Select Page

‘วิธีคิดของผมคือฝันให้ไกล และพยายามไปให้ถึง’สุรพล เพชรวรา เอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐ ชิลี

‘วิธีคิดของผมคือฝันให้ไกล และพยายามไปให้ถึง’สุรพล เพชรวรา เอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐ ชิลี

 “สังคมคนชิลีค่อนข้างปิด ต่างคนต่างอยู่ คนต่างชาติจะหาเพื่อนชาวชิลีที่สนิทสนมได้ยาก คนชั้นนำของชิลีจะมีสังคมของเขาโดยมีสปอร์ตคลับเป็นแหล่งพบปะ หากไม่ใช่สมาชิกจะไม่สามารถย่างกรายเข้าได้เลย ผมจึงหาหนทางสมัครเข้าเป็นสมาชิกสปอร์ตคลับซึ่งก็มีสนามกอล์ฟอยู่ด้วย อาศัยว่าเล่นกอล์ฟพอใช้ได้ประกอบกับการเป็นทูตทำให้มีคนมาขอเล่นด้วยเยอะ ปกติคนชิลีไม่คบคนง่าย ไม่เชิญแขกไปทานข้าวที่บ้าน แต่คนเหล่านี้เชิญทูตไทยไป”

ภาพธงชาติสาธารณรัฐชิลี

ภาพธงชาติสาธารณรัฐชิลี

1 ตุลาคม 2555 เป็นวันที่ สุรพล เพชรวรา รับตำแหน่ง เอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี หลังหมดวาระจากตำแหน่งอธิบดีกรมการกงสุล? ชิลีอยู่อีกซีกหนึ่งของโลก คิดเฉพาะเวลาที่นั่งอยู่บนเครื่องบินก็ 26 ชั่วโมงสำหรับการเดินทางไปชิลี !

หนึ่งปีถัดมา 1 ตุลาคม 2556 ทูตสุรพลกลับมาประเทศไทย เพื่อมาร่วมต้อนรับ เซบัสเตียน ปิเญรา เอเชนีเก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐชิลี และภริยาที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเพื่อเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ชิลี ร่วมกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม ที่ผ่านมา?

ปัจจุบันทั้งสองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยไทยนำเข้า 30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าดังกล่าว

ทำไมต้องทำเอฟทีเอไทย-ชิลี? ทูตสุรพลอธิบายว่า สินค้าประเภทเดียวกันที่วางขายในชิลี สินค้าไทยจะเสียเปรียบประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เพราะประเทศเหล่านี้มีเอฟทีเอกับชิลีแล้ว ผู้นำเข้าชิลีพูดเสมอว่าคุณภาพสินค้าไทยดีมาก เมื่อเทียบกับสินค้าอีกหลายประเทศ แต่ไม่สามารถแข่งขันได้เพราะถูกบวกภาษี ทำให้ต้นทุนสูงกว่า

ผลจากเอฟทีเอไทย-ชิลี จะทำให้ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับชิลีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณและไทยจะสามารถใช้ชิลีเป็นประตูสู่ละตินอเมริกา รวมทั้งจะได้รับประโยชน์จากการที่ชิลีมีเอฟทีเอกับประเทศอื่นๆ อีกกว่า 30 ประเทศ

เอฟทีเอไทย-ชิลี ผ่านรัฐสภาไทยในวันที่ 2 ตุลาคม เป็นวันเดียวกับที่ประธานาธิบดีชิลี ออกเดินทางมาประเทศไทย ! ทั้งยังเป็นประธานาธิบดีชิลีคนแรกที่เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่มีความสัมพันธ์ทางการทูตมา 51 ปี

ทูตสุรพลเล่าว่าประธานาธิบดีท่านนี้ เดิมเป็นนักธุรกิจมีสินทรัพย์ติดอันดับ 1/5 ของประเทศ เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสายการบินแห่งชาติ เคยเป็นเจ้าของทีวีช่อง 13 และธุรกิจอีกหลายกิจการ และว่าการมาเยือนของผู้นำชิลีมีข้อดีหลายอย่าง ประการสำคัญคือเป็นโอกาสของทูตที่จะได้สร้างความรู้จักคุ้นเคยกับผู้นำชิลี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

“ระหว่างล่องเรือตามลำน้ำเจ้าพระยา ผมก็ใช้ความรู้เก่าๆ เล่าเรื่องวิถีชีวิตไทยให้ประธานาธิบดีฟัง ทำให้มีความคุ้นเคยกันมากขึ้น กลับไปชิลีน่าจะติดต่อและประสานงานได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ไม่ค่อยเจอ ไม่ได้คุยกัน เพราะเราเป็นทูตจากประเทศเล็กๆ เขาไม่ชายตามองเราหรอก เขามองแต่ทูตอเมริกัน ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ สำหรับทูตไทย-Who are you? แต่พอมาอย่างนี้ทำให้ได้รู้จักและคุ้นเคยกันเพิ่มขึ้น อันนี้ต้องขอบคุณกระทรวงต่างประเทศที่มีนโยบายให้เอกอัครราชทูตเดินทางเข้ามาร่วมต้อนรับ หากผู้นำประเทศนั้นๆ มาเยือนไทย”

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ ทางชิลีต้องนำความตกลงที่ลงนามกับไทยแล้วเข้าสภา เมื่อผ่านการเห็นชอบจากสภาของชิลีแล้วจึงมีผลบังคับใช้ ซึ่งประธานาธิบดีรับปากระหว่างการหารือกับนักธุรกิจไทยในช่วงการเยือนว่า จะมีผลภายในสิ้นปีนี้ สินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์มากคือ 1.รถกระบะญี่ปุ่นที่ผลิตในไทยทุกยี่ห้อ (ขนาด 1 ตัน) แม้ชิลีจะนำเข้าจากที่อื่นด้วย หากราคาเท่ากันคนชิลีจะซื้อที่ผลิตในไทย เพราะมั่นใจในคุณภาพ 2.ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารา เช่น ยางรถยนต์ ฯลฯ 3.อาหารทะเลกระป๋อง ระหว่างที่ยังอยู่ในประเทศไทย ทูตสุรพลได้ร่วมกับหอการค้าไทยจัดเซสชั่น เพื่อพูดคุยถึงโอกาสทางธุรกิจในชิลีให้แก่นักธุรกิจไทยหลังการลงนามเอฟทีเอ

รวมทั้งจัดให้ “ปีเตอร์” นักธุรกิจชิลีที่บินตามท่านทูตมาเที่ยวประเทศไทย ให้ได้พบปะกับนักธุรกิจไทย หลังจบภารกิจในฮ่องกง ท่านทูตสุรพลเล่าว่า “ปีเตอร์” เป็นเจ้าของห้างจุมโบ (Jumbo) ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่สุดและมีเครือข่ายที่มากที่สุดในชิลี จุมโบเป็นหนึ่งในหลายกิจการของกลุ่มเซนโคซุด (Cencosud) มีทรัพย์สินติดอันดับ 1/5 ของชิลี มีเน็ตเวิร์กมากสุดในประเทศ และอีกห้าประเทศในละตินอเมริกา เป็นกลุ่มที่มีตึกสูงสุดในชิลีและละตินอเมริกา

ภาพคุณสุรพล เพชรวรา เอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี

ภาพคุณสุรพล เพชรวรา เอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี

“เขามาฮ่องกงอยู่แล้ว เห็นผมอยู่ไทยก็เลยตามมา และให้ภรรยาบินตามมาจากซันติอาโก ผมไม่อยากให้เสียเปล่าจึงนัดให้คุยกับซีพี บริษัททำถุงพลาสติก และชมโรงงานผลไม้อบแห้งส่งออก ให้เห็นว่าประเทศไทยมีอะไรที่ห้างเขาจะนำเข้าได้บ้าง ส่วนซีพีก็มานั่งคุยกัน คือซีพีเป็นเทรดดิงคอมปะนี ปีเตอร์ก็มีเทรดดิงคอมปะนี อาจเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันได้ โดยให้เขาดูแลตลาดซีกโลกใต้ เราดูแลตลาดทางนี้ เรามีอะไรก็ส่งให้เขา เขามีอะไรก็ส่งให้เรา…อันนี้เป็นไอเดีย ท่านประจวบ ไชยสาส์น ซึ่งท่านเห็นว่าหากเป็นไปได้จะเป็นชิ้นงานที่น่าภูมิใจ”

“ซีพีถามว่ามีอะไรบ้างที่นำเข้าจากชิลีได้ มีหลายอย่าง เช่น เป๋าฮื้อที่โน่นกระป๋องละ 600 บาท ที่เยาวราชกระป๋องละ 3,500 บาท หรือปลาป่นซึ่งมีโปรตีนคอนเทนท์สูงมาก”

ทูตสุรพลบอกว่ากำลังทำงานด้านส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเป็นซีรีส์ เริ่มจากประธานาธิบดีเยือนไทยและลงนามเอฟทีเอ ขั้นต่อไปคือเชิญ ณรงค์ชัย อัครเศรณี ไปบรรยายให้นักธุรกิจชิลีฟัง โดยนำนักธุรกิจไทยไปด้วย ต่อจากนั้นจะนำนักธุรกิจชิลีมาไทย

“ปีงบประมาณที่ผ่านมาเราสร้างค่านิยมหรือ value โดยเน้นงานการทูตเชิงวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่นำคณะนาฏศิลป์ไทยไปแสดง ตามมาด้วยการจัดสัปดาห์ภาพยนตร์ไทย จัดวันแข่งมวยไทย และจัดไทยคุกกิงคลาส-ทั้งที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตและที่ห้างจุมโบ รวมทั้งตามสปอร์ตคลับต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มชนที่หลากหลาย นี่คือสร้างค่านิยมหรือ value ซึ่งจะมีผลต่อการสร้าง quantity หรือปริมาณ เพราะงานการทูตมีสองอย่างคือสร้างปริมาณและการสร้างค่านิยม ที่ทำยากคือการสร้างค่านิยม ถ้าเราสร้างค่านิยมได้ดี มูลค่าจะตามมา

“จึงอยากบอกผู้ประกอบการทั้งหลายว่า อย่าทำลายค่านิยมที่เราสร้างไว้ โดยการทำธุรกิจแบบเห็นแก่ได้ถ่ายเดียว แต่ต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการไทยบางท่านที่ทำธุรกิจกับชาวชิลีจนได้ใจชาวชิลี มีอยู่รายหนึ่งบอกทูตตอนทูตไปเยี่ยมว่า ทำธุรกิจกับประเทศไทยมา 25 ปี วันนี้ที่ทูตมาเยี่ยมเปรียบเสมือนรางวัลใหญ่แห่งชีวิตที่เขาได้รับ เขาจะไม่ทำธุรกิจกับประเทศไหนอีกเลย เพราะคู่ค้าชาวไทยทำให้เขารู้สึกประทับใจมาก ตอนเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในชิลี คู่ค้าไทยเฝ้าโทรถามตลอดเวลาว่าจะให้ช่วยอะไรได้บ้าง”

ทูตสุรพลบอกว่า รู้จักปีเตอร์จากการเล่นกอล์ฟ รวมทั้งนักธุรกิจรายอื่นๆ ด้วย !

หลังจากลองมาแล้วหลายวิธี แต่ไม่สามารถเข้าถึงคนชิลีได้ ก็เลยทดสอบแนวคิด ‘golf diplomacy’

“สังคมคนชิลีค่อนข้างปิด ต่างคนต่างอยู่ เป็นแบบสังคมฝรั่ง การเข้าเป็นสมาชิกสปอร์ตคลับช่วยได้มาก เพราะทำให้ได้รู้จักและสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับนักธุรกิจน้อยใหญ่อาศัยว่าเราเล่นกอล์ฟได้ค่อนข้างดี ทำให้คนโน้นอยากจอย คนนี้อยากเล่นด้วย เมื่อเล่นกับเราเขาก็สนุก เพราะเราขายความเป็นไทยไปด้วย คนก็แห่มาขอเล่นด้วย ปกติคนชิลีไม่คบคนง่าย ไม่เชิญคนไปกินข้าวที่บ้าน แต่คนเหล่านี้เชิญเราไป บ้านของชนชั้นนำเหล่านี้อลังการ และมีสระว่ายน้ำแทบทุกบ้าน…

“อย่างปีเตอร์ หากไม่สนิทกันเขาไม่มาหรอก คือเขาเห็นเราอยู่กรุงเทพฯ ก็เลยจะตามมา เพราะไม่เคยมากรุงเทพฯ เท่านั้นเอง คราวที่จัดงานไทยคุกกิงคลาสในห้างจุมโบ ให้ลูกน้องโทรนัดผู้จัดการ ได้รับแจ้งว่าอีกหนึ่งเดือนถึงจะได้พบ ผมโทรหาปีเตอร์บอกลูกน้องยูนัดหนึ่งเดือนข้างหน้า ทำงานกันยังไง เขาบอกพรุ่งนี้มาพบเลยไม่ต้องนัด ก็จบ พอได้จัดหนึ่งสาขา อีกหลายสาขาก็ถามว่าเมื่อไรจะไปจัดที่สาขาของเขาบ้าง จัดเสร็จเครื่องปรุงอาหารไทยขายเกลี้ยงเชลฟ์วันนั้น จุมโบก็ได้ประโยชน์ เราไม่ต้องเสียเงินในการเช่าพื้นที่และอื่นๆ เขาจัดให้หมด เราแค่นำแม่บ้านไปทำกับข้าว หุงข้าวโชว์ และบอกว่าเครื่องปรุงทั้งหมดมีขายในห้างจุมโบ คนก็ซื้อกลับ สินค้าไทยที่เคยค้างอยู่บนหิ้งก็หมดไปได้ ผู้นำเข้ามาขอบคุณเราใหญ่เลย”

ทราบอยู่แล้วว่าต้องเข้าทางสนามกอล์ฟจึงจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้

“ไปศึกษาดูแล้วไม่มีทางอื่น ตอนไปใหม่ๆ ขอดูสนามกอล์ฟ ใช้รถทูตขับไปเขาก็ไม่ให้เข้า บอกต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น ให้เลขาฯ โทรหาผู้จัดการสนามกอล์ฟ บอกทูตกำลังหาสนามกอล์ฟเพื่อเป็นสมาชิก แต่อยากลองก่อน เลยได้ลองตั้งสิบสนามฟรี ลองเสร็จตัดสินใจเป็นสมาชิกสนามใกล้บ้าน เสร็จแล้วเชิญผู้จัดการทุกสนามกอล์ฟที่เชิญไปลองมาทานข้าวที่บ้าน หลังจากนั้นทูตไทยไปสนามไหนเขาก็ต้อนรับ ทำให้มีเพื่อนในสนามกอล์ฟเยอะมาก และอาศัยเวทีนี้ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปในตัว”

“สถานทูตไทยไปจัดงาน ‘เทสต์ออฟไทยแลนด์’ ในสนามกอล์ฟ เขาให้ใช้สถานที่ฟรี เราแสดงอาหารไทย นาฏศิลป์ไทย แสดงมวยไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ soft power diplomacy เรามีเป้าหมายชัดเจนในการสร้าง value ไปเรื่อยๆ โดยเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างประเทศไทยไว้ในใจคนชิลี ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึงอาหารไทย กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ไปแล้ว…พูดถึงอาหารไทยเขาอยากกิน และภาพประเทศไทยในประเทศนี้เป็นบวกมาก เพราะไม่มีคนไทยในชิลีติดคุกสักคนเดียว (มีคนไทยในชิลีประมาณร้อยคน) ภาพลักษณ์คนไทยในชิลีเป็นบวก ทำให้ทำงานง่าย ”

ภาพธงชาติสาธารณรัฐชิลี

ภาพธงชาติสาธารณรัฐชิลี

ทูตสุรพลอธิบายถึงข้อดีของการเล่นกอล์ฟว่า 1.ทำให้รู้จักคน 2.คนเล่นกอล์ฟด้วยกันคุยกันง่าย สามารถสร้างคอนเนกชั่นหรือเน็ตเวิร์กได้

“มันเป็นโซเชียลเกมส์ แต่เราต้องมองว่าไม่ได้เล่นกอล์ฟเพื่อเอาชนะและความสนุกสนานเท่านั้น แต่เล่นกอล์ฟเพื่อการทำงาน เพื่อเข้าไปอยู่ในบิสิเนสเซอร์เคิล ในกลุ่มคนชั้นสูง ในชิลีคนมีเงินจะเข้าไปอยู่ในสปอร์ตคลับ ค่าสมาชิก 2-3 ล้านบาท ในคลับมีทั้งกอล์ฟ เทนนิส สระว่ายน้ำ คล้ายๆ เป็นที่ที่เขาไปพักผ่อน”

“ตอนไปใหม่ๆ ทูตต่างประเทศชาติหนึ่งบอกว่า ยูไปสมัครเถอะ ยังไงยูก็ไม่มีทางมีเพื่อนชิลี เพราะ 1.คนชิลีเป็นคนปิด 2.คนชิลีจะชวนยูไปกินข้าวตลอดเวลา แต่ยูจะไม่เห็นบ้านพวกเขาเลย จึงอยากพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ พอสามเดือนก็มีเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจมากมายที่เป็นนักกอล์ฟ แล้วเขาก็ชวนเราไปกินข้าวที่บ้าน”

หนึ่งปีที่ผ่านมาถือว่าทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์

                           “วิธีคิดของผมคือฝันให้ไกล และพยายามไปให้ถึง ฉะนั้น จะไม่หยุดฝันแค่ตรงนี้ ฝันจนสุดขอบฟ้าเลยนะ พยายามเดินไปเรื่อยๆ อย่างไม่ลดละ การอยู่ที่โน่นดีอย่างหนึ่งคือ ความไกลมีประโยชน์ ความที่ไม่มีแขกมาก ทำให้เรามีเวลาคิด คิดเสร็จก็สร้างงานได้ สิ่งที่พยายามทำขณะนี้คือ สอนให้น้องๆ ที่สถานทูตหัดคิดด้วยตัวเองและทำ ซึ่งเป็นประโยชน์มาก เพราะเขาคิดเองและอยากทำและทำด้วยพลังขับเคลื่อนภายในของเขาเอง เราเพียงหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานของเขาและทำตัวเป็น trouble shooter ให้เขา”

                          “ชีวิตการทำงานของเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาได้คิดอย่างเป็นเจ้าของงาน ทำงานกันเป็นบ้าเป็นหลัง บ่นเหนื่อยแต่ทำ ผมบอกทูตไม่ได้สั่งนะ แต่เขาทำ บอกเขาว่า เมื่อเวลาผ่านไปและมองย้อนกลับจะได้มีความภูมิใจ และจะได้รู้สึกว่าได้สร้างช่วงแห่งความภูมิใจหรือ a moment of pride ในชีวิตแห่งการทำงาน ในฐานะทูตก็พยายามใส่ความคิดนี้เข้าไป แรกๆ ก็มีร้องไห้บ้าง แต่ไม่เคยกดดัน หากพวกเขาเข้าไม่ถึงใครทูตก็ช่วยแก้ปัญหาให้ได้ หน้าที่ทูตคือแก้ปัญหา และเพิ่มมูลค่าให้แก่งาน เราทำงานกันอย่างนี้” ก่อนสรุปปิดท้าย หลังรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตมาหนึ่งปีว่า “เป็นเรื่องดีที่ได้เป็นทูต แต่การเป็นทูตที่ดีไม่ง่ายครับ”

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2556 หน้า 5

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.