Select Page

ออกแรงปั่น ปรับโหมดชีวิต ‘โบว์ลิ่ง’ ดร.เอกพล

ออกแรงปั่น ปรับโหมดชีวิต ‘โบว์ลิ่ง’ ดร.เอกพล

 “เวลาปั่นจักรยานเราใช้สมาธิสูง ในหัวจะว่างเปล่าเหมือนการเอาความคิดออกมาจากการงาน เรื่องอื่นๆ ก็หายไปหมดเลยรู้แต่จุดหมายอย่างเดียว”

 

ภาพดร.เอกพล เมธารมณ์ ที่ปรึกษาทางด้านยามะเร็งและไวรัสตับอักเสบ ในตำแหน่ง Senior Seientfic Advisor ของบริษัท บริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ ฟาร์มา (ประเทศไทย)

ภาพดร.เอกพล เมธารมณ์ ที่ปรึกษาทางด้านยามะเร็งและไวรัสตับอักเสบ ในตำแหน่ง Senior Seientfic Advisor ของบริษัท บริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ ฟาร์มา (ประเทศไทย)

วันหยุดสุดสัปดาห์หากใครยังพะวงกับงานหนักที่ต้องพบเจอในอีก 2 วันข้างหน้า นั่นอาจเป็นภาวะของการติดอยู่ในกรอบเดิมๆ ของชีวิต เป็นความจำเจที่พบเห็นได้บ่อยในชีวิตเหล่ามนุษย์เงินเดือน หากลุกขึ้นฉีกกรอบออกมาทำกิจกรรมที่แตกต่างบ้าง จะเห็นชีวิตอีกด้านหนึ่งจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจให้ตัวเองได้อย่างไม่คาดคิด

 ยกตัวอย่างจากหนึ่งกิจกรรมของหนุ่มนักคิด “โบว์ลิ่ง” ดร.เอกพล เมธารมณ์  ที่ปรึกษาทางด้านยามะเร็งและไวรัสตับอักเสบ ในตำแหน่ง Senior Scientific Advisor ของ บริษัท บริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ในวัย 36 ปี ที่ใช้วิธีเคลียร์ความคิด ปลดปล่อยความเครียดด้วยการปั่นจักรยานทางไกลแบบสุดแรงในทุกสุดสัปดาห์ เมื่อได้จังหวะว่างจึงได้พูดคุยกับเจ้าตัวที่มาพร้อมจักรยานคู่ใจ ขับเข้ามาในบรรยากาศร่มรื่นของสวนหย่อมกรมประชาสัมพันธ์ใกล้ๆ กับที่พักส่วนตัว และพร้อมบอกเล่าถึงความรักการปั่นจักรยานที่ปักใจจริงจังมาร่วม 13 ปีแล้ว

“การปั่นจักรยานมีรุ่นพี่ชักชวนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนนั้นกีฬาจักรยานในเมืองไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายเลยครับ เราใส่ชุดขี่จักรยานรัดๆ มีอุปกรณ์เซฟตัวเองครบครันขี่ในเมืองนี่เหมือนตัวประหลาดเลย  ส่วนมากก็ไปเล่นเสือภูเขาในป่าที่เส้นทางค่อนข้างท้าทาย ได้ที่หมายก็เอาจักรยานใส่ท้ายรถไปปั่นเข้าป่า กลายเป็นว่าช่วงวันเสาร์จะเป็นวันที่ตื่นเช้ากว่าวันทำงานมาก ประมาณตี 4 ครึ่ง ผมต้องลุกขึ้นมาเช็คความเรียบร้อย เอาจักรยานขึ้นรถ ขับไป จ.ชลบุรี จ. นครนายก หรือ จ. ระยองกัน ต้นทางก็เตรียมจักรยานแล้วขับไปพร้อมกัน ทุกวันนี้ยังก็ปั่นด้วยกันอยู่เลย แล้วก็พึ่งมาเริ่มมาขี่จักรยานเสือหมอบเมื่อ 2 ปี ให้หลังมานี้ เพราะช่วงหน้าฝนเข้าป่าลำบากเวลาว่างเราก็น้อยลงด้วยเลยหาอะไรที่ใช้เวลาแป๊ปเดียวไปใกล้ๆ กรุงเทพ เช่นที่ จ. พระนครศรีอยุธยา เป็นเส้นถนนที่รถน้อยแต่ได้ออกกำลังเต็มที่ จบได้ 100-120 กิโลเมตร ในเวลา 3 ชั่วโมง ก็มีเวลาให้เราทำอะไรได้อีกทั้งวัน” ดร. หนุ่มเล่าถึงความชอบ

เมื่อเล่าถึงเส้นทางที่ประทับใจนักปั่นคนเก่งก็บอกว่าเมื่อก่อนชอบไปที่ จ.เชียงใหม่ ทุกปลายปี ปั่นขึ้นดอย ลงพักที่ลำห้วย ลุยกันไปเรื่อยๆ ปัจจุบันกำลังหลงไหลเส้นทางใน จ.ชลบุรี มากที่สุดเพราะยังเป็นถนนที่รถน้อย มีภูเขาเยอะขับรถไปประมาณ 45 นาที ก็มีทางสะดวกได้ออกกำลังขาเต็มที่

ภาพดร.เอกพล เมธารมณ์ กับจักรยานคู่ใจ

ภาพดร.เอกพล เมธารมณ์ กับจักรยานคู่ใจ

 “เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ลงแข่งแล้วครับ จะเล่นเพื่อสุขภาพและคลายเครียดด้วยเพราะเราทำงานหนักมาทั้งอาทิตย์  โดยเนื้องาน 5 วันต่อสัปดาห์ อยู่วิชาการวันละ 8-9 ชั่วโมง ใช้ความคิดมากเจอคนก็เยอะ เลยต้องจัดสรรให้เวลาตัวเองบ้าง ผมรู้สึกว่าเวลาปั่นจักรยานเราใช้สมาธิสูง ในหัวจะว่างเปล่าเหมือนการเอาความคิดออกมาจากการงาน เรื่องอื่นๆ ก็หายไปหมดเลยรู้แต่จุดหมายอย่างเดียว แล้วก็สนุกที่มีความท้าทายเสมอเวลาไปทางยากๆ เราพลาดมาก็เยอะนะกลับมาสะบักสะบอม เลือดซิบ เกือบตกเขาไปก็มี แต่ทำให้มีแรงพัฒนาตัวเอง กลับมานั่งคิดสอบถามคนที่เขาเก่งกว่าหาข้อบกพร่อง ฝึกซ้อมแล้วกลับไปปั่นใหม่ตามร่องไม้ ร่องน้ำ ร่องหิน ที่เคยพลาดมา” นับเป็นความท้าทายอีกด้านที่ทำให้ หลุดจากความคิดเดิมๆ ได้ถึงที่สุด

เพราะเริ่มต้นเล่นกีฬาด้วยการเล่นเทนนิสมาตั้งแต่เด็ก  ตามมาด้วยการตีกอล์ฟซึ่งเป็นกีฬาของครอบครัวที่คุณพ่อไผท และคุณแม่ศิริเพ็ญ เมธารมณ์ พาไปเล่นมากว่าพาเข้าโรงเรียนพิเศษเสียอีก จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ เจ้าตัวมีการออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันนอกจากปั่นจักรยานหนุ่มคนนี้ก็ต้องเข้าฟิตเนสอาทิตย์ละ 4-5 วัน เพื่อบริหารกล้ามเนื้อส่วนขาแล้วก็หลัง เพื่อการปั่นเสือภูเขาให้การทรงตัวดีขึ้น

   “ในเส้นทางยากๆ ผมจะติดกล้องไว้ที่หมวกเสร็จแล้วก็อัพวีดีโอแชร์ไว้ในเว็บยูทูป ชื่อ gemcis1 ไว้อยู่หลายที่ สังเกตได้ว่าต้องใช้สมาธิและกำลังควบคุมเส้นทางสูงมาก บางทีก็ทั้งเหนื่อยทั้งร้อนแต่ผมสนุก ได้ผ่อนคลายพัฒนาจิตใจของเราด้วย เวลาที่ทำงานเหนื่อย รู้สึกท้อแท้พอกลับมาคิดว่า ครั้งหนึ่งเราเคยปั่นจักรยานขึ้นเขาได้โดยขาไม่แตะพื้นเลยนะ เหนื่อยจะตาย ปอดจะหลุดออกมาข้างนอกตัองไล่งับอากาศก็แล้ว แต่เราก็ขึ้นไปถึงจนได้ หันกลับมาดูงานที่ว่าหนักๆ ก็คิดเลยว่าทำไมปั่นจักรยานขนาดนั้นเรายังทำได้เลย งานแค่นี้เราจะท้อแล้วเหรอ เท่านี้ก็ลุกมาลุยงานต่อได้สบาย” ประโยชน์ที่นำมาปรับใช้ในหน้าที่ของหนุ่มโบว์ลิ่ง

ภาพคุณเอกพล เมธารมณ์ กับการปั่นจักรยาน

ภาพคุณเอกพล เมธารมณ์ กับการปั่นจักรยาน

พูดถึงกระแสการปั่นจักรยานที่มาแรงในตอนนี้ นักปั่นมากประสบการณ์แนะนำคนที่สนใจ ว่ากีฬาชนิดนี้ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะนิยมการปั่นประเภทไหน ควรใส่หมวกกันน็อคอยู่เสมอเพราะอันตรายเกิดขึ้นได้เสมอ  รองลงมาคือหารูปแบบการปั่นที่เหมาะสม และต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ

“ผมไม่ได้สะสมจักรยานหลายๆคัน แต่จะคอยอัพเดทเรื่องอะไหล่มากว่า เพราะผมเน้นขี่แบบสมบุกสมบันและความเร็ว เราจึงต้องเลือกจักรยานและอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดของอุปกรณ์ในขณะที่ปั่น อย่างตอนนี้ก็มีงาน แบงค็อก ไบต์ 2 ที่เมืองทองธานี ผมไปดูเห็นเลยว่าวงการนี้กว้างขึ้นมากทั้งสังคมและเทคโนโลยี  เราสามารถเริ่มต้นกีฬานี้ได้ง่ายๆ แค่ไปศึกษาดูว่าเราชอบขี่แบบไหนขี่เพื่อแข่งขัน เพื่อสุขภาพ ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเชิงท่องเที่ยว มองหาชมรมที่เหมาะกับตัวเองแล้วออกเดินทาง” ดร.โบว์ลิ่ง แนะนำ

ทิ้งท้ายด้วยว่ามิตรภาพของคนปั่นจักรยานหาได้ไม่ยาก ปัจจุบันมีชมรมนักปั่นตามจังหวัดไปถึงชุมชน และหมู่บ้าน ให้เข้าไปศึกษาและร่วมเดินทาง เจ้าตัวยิ้มพร้อมยกตัวอย่างถึงทีมตัวเองที่ชื่อ ไลฟ์ แอนด์ ลิฟวิ่ง ไบค์เน็ท ว่าเวลาออกทริปแต่ละครั้งมีนักปั่นประมาณ 20-30 คน ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหนพออยู่บนอานจักรยานทุกคนเหมือนกันหมด ทักทายคุยกันปรึกษาเพื่อพัฒนาฝีมือกันได้ ท้ายก็สุดอยู่ที่เราจะพัฒนาตัวเองได้แค่ไหนเท่านั้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2556 หน้า 19

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.