Select Page

มายาแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์ก วันนี้คุณกด”like”หรือยัง

มายาแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์ก วันนี้คุณกด”like”หรือยัง

โซเชียลเน็ตเวิร์กโดยทั่วๆ ไปจะมีไอคอนให้กดสำหรับบอกความรู้สึกต่อเนื้อหาที่มีคนโพสต์หรือความเห็นต่อ ท้ายโพสต์ว่าชอบหรือไม่ชอบ ที่คุ้นๆ กันหน่อยก็คือปุ่ม”like” ของเฟซบุ๊ก ซึ่งโดยทั่วๆ ไปมักจะคิดว่าเป็นตัวชี้วัดความนิยมแบบหนึ่ง อย่างที่เราเห็นจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่มักจะอาศัยจำนวนการกดไลค์ในเฟซบุ๊กประกอบ เช่น “…แค่วันเดียวจำนวนคนกดไลค์พุ่ง 20,000 ไลค์” แบบนี้ เป็นต้น

ภาพสัญลักษณ์กดไลท์ หรือถูกใจในเฟซบุ๊ค โซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก

ภาพสัญลักษณ์กดไลท์ หรือถูกใจในเฟซบุ๊ค โซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก

ปุ่มไลค์ในเฟซบุ๊กถ้าตีความตามตัวอักษรเป๊ะๆ เราจะพบว่ามันเป็นเรื่องประหลาดมากที่หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่น่ามีคนมากดไลค์ เช่น เรื่องเศร้า โศกนาฏกรรม อะไรทำนองนี้ ยกตัวอย่าง เช่น มีคนโพสต์ว่าญาติพ่อแม่พี่น้องเสียชีวิต เพื่อนพ้องก็มากดไลค์กันใหญ่?

ขืนแปลตามความหมายตายตัวของคำว่าไลค์คงตีกันตายไม่เลิก

สำหรับคนใช้เฟซบุ๊กปุ่ม “like” ไม่ได้หมายถึงชอบเสมอไป มันมีความหมายอื่นๆ ด้วยในการกด เช่น รับทราบ โอเค เข้าใจ รู้แล้ว เป็นต้น หรือที่มีความหมายแฝงไกลไปกว่ากว่านั้นก็คือการกดไลค์ด้วยความชอบพอคนที่โพสต์หรือแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าคนนั้นจะโพสต์อะไรตามกดไลค์ดะไปทุกที?

นอกจากนั้นยังมีแบบกดไลค์ส่งเดชโดยไม่ได้จริงจังอะไรกับเนื้อหา เผลอๆ ไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ?

อีกแบบหนึ่งคือกดไลค์ตามเพื่อนหรือตามแห่ แบบพอเห็นมีคนกดไลค์ก็กดตามมั่ง เป็นแบบที่เรียกกันว่าพฤติกรรมสัตว์ฝูง ?

 

ภาพหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊ค สังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก

ภาพหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊ค สังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสารไซเอนทิสต์เมื่อเร็วๆ นี้ ยืนยันถึงพฤติกรรมการกดไลค์แบบตามแห่ ทีมวิจัยทดสอบผ่านเว็บไซต์ที่ไม่เปิดเผยชื่อ และเปิดให้มีการกดชอบหรือไม่ชอบสำหรับความคิดเห็นท้ายโพสต์หรือที่เรียกทับศัพท์โดยทั่วไปว่าคอมเมนต์ โดยผลการวิจัยพบว่าการกดไลค์หรือชอบนั้นมีผลให้เกิดพฤติกรรมแบบสัตว์ฝูงตาม มาในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญค่อนข้างมาก กล่าวคือหากมีคอมเมนต์แรกในทางที่เป็นบวก ปฏิกิริยาตอบสนองในการกดมีแนวโน้มจะเป็นไปในทางบวกตามมาค่อนข้างมาก มากกว่าคอมเมนต์ต์ที่เป็นไปในทางลบถึงสองเท่า

 

งานวิจัยชิ้นที่ว่านี้บอกเราอย่างหนึ่งว่าการใช้สถิติหรือจำนวนของการกดไลค์เป็นตัวชี้วัดนั้น อาจจะไม่สามารถวัดได้อย่างแท้จริง เนื่องจากเกิดพฤติกรรมแบบสัตว์ฝูงขึ้น

ฝูงชนซึ่งมีพฤติกรรมตามแห่ในโลกออนไลน์อาจจะไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของคนในโลกออนไลน์

ทุกวันนี้บ่อยครั้งที่เราจะเห็นการพยายามอ่านอารมณ์ของสังคมจากโลกออนไลน์ ตีขลุมแบบง่ายๆ ว่ามันสะท้อนสังคมจริงๆ แต่ความจริงแล้วมันสะท้อนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ตรงข้ามกลับมีหลายส่วนที่เป็นภาพสะท้อนที่บิดเบือนไปจากความจริงที่ดำรงอยู่

โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นสื่อกลางที่แพร่หลาย และแพร่ลามไปได้อย่างรวดเร็ว มันถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารถ่ายทอดเรื่องราว โฆษณาประชาสัมพันธ์ ผลักดันกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง ฯลฯ?

ภาพสัญลักษณ์เฟซบุ๊ค

ภาพสัญลักษณ์เฟซบุ๊ค

 

ยิ่งด้านการเมืองด้วยแล้วอ่านรหัสผิดคว่ำข้าวเม่าไม่เป็นท่าได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ได้เลย เพียงแต่ควรใช้อย่างรู้เท่าทันในธรรมชาติของมัน และมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่แท้จริงมากกว่าเพียงแค่การคิดเอาเองจากปรากฏการณ์ภายนอกที่ผิวเผิน

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2556 หน้า 6

 

 

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.