ศิริราชให้ความรู้มะเร็งเต้านม “แองเจลิน่า โจลี่” ไทยสามารถตรวจ DNA หาความเสี่ยงโรคนี้ได้
จากที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก “แองเจลิน่า โจลี่” ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง เพราะพบความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในอนาคต กลุ่มมะเร็งเต้านม สถาบันวิทยามะเร็งศิริราช จึงจับมือกับสาขาวิชาศัลยศาสตร์ศีรษะ – คอและเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์พยาบาล เป็นเสือปืนไวใช้เหตุการณ์ฮอตดังกล่าว เพื่อให้ความรู้แก่คนไทย ด้วยการจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การตรวจเพื่อทำนายมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่แนวทางการดูแล บทเรียนจากแองเจลิน่า โจลี่” ที่ห้องประชุมอทิตยาทรกิตติคุณ ตึกสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเร็วๆนี้
ศ.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ กล่าวเริ่มต้นว่า จากข่าวนี้ก่อให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก รวมทั้งหญิงไทย ในประเทศไทยพันธุกรรมมะเร็งนี้ดูได้ง่าย จากการพบผู้ป่วยมะเร็งที่อายุน้อยกว่าคนทั่วไป เช่น เกิดมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อยกว่า 50 ปี หรือพบว่ามีผู้เป็นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง , การพบมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่คนเดียวกัน และการมีประวัติการเป็นมะเร็งดังกล่าวหลายคนในครอบครัว ส่วนโรคพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุสำคัญที่พบบ่อย มีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ชื่อ บีอาร์ซีเอ 1 และบีอาร์ซีเอ 2 ซึ่งผู้ที่ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนทั้ง 2 นี้จะมีเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งไข่ และความเสี่ยงจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้นคือผู้หญิงที่มีการกลายพันธุ์จะมีโอกาสสูงถึงร้อยละ 80 ที่จ้ะกิดมะเร็งเต้านมในช่วงหนึ่งของชีวิต และมีโอกาสเกิดมะเร็งไข่ ประมาณร้อยละ 50
ด้าน ผศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร กล่าวว่า คนที่เป็นโรคมะเร็งพันธุกรรม ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับโรคมะเร็ง แต่หมายถึงร่างกายมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคนทั่วๆไป ถ้าเรารู้ก่อนก็จะทำให้เรามีการเฝ้าระวัง คือต้องดูแลตัวเองให้ลดความเสี่ยง อย่างกรณี “แองเจลิน่า โจลี่” ตรวจเมื่อเขาสงสัยว่าจะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งเธอมีความเสี่ยงสูง จึงผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยง การตรวจเลือด หรือDNA เพื่อหาความเสี่ยงโรคนี้ โรงพยาบาลศิริราชเราได้ทำแล้วหลายปีที่ผ่านมารมีประมาณ 60 ครอบครัว แต่มีค่าใช้จ่ายสูง มีความซับซ้อนซึ่งใช้เวลา 4-6 เดือน ซึ่งอุบัติการณ์ในประเทศไทยมีจำนวนไม่มาก เท่ากับต่างชาติ เราพบการกลายพันธุ์ของยีน 4 ครอบครัวใน 60 ครอบครัวที่มารับการตรวจ
ส่วน นพ.วิษณุ โล่สิริวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันการผ่าตัดเต้านม ไม่เสียรูปลักษณ์เต้านมอีกต่อไป เพราะสามารถทำการผ่าตัดเฉพาะเนื้อเต้านมออกไป และเก็บส่วนผิวหนัง หัวนม และลานหัวนมไว้ เพื่อทำการเสริมเต้านมในการผ่าตัดครั้งเดียวกันได้ หรือจะผ่าตัดเสริมทีหลังก็ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งการผ่าตัดสามารถใช้ได้ทั้งที่เป็นเนื้อเยื่อขิงตนเองหรือใช้เต้านมเทียม และการเสริมเต้านมนี้ไม่มีผลต่อการเกิดเป็นซ้ำ เพียงแต่การตรวจติดตามผล อาจจะแตกต่างจากคนทั่วไปเท่านั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2556 หน้า 24