละเรื่องนั้นล้วนแล้วแต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปัญหาที่ผู้บริโภคไทยหลายคนต้องประสบเจอในชีวิตจริงเป็นความทุกข์ที่ยังคงไม่มีทางออกที่ชัดเจน

          สาเหตุที่ใช้ภาพยนตร์สั้นเป็นตัวถ่ายทอดนั้นเพราะต้องการให้ผู้บริโภคเห็นถึงปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม  คุณสารี  อ๋องสมหวัง  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  กล่าวไว้ว่า  “ที่ผ่านมาเราทำงานรณรงค์ต่อสู้มาก็มากแล้ว  จึงคิดว่าถ้าปรับกลยุทธ์มาใช้ศิลปะโดยเฉพาะหนังสั้นมาเป็นสื่อกลางบ้าง  น่าจะทำให้เข้าถึงประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รู้จักมาตรา  61  องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  และรับทราบประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีกฎหมายฉบับนี้มากขึ้น  และในที่สุดผู้บริโภคจะช่วยสนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าว”

   เรื่องโดย : ณัฑฎ์ดนัย  ฐิติระอานนท์  

   

        โดยสารคดี 6 เรื่องเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้บริโภคอย่างเราน่าจะประสบปัญหาบ่อย  เช่น  เรื่อง กลับ…บ้าน  ที่ถูกถ่ายทอดผ่านผู้กำกับ ชาญ  รุ่งเรืองเดชวัฒนา  เป็นการนำเสนอปัญหารถตู้สาธารณะที่ผู้บริโภคต้องนั่งรถตู้โดยสารในการเดินทาง  หากเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง  พ่อ  แม่  ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจะสามารถเรียกร้องอย่างไรได้บ้าง  แล้วใครจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้  นี่คือปัญหาที่สะท้อนผ่านหนังสั้นเรื่องนี้   เรื่องที่สองเป็นการหยิบยกปัญหาการใช้บริการเครือข่าย  3G  กำกับโดย  บุญส่ง  นาคภู่  ที่ปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมากในแต่ละเครือข่าย  แต่เมื่อเกิดระบบหรือสัญญาณแย่แล้วมีผู้บริโภคที่จำเป็นจะสื่อสารในเรื่องสำคัญ  ทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้  จนทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่  ใครจะเป็นคนรับผิดชอบในเรื่องนี้?  และถ้าหากพูดถึงปัญหาหนี้บัตรเครดิตก็คงเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่พบอยู่เป็นจำนวนมากในสังคมปัจจุบัน  กำกับโดย  อาจารย์ ไพจิตร ศุภวารี ภายใต้ชื่อเรื่อง  กรรมใคร…?  เพื่อต้องการสะท้อนสังคมให้ฉุกคิดขึ้นมาบ้าง  ก่อนที่ปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาลุกลามและแก้ไขไม่ได้

          เรื่องต่อมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหากับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน  โดยเนื้อเรื่องเป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะของชายวัย 40 ปี ที่ทำงานอิสระไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง  รายได้ไม่มั่นคง  แต่เมื่อญาติจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกัน แต่เมื่อได้มา  ญาติๆกลับมาฉุกคิดต่อว่า  สิ่งที่ได้มาเหมาะสมกับรายได้ที่ชายผู้นี้พึงจะได้  หากเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่  กำกับโดย  มานุสส  วรสิงค์  ในเรื่อง  Priceless  อีก 2 เรื่องสุดท้าย  เป็นฝีมือผู้กำกับของ  พัฒนะ  จิรวงศ์  เรื่องแรกเป็นเรื่อง 61 นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ชีวิตของผู้ประสบอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะ สายสิงห์บุรี – ลพบุรี โดยเป็นการนำผู้ประสบเหตุจริงในครั้งนั้น  มาบอกเล่าถึงประสบการณ์จริง  ส่วนอีกเรื่องเป็นสารคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เป็นการติดตามการทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่พยายามผลักดันมาตรา 61  กับการทำงานที่สะท้อนออกมาในมุมมองของนักรณรงค์ที่มุ่งมั่นเรียกร้องสิทธิที่พึงมีและผู้บริโภคควรได้รับ เรื่องราวจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานมูลนิธิฯ  และอีก 1 เรื่องพิเศษ เป็นคลิปที่เป็นพิธีกรรมสาปแช่งที่เกิดขึ้นเพื่อสะท้อนถึงทางออกที่ทำได้ในการเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคที่ถูกกระทำ

          ทุกเรื่องราวที่ผู้กำกับถ่ายทอดออกมานั้น ทุกท่านก็ต่างใช้ “ใจ” ที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมไทย  จึงได้สรรค์สร้างออกมาเป็นผลงานภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องจริงของผู้บริโภค

 

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.