“มช” พบตัวช่วยเลิกบุหรี่ สมุนไพรหญ้าหมอน้อย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ศจย.และ สสส.ร่วมกันหาวิธีช่วยผู้เลิกบุหรี่ พบผล วิจัยสมุนไพรหญ้าดอกขาวหรือหญ้าหมอน้อย ร่วมกับการออกกำลังกาย ช่วยลดการสูบได้เกือบร้อยละ 80 โดยไม่มีอาการข้างเคียง แถมลดความเครียด ลดก๊าซในลมหายใจ
ดร.ดลรวี ลีลารุ่งระยับ อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก และบุหรี่ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคร้ายต่างๆ โดยขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 9.4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาย 95.6% และหญิง 4.4% ในกลุ่มผู้สูบเหล่านี้เคยคิดจะเลิกสูบบุหรี่ 27.7% และเคยพยายามเลิกอย่างน้อย 1 ครั้ง 6.3% ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ จะสามารถช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้
ดร.ดลรวี กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ 1.2 % นิยมใช้บริการคลินิกอดบุหรี่ ซึ่งมีการใช้พฤติกรรมบำบัดประกอบกับการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ ทั้งในรูปของสารทดแทนนิโคติน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำการวิจัยสมุนไพรที่ช่วยให้ลดการสูบบุหรี่ และพบว่า สมุนไพรหญ้าดอกขาว หรือ สมุนไพรหญ้าหมอน้อย สามารถช่วยทำให้ลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ดี โดยไม่มีอาการข้างเคียงแต่อย่างใด ช่วยให้ระดับของก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ในลมหายใจลดลงได้
“จากการทดลองในกลุ่มที่ใช้สมุนไพรหญ้าหมอน้อย จำนวน 50 ราย ร่วมกับการออกกำลังกาย เป็นเวลา 2 เดือน พบว่า สามารถช่วยลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงได้มากถึง 62.7 % และหากใช้ยาเป็นเวลา 6 เดือน จะช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ถึง 73.3% ซึ่งมีผลทำให้ระดับความเครียดลดลงได้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว และกลุ่มได้รับหญ้าหมอน้อยเพียงอย่างเดียว” ดร.ดลรวี กล่าว
ด้าน ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ในตำรับแพทย์แผนไทย ระบุว่า หญ้าหมอน้อย สามารถช่วยลดจำนวนการสูบบุหรี่และเลิกสูบบุหรี่ลงได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการศึกษาที่จริงจัง ดังนั้นการทดลองใช้สมุนไพรหญ้าหมอน้อยในครั้งนี้ จึงสามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1. ยาเคี่ยว ที่ใช้หมอดิน โดยใช้สมุนไพรหญ้าหมอน้อยที่มีดอกลักษณะดอกตูม 1 ส่วน ต่อน้ำ 3 ส่วนและเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ก่อนดื่มเมื่อมีอาการอยากบุหรี่ 2.ชา ชงกับน้ำร้อน ดื่มหลังอาหาร 3 มื้อ ซึ่งวิธีเหล่านี้จึงเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ด้วยการใช้ยาสมุนไพร และสามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า — อาทิตย์ที่ 18 เมษายน 2553