Select Page

‘เด็กรุ่นใหม่’ ออดิชั่นนักแสดงโขน พร้อมใจสืบสานวัฒนธรรมไทย

‘เด็กรุ่นใหม่’ ออดิชั่นนักแสดงโขน พร้อมใจสืบสานวัฒนธรรมไทย

ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดง “โขน” ขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปีนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้กำหนดการจัดการแสดงโขน ชุด “ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์” วันที่ 9 พ.ย. ถึงวันที่ 5 ธ.ค. 2556

ภาพการออดิชั่นนักแสดงโขน

ภาพการออดิชั่นนักแสดงโขน

โดยมีการออดิชั่นคัดเลือกนักแสดงตัวเอกมาร่วมแสดงโขนครั้งประวัติศาสตร์ และเพื่อให้เด็กไทยรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ในการอนุรักษ์ เผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยให้คงอยู่ต่อไป โดยจัดขึ้น ณ ห้องเทเวศร์ อาคารหอประชุม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

บรรยากาศในการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่ ได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา จากวิทยาลัยนาฏศิลปและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ กว่า 500 คน เรียกว่าคึกคักล้นหลามกว่าปีที่ผ่านมา ในปีนี้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดง จำนวน 5 ตัวละคร คือ พระ (โขน) พระ (ละคร) นาง ยักษ์ และลิง ผู้สมัครต้องโชว์ความสามารถทางด้านนาฏศิลป์ไทย การแสดงออกและความถูกต้องของกระบวนการท่ารำ จังหวะ และลีลา ความสามารถในการตีบทและการใช้บทของแต่ละตัวละคร รวมถึงการตอบคำถามและการแสดงทัศนคติทางด้านนาฏศิลป์ ต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิ ที่ต้องคัดเลือกเหลือเพียงแค่ 20 คนเท่านั้น

รายชื่อกรรมการยิ่งทวีความขลังโขนเวทีระดับชาติ อาทิ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขน ชุด ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์ มล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการ ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์โขน) พุทธศักราช 2551 จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์โขน) พุทธศักราช 2552 รัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) พุทธศักราช 2554 ทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยคีตศิลป์) ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง พร้อมด้วย พิศมัย วิไลศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2553 สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) อรนภา กฤษฎี ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ ฯลฯ

เฟ้นหานักแสดงผ่านสายตา ‘บรมครูโขน’

ภาพการออดิชั่นนักแสดงโขน

ภาพการออดิชั่นนักแสดงโขน

ความยิ่งใหญ่วิจิตรงดงามของเวทีโขนศิลปาชีพ ที่เกิดจากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถือเป็นการจุดประกายให้ศิลปะชั้นสูงแขนงนี้กลับมาได้รับความสนใจจากเด็กรุ่นใหม่อีกครั้ง ทำให้มีคนเข้ามาออดิชั่นเพื่อเป็นนักแสดงโขนประวัติศาสตร์ “ศึกกุมภกรรณ” ตอน “โมกขศักดิ์” ในปีนี้ กว่า 500 คนเลยทีเดียว ซึ่งทุกครั้งที่มีการจัดคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่ ตั้งแต่ชุด “นางลอย” “ศึกมัยราพณ์” และ “จองถนน” จะมีนักเรียน นักศึกษา จากทั่วประเทศมาคัดเลือกมากขึ้นทุกปี ปีหน้าอาจจะถึงพันคนก็น่าจะเป็นไปได้” อ.ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว อ.จตุพร รัตนวราหะ สองศิลปินแห่งชาติ และ อ.รัตติยะ วิกสิตพงศ์ สามบรมครูแห่งวงการโขนของไทยซึ่งเป็นกรรมการคัดเลือก ให้รายละเอียดว่า ปีนี้น่าชื่นใจว่ามีเด็กรักนาฏศิลป์ไทยในวัย 1525 ปี เดินทางมาร่วมคัดเลือกเป็นนักแสดงจากทุกๆ ภาคทั่วประเทศ

 

ภาพสมาบรมครูโขน อ.ประสิทธิ์ อ.รัตติยะ อ.จตุพร

ภาพสมาบรมครูโขน อ.ประสิทธิ์ อ.รัตติยะ อ.จตุพร

“ครูจตุพร” ครูยักษ์ของชาวนาฏศิลป์ อธิบายรายละเอียดว่า ตัวเอกในตอนนี้คือยักษ์ กุมภกรรณ เป็นอนุชาร่วมมารดาของทศกัณฐ์ เป็นยักษ์ดีอยู่ในศีลธรรม แต่ขัดพี่ชายไม่ได้จึงต้องออกไปรบ มีหอกโมกขศักดิ์ซึ่งเป็นเทพอาวุธมีฤทธิ์พุ่งถูกผู้ใดแล้วจะถอนไม่หลุด และเมื่อผู้ใดต้องหอกนี้เข้า เมื่อถูกแสงอาทิตย์ส่องก็จะตายทันที เมื่อเหล่าพลยักษ์และพลวานร ยกทัพเข้าราญรอนกัน กุมภกรรณเสียทีหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็พุ่งหอกโมกขศักดิ์ไปถูกอกพระลักษมณ์

พระรามเสด็จมาดูอาการพระลักษมณ์และมีพระอาการโศกเศร้า พิเภกทูลว่า มียาสำหรับแก้ฤทธิ์หอกโมกขศักดิ์ แต่ต้องให้หนุมานไปห้ามพระอาทิตย์อย่าเพิ่งชักรถข้ามยอดเขายุคุนธร และให้ไปเอายาชื่อ สังกรณี ตรีชวา ที่ยอดเขาสรรพยากับน้ำจากปัญจมหานทีมาให้ได้ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

“ตัวละครเอกที่คัดเลือกไว้แล้วก็จะมี ยักษ์ 4 ลิงอีก 4 ตัวละครนะครับ ปีนี้ กุมภกรรณ เป็นยักษ์ตัวสำคัญในการเดินเรื่อง เราจะได้ชมลีลายักษ์ร่ายรำสวยงามมาก แล้วก็ต้องคัดเลือกคนที่มีโครงสร้างสูงใหญ่รูปร่างสง่างาม อีกตัวละครแน่นอนครับว่าคือ ทศกัณฐ์ ผมอยากให้ทุกๆ คนจับตาดูทั้งสองตัวละครนี้ รับรองครับว่าคุณจะรู้สึกว่าโขนไทยเป็นการแสดงที่อลังการมาก” ครูจตุพร เริ่มสนทนาถึงโขนในปีนี้

 

ภาพความงดงามโขนศิลปาชีพ นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย

ภาพความงดงามโขนศิลปาชีพ นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย

ทางด้านครูลิง อ.ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์โขน ก็อธิบายว่า อย่าไปยึดติดกับตัวละครเก่าๆ ที่ว่า ลิงต้องล่ำ ตัวเตี้ยม่อต้อ เพราะนั่นคือรูปร่างลักษณะลิงป่า แต่เวทีนาฏศิลป์โขนที่เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงไทยแท้นั้น มีความสง่างามของลิงสำคัญบนเวทีให้ชมกันเต็มอิ่ม ทั้งลิงโล้นหรือลิงเด็กๆ ทั้งลิงยอด ลิงหนุมาน ซึ่งบุคลิกผู้แสดงลำคอต้องโปร่งเพราะเป็นลิงยอดมีมงกุฎทรงเครื่องด้วย ช่วงขาต้องยาวกว่าลำตัวเล็กน้อยเพราะต้องกระโดดตีลังกาโชว์พลัง ทั้งระเบียบการรำ ส่วนสัดรูปร่างต้องงดงาม ไม่ใช่ว่าใครจะเป็นหนุมานผู้อาสารบ นำกล่องดวงใจทศกัณฐ์มาถวายพระรามให้ได้” อ.ประสิทธิ์ บรมครูโขนอีกท่านแนะนำ

ส่วนครูละคร อ.รัตติยะ วิกสิตพงศ์ บอกว่า มีตัวละครพระผู้หญิงซึ่งเป็นชุดรำเบิกโรง ก็ต้องงดงามดึงดูดสายตาคนดู มีตัวพระนาง 3 ชุด หน้าตาสวยรูปร่างสูงโปร่ง ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ทั้งเด็กโรงเรียนสามัญ ไปจนสถาบันนาฏศิลป์ต่างๆ ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย

“จากเด็กกว่า 500 คน คัดรอบแรกเหลือ 300 กว่าคน และคัดเลือกตัวเอกอีก 20 คนโดยแบ่งเป็น 5 ชุดค่ะ แล้วที่เหลือก็จะเป็นอำมาตย์เสนา ซึ่งก็มีหลายคนที่ออดิชั่นไม่ได้ แต่ครูก็พยายามให้เด็กหน่วยก้านดีได้รับบทขึ้นเวทีกันให้มากที่สุดเพื่อเป็นกำลังใจนะคะ ครูจะบอกลูกศิษย์ว่า ทุกคนต้องคลานกันมาก่อนที่จะเดิน ครูประสิทธิ์ก็เริ่มจากบทเป็น เขน (พลทหารยักษ์) ครูจตุพรก็เล่นเป็นลิงเล็กๆ มาแล้วทุกตัว ไต่เต้ากันมาทุกคนค่ะ การออดิชั่นนี่ครูถือเป็นก้าวแรกที่เด็กๆ จะเติบโต

ทุกๆ ปีจะมีเพียงการแสดงชุดครูและชุดครูกับศิษย์ แต่ด้วยพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงต้องการให้เด็กรุ่นใหม่สืบสานศิลปะไทย ฉากเหาะเหินเดินอากาศที่มีเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสนุก ตื่นเต้น สมัยดิฉันไม่มีหรอกค่ะ ดิฉันจึงรู้สึกว่าเด็กโขนรุ่นใหม่โชคดีได้รับโอกาสขึ้นเวทีที่งดงามที่สุด” อ.รัตติยะ บอกพร้อมรอยยิ้มใจดี

 

ออดิชั่นผ่าน

ภาพคุณ"เหมา" ธนากร รัตนเลิศ ผู้ผ่านการออดิชั่น

ภาพคุณ”เหมา” ธนากร รัตนเลิศ ผู้ผ่านการออดิชั่น

เข้ามาคัดเลือกแข่งขันเพื่อเป็นนักแสดง บทโขนลิง “เหมา” ธนากร รัตนเลิศ นักศึกษาปีที่ 3 คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ปีนี้มาออดิชั่นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว และด้วยใจรักการแสดงโขนจากการมีพื้นฐานที่เรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป มาตั้งแต่ ม.1 โดยการสนับสนุนอย่างจริงจังจากครอบครัว เหมาจึงได้รับคัดเลือกเป็นลิงตัวเอกทุกปี แต่โจทย์ที่ได้รับจากครู ธนากรบอกว่า ก็ยากทุกๆ ปีเช่นกัน

“ความยากคือผมไม่รู้ว่าครูจะเลือกเพลงอะไรให้รำ เพลงยากคือเพลงประถม ซึ่งเป็นการใช้การรำที่เรียกว่า “แม่ท่า” ตั้งแต่ผมเรียน ม.1 ดัดแปลงจังหวะจากแม่ท่าลิงเพิ่มเติมตามรูปแบบที่ครูโบราณสอนไว้ครับ ท่วงท่าซับซ้อน สิ่งที่ครูจะพิจารณามี 3 ข้อครับ คือ 1.เรามีปฏิภาณไหวพริบหรือไม่ รำท่าผิดไปแล้วแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตรงนั้นอย่างไรให้อยู่ในท่วงท่าลิงที่ถูกต้อง ข้อ 2.มีท่วงท่าลิงที่ถูกหรือไม่? หลายคนเข้าใจว่าลิงซน อยู่ไม่สุข แต่ก็ต้องเข้าใจบทบาทนี้ด้วยนะครับว่า ลิงรามเกียรติ์เป็นลิงเทพที่จุติมาช่วยพระราม เพราะฉะนั้นต้องสง่ามากกว่าลิงป่าทั่วๆ ไป 3.จังหวะการรำสวยงามหรือไม่

ปีแรกๆ ครูให้ผมรำตัวพระ แต่ผมก็ขอครูทุกๆ ปีครับว่า อยากเป็นลิงมากกว่า รำสนุกกว่าครับ ตัวพระจะเนิบๆ ช้าๆ ไม่มันเลยครับ (หัวเราะ) สำหรับความภูมิใจที่สุดคือเมื่อปีที่แล้ว โขนศิลปาชีพ ตอน จองถนน ผมได้เป็นหนุมานในบทบาทตัวที่ขึ้นชักรอก การได้รับคัดเลือกให้แสดงโขนตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผมก็ภาคภูมิใจมากแล้ว ยิ่งได้แสดงบทหนุมานบอกได้เลยครับว่า เป็นการภูมิใจดับเบิ้ลเลยครับ” ลิงหนุ่มน้อยวัย 20 ปี ธนากร กล่าว

 

ออดิชั่นไม่ผ่าน

การแสดงโขนคือความฝันสูงสุดของผมในเวลานี้ครับ! เบนจามิน ตาร์ดี หนุ่มน้อยวัย 19 ปี ชาวแคนาดา เริ่มรู้จักนาฏศิลป์โขนไทยตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของสโมสรโรตารีเข้ามาเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป จ.สุโขทัย และเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่นี่ด้วย เขาบอกพร้อมน้ำเสียงสดใส แม้ว่าจะผิดหวังไม่ผ่านการคัดเลือกตัวนักแสดงในคราวนี้ แต่การที่ได้ทำในสิ่งที่รัก มีความรู้สึกท้าทายสนุกสนาน ได้เรียนรู้การรำไทยเพิ่มเติมประสบการณ์พบปะเพื่อนใหม่ๆ ที่สำคัญได้พบและขอความรู้จากบรมครูโขนไทย คำว่าผิดหวังจึงไม่น่าจะใช่ความรู้สึกทั้งหมดในเวลานี้

“ผมออดิชั่นในบทโขนลิงครับ” เบนจามิน บอกด้วยภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำ และเล่าถึงการเตรียมตัวในครั้งนี้ว่า หลังจากสอนภาษาลูกศิษย์เสร็จสิ้นในช่วงบ่ายๆ ก็ทุ่มเทฝึกซ้อมรำในเพลงหน้าพาทย์ เพลงแม่ท่าลิง จนถึง 1 ทุ่มทุกๆ วัน แต่เมื่อมาเจอคู่แข่งที่เป็นนักเรียนนาฏศิลป์ก็ต้องยอมรับว่า สู้ไม่ได้จริงๆ แต่ไม่มีการถอดใจแน่นอน

“ไม่ยอมแพ้ครับ (บอกพร้อมเสียงหัวเราะ) ครูโขนของผมคือ อ.สมชัย ยิ้มแย้ม สอนผมตั้งแต่พื้นฐานเรื่องวรรณคดีรามเกียรติ์ ผมก็รู้สึกว่าสนุกมากและติดอยู่ในใจมาโดยตลอด โขนเหมือนโอเปร่า ที่เป็นศิลปะชั้นสูงตั้งแต่สมัยอยุธยา การได้ขึ้นเวทีแม้ในบทเล็กๆ ผมก็ถือว่าเป็นเกียรติ-Honor ในชีวิต เพราะน้อยคนนะครับที่จะได้รับโอกาสนี้ ปีหน้าผมก็จะมาออดิชั่นอีกครับ” เบนจามิน ฝากทิ้งท้าย

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับแทรก MAGZ วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2556 หน้า8-9

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.