Select Page

เด็กเก่ง “โคราช” โชว์กึ๋นคว้ารางวัล คิด “เกม” สร้างสรรค์

เด็กเก่ง “โคราช” โชว์กึ๋นคว้ารางวัล คิด “เกม” สร้างสรรค์

ทีมพัฒนาค้นคว้าวิจัยโปรแกรมซอฟต์แวร์จากเยาวชนเมือง “โคราช” ภายใต้ชื่อผลงาน “Crystaxis” ได้รับรางวัลไทยแลนด์ ไอซีที อวอร์ด 2009 และยังคว้ารางวัลรองชนะเลิศในงานประกวดระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards เมื่อเร็วๆ นี้

          นายธนานนท์ ปฏิญญาศักดิ์กุล อายุ 18 ปี นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นครราชสีมา (มทส.) หนึ่งในทีมพัฒนาค้นคว้าวิจัยโปรแกรมซอฟต์แวร์ชื่อเกม “ผลึกผนึกมาร Crystaxis” ร่วมกับ น.ส.มธุภาณี อุ่นศิวิไลย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสุรนารีวิทยาให้สัมภาษณ์ภายหลังผลงานชุดดังกล่าวได้รับรางวัลไทยแลนด์ ไอซีที อวอร์ด 2009 จากสำนักงานส่งเสริมอุตสหากรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า และได้รับทุนอุดหนุน โครงการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม โครงการแข่งพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11

          นอกจากนี้แล้วผลงาน “Crystaxis” ของทีมงานนายธนานนท์ยังคว้ารางวัลรองชนะเลิศในงานประกวดระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards เมื่อเร็วๆ นี้

          “..ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เติบโต

          – ก้าวหน้าไปมาก ประเทศหลายประเทศในโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีด้านความบันเทิง ทำให้ซอฟต์แวร์ที่ให้ความบันเทิงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และมีอิทธิพลต่อวงการบันเทิงมากขึ้น เกมเป็นซอฟต์แวร์ที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้เล่น ที่ประกอบไปด้วยสีสันความสนุกสนาน และความรู้ สื่อประเภทเกม จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนมากกว่า

          สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประเภทอื่น ซอฟต์แวร์ประเภทเกมนี้มักได้รับคำติเตียนจากสื่อต่างๆ ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เยาวชนไม่ตั้งใจในการเรียนหนังสือ ทีมพัฒนาจึงคิดว่าเกมไม่ได้สร้างแต่ความรุนแรงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ได้ จึงจัดทำเกมประเภทที่ทำให้ผู้เล่นได้ฝึกทักษะการคิด แก้ปัญหา ให้ผู้เล่นเกิดความผ่อนคลาย และสร้างความสนุกสนานในหมู่เพื่อนได้ จึงร่วมกันสร้างเกมผลึกผนึกมารคือผลของความคิดริเริ่มการพัฒนาโครงการซอฟต์แวร์ เพื่อความบันเทิง นำเสนอในรูปแบบของเกมเทิร์น-เบส อาร์พีจี (Role Playing Game) 3 มิติ ผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นตัวละครภายในเกม ต้องแก้ปริศนา และต่อสู้ไปพร้อมๆ กับตัวละคร

          ระบบฉากต่อสู้นั้นเป็นแบบเทิร์น-เบส (Turn-Base) หมายถึงผลัดกันเล่น โดยจะสามารถบังคับตัวละครได้ 1 ตัว ต่อ 1 รอบสลับกันไป จะทำให้ผู้เล่นคิดวางแผน และแก้ปัญหาต่างๆ มีระบบเควสต์ (Quest) ทำให้ผู้เล่นเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่องของเกมและท้ายสุดคือมีการสอดแทรกวัฒนธรรมไทยไว้ในตัวเกม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ระบบ interface และฉากต่างๆ “ผลึกผนึกมาร” พัฒนาด้วยภาษาซี (C++) โดยไมโครซอฟต์ วิซวล ซี (Microsoft Visual C++) ร่วมกับชุดคำสั่งไดเร็ค เอ็กซ์ เอสดีเค (DirectX SDK) และ Irrlicth Engine เป็นกราฟฟิกเอนจิ้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และเป็นโอเพ่นซอร์ส ด้านกราฟิกใช้งาน Adobe photoshop CS3 ร่วมกับ 3DStudioMax8 และได้ใช้ Sony SoundForge ในการตัดต่อเสียงที่นำมาใช้ในเกม

          สำหรับการจัดทำโปรแกรมเกมผลึกผนึกมารครั้งนี้ กลุ่มพัฒนาได้รับความอนุเคราะห์จากนายพิพนธ์ สมัครค้า อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานของทีมช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ในการพัฒนาโปรแกรม นอกจากนี้ ทีมพัฒนายังได้รับการช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การวางรายละเอียดโครงเรื่อง การออกแบบระบบต่างๆ รวมถึงงานสร้างสรรค์ จาก น.ส.มธุภาณี อุ่นศิวิไลย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสุรนารีวิทยา ส่วนข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ได้รับจากผู้ปกครองของทีมพัฒนา และคณาจารย์โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยทุกคน…”

ที่มา : นสพ. มติชนวันที่ 25 ก.พ. 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.