Select Page

ผ่าตัดเปลี่ยน ‘เส้นเลือดเทียม’ รักษา..หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง

ผ่าตัดเปลี่ยน ‘เส้นเลือดเทียม’ รักษา..หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง

กว่า 7 ชั่วโมง ที่ “ฤทธิไกร จิตติวรรณ” ผู้ป่วยโรคหัวใจขั้นวิกฤติ วัย 63 ปี ต้องรอลุ้นนาทีชีวิตที่เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ จากโรคหลอดเลือดหัวใจโป่งพองในช่องท้อง ที่แตกต่างจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่สามารถรักษาได้ด้วยการทำบอลลูนหรือบายพาส แต่สำหรับอาการของหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ทุกนาทีมีความเสี่ยง และโอกาสรอดชีวิตของ ผู้ป่วยก็มีไม่ถึง 50%

ภาพหัวใจมนุษย์

ภาพหัวใจมนุษย์

นพ.โชคชัย สุวรรณกิจบริหาร ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เล่าให้ฟังว่า ตัดสินใจรักษาคนไข้รายนี้ในทันทีที่มาถึงโรงพยาบาล โดยคนไข้มาด้วยอาการช็อกหมดสติ อีกทั้งมีภาวะหัวใจผิดปกติถึง 2 ประเภท คือ มีอาการของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบด้วย “วิธีการรักษาโรคหัวใจทั้ง 2 ประเภทนี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบจะใช้วิธีการผ่าตัดบายพาส หรือทำบอลลูนขยายหลอดเลือด เพื่อทำให้เส้นเลือดที่ตีบสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ส่วนการรักษาเส้นเลือดโป่งพองนั้น ต้องผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดเทียมเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดแตกและเสียชีวิต” คุณหมอโชคชัยบอก แต่สิ่งที่เป็นความเสี่ยงที่สุดก็คือ การรักษาโรคหัวใจทั้ง 2 ภาวะไม่สามารถทำพร้อมกันได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต!

แม้โอกาสจะมีไม่ถึง 50% แต่ทีมแพทย์ก็ตัดสินใจที่จะใช้ 30-40% ที่เหลือเพื่อช่วยชีวิตคนไข้ โดยเริ่มจากการแก้ไขในจุดวิกฤติที่หลอดเลือดแดงที่โป่งพองในช่องท้องขนาด 7-8 เซนติเมตร โดยใช้วิธีการผ่าตัดเปิดแผลด้านข้างลำตัวก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการทำงานของลำไส้ที่อาจจะทำให้ผู้ป่วยทานอาหารได้ลำบากหลังจากฟื้นตัวจากการผ่าตัด

 

ภาพเชิญชวนคนมาตรวจหัวใจ

ภาพเชิญชวนคนมาตรวจหัวใจ

คุณหมอโชคชัย บอกว่า ปฏิบัติการในการผ่าตัดครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง เป็น 7 ชั่วโมงที่ทีมซึ่งมีทั้งศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ รังสีแพทย์ ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในทุกๆวินาที โชคดีอีกอย่างก็คือ การมีเครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วย ทำให้ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ โดยได้ใส่เส้นเลือดเทียมเพื่อแก้ปัญหาบริเวณเส้นเลือดที่เคยโป่งพองให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง และนัดให้คนไข้มาพบในอีก 3 เดือนหลังการผ่าตัดเพื่อรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบ “กรณีของคนไข้รายนี้ บอกตามตรงเลยว่าเป็นภาวะที่วิกฤติและต้องระวังอย่างมากๆเป็นพิเศษ เนื่องจากการรักษาเส้นเลือดแดงที่โป่งพองในช่องท้อง อาจส่งผลกระทบถึงการทำงานของหัวใจ เนื่องจากมีหลอดเลือดแดงเลี้ยงหัวใจที่ตีบตันอยู่ด้วยบริเวณหน้าอกใกล้กับหัวใจ ซึ่งหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น โอกาสที่คนไข้จะเสียชีวิตก็มีมาก เราจึงต้องวางแผนการรักษาและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดทุกนาที ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า สุดท้ายเราก็สามารถช่วยผู้ป่วยรายนี้ได้สำเร็จ” หลังการผ่าตัด ฤทธิไกร จิตติวรรณ ผู้ป่วยโรคหัวใจขั้นวิกฤติ บอกว่า รู้สึกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ตอนที่ฟื้นหลังผ่าตัด ขาข้างขวาของ เขาไม่มีแรง เขานึกว่าคงเดินไม่ได้ หรือไม่ก็เป็นอัมพาตไปแล้ว แต่พอผ่านไป 3 วัน แรงที่ขาก็ค่อยๆกลับมาจนเดินได้เหมือนปกติ แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจะยืนยันว่า โรคหัวใจที่เขาเป็นมีความซับซ้อน และไม่สามารถรักษาให้หายได้ หลังจากนี้เขายังต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งยังคงมีจุดที่เส้นเลือดหัวใจตีบถึง 3 จุด

 

ภาพหัวใจมนุษย์

ภาพหัวใจมนุษย์

สำหรับอาการของ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm) มีตั้งแต่ไม่มีอาการใดๆ แต่อาจจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการเอกซเรย์ทรวงอก หรือคลำก้อนเต้นได้ในช่องท้อง ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอก อาจมีอาการจากการกดเบียดของหลอดเลือดต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กดหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก กดเบียดหลอดอาหารทำให้กลืนลำบาก กดเบียดเส้นประสาทที่เลี้ยงกล่องเสียง ทำให้เสียงแหบ ถ้ามีอาการแน่นอก ปวดหลัง หน้ามืดหมดสติ หรือไอเป็นเลือด อาจบ่งชี้ว่ามีการปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ได้ หลอดเลือดแดงใหญ่เป็นท่อนำเลือดแดงจากหัวใจไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย โดยเริ่มต้นจากขั้วหัวใจขึ้นไปยังยอดอกแล้วทอดโค้งไปด้านหลัง เคียงข้างกระดูกสันหลังในช่องอก ผ่านกระบังลมเข้าไปยังช่องท้อง ก่อนจะแยกเป็นแขนงหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา 2 ข้าง และอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ความสำคัญของหลอดเลือดแดงใหญ่คือ นำเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง ประสาทไขสันหลัง แขน ขา และอวัยวะในช่องท้อง ได้แก่ ตับ ไต ลำไส้ ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงใหญ่ย่อมส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนต่างๆตามมาด้วย โรคนี้ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ หรือเป็นผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว อาจมีอาการของโรคหลอดเลือดตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ผู้สูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี ควรมีการตรวจประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจ การตรวจคลื่นหัวใจ EKG การตรวจหลอดเลือดที่คอ (Carotid) หาความเสี่ยงที่จะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หากพบความผิดปกติจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม 2555 หน้า 7

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.