Select Page

‘โรคร้าย’ ปี 53 เชื้อโรคพันธุ์ไม่เคยตาย!!!

‘โรคร้าย’ ปี 53 เชื้อโรคพันธุ์ไม่เคยตาย!!!

ในปี 2553 ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงเป็นเรื่องที่ผู้คนกังวลมากที่สุด ตามความคาดการณ์อาจกลับมาระบาดซ้ำได้อีกในรอบสอง และอาจระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีภูมิอากาศเหมาะสม โดยจะมีการระบาดในพื้นที่ต่างๆคาดว่าการระบาดของโรคจะไม่รุนแรงและลดลง เนื่องจากคนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น แต่จะยกเว้นในกรณีที่ไวรัสกลายพันธุ์..”

 “อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสิรฐ” เป็นความปรารถนาสูงสุดของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย

          โดยเฉพาะยิ่งมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ “เชื้อโรค” ก็เป็นอีกสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยจากการถูกกำจัด จะเห็นได้ว่าจากปีที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะในปี 2552 ประเทศของเราได้เผชิญกับภัยโรคระบาดมาอย่างต่อเนื่อง

          ที่ทำให้คนไทยใจหายใจคว่ำอย่าง “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” “โรคชิคุนกุนย่า” หรือเรียกว่า “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” ที่เคยแพร่ระบาดทางภาคใต้ หรือแม้กระทั่งโรคที่เราคุ้นหูอย่าง ไข้เลือดออก หรือ โรคเอดส์ ที่ผู้ป่วย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ

          จากสถานการณ์ของโรคต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นบวกกับสภาพความไม่ปกติของโลก ทำให้ในปีที่ผ่านมา คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกหวาดหวั่นกับควาไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตของตนเองและคนใกล้ชิด บางรายกลายเป็นความตื่นตระหนกจนเกินเหตุ ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตและสภาพจิตใจตามไปด้วย

          อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์โรคระบาดในประเทศจะชะลอความรุนแรงลงไปบ้าง แต่ในปี 2553 “โรค” ก็ยังเป็นประเด็นที่คนไทยให้ความสนใจและจับตามองถึงแนวโน้ม และความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

          ดังนั้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการเตรียมรับมือกับโรคต่างๆ อย่างถูกต้องและเหมาะสม นักวิชาการทางการแพทย์จึงได้ให้ทรรศนะถึงแนวโน้มโรคที่ควรเฝ้าระวังในปี 2553 รวมถึงในอนาคต

          เริ่มจาก ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นถึงโรคที่คนจับตามากเป็นพิเศษในปัจจุบันว่า มีหลายโรคที่คนให้ความสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดจาก “เชื้อไวรัส” ที่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่…

          โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งจะมองถึงประเด็นความเป็นไปได้ในการกลายพันธุ์ และการกลับมาระบาดอีกระลอกสอง

          โรคซาร์ส ที่เคยเกิดในประเทศจีน และถึงแม้จะสงบลงไปแล้ว แต่ก็มีคำถาม ว่า “จะกลับมาอีกครั้งหรือไม่?” รวมถึง “โรคไข้สมองอักเสบ” ที่มีการประเมินถึงโอกาสในการเกิดโรคอีก

          ส่วนโรคที่น่าเป็นห่วงในปี 2553 “คุณหมอนรินทร์” ให้ความคิดเห็นว่าน่าจะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่…

          “โรคไข้สมองอักเสบ ซึ่งมีความเสี่ยงในกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์, โรคไข้เลือดออก, โรคชิคุนกุนย่า, โรคมือเท้าปาก (เอนเทอโรไวรัส 71) ที่อาจจะกลับมาอีกครั้ง, โรคมาลาเรีย ที่ยังห่วงทั้งการดื้อยา และการระบาดในพื้นที่ต่างจังหวัด, รวมทั้งการกลายพันธุ์และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009”

          “สุดท้ายที่อาจจะคาดไม่ถึง คือโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น วัณโรค ยังคงกังวลปัญหาการดื้อยาด้วยเช่นกัน..” เสียงคุณหมอแห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอธิบาย

          ด้านความเป็นไปได้ในการกลายพันธุ์ของ “โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” นั้น คุณหมอนรินทร์ กล่าวว่า การกลายพันธุ์มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เนื่องจากไวรัสเป็นเชื้อที่สามารถกลายพันธุ์ได้ง่ายที่สุด และเมื่อเกิดการกลายพันธุ์จะทำให้มนุษย์ไม่รู้จักและไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อใหม่ แต่ยังไม่สามารถยืนยันถึงเวลาที่แน่นอนได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

          ส่วนเชื้อโรคใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยพบในประเทศไทยและมีโอกาสจะระบาดในบ้านเราได้นั้น คุณหมอยกตัวอย่างได้แก่ เชื้อไวรัสอีโบล่า ซึ่งเป็นไข้เลือดออกที่เคยระบาดอยู่ในแอฟริกา และเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก ยังไม่มียารักษา ส่วนการติดเชื้อชนิดนี้เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับพวกสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยทำให้อาจมีโอกาสเข้ามาในประเทศไทยได้เช่นกัน

          “แต่ในแง่ของโรคติดต่อที่มีผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลก และน่าจับตาว่าปี 2553 จะมีปัญหาเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น โรคเอดส์ โรคมาลาเรีย และโรควัณโรค (ทีบี) ยังเป็นสามโรคที่ครองอันดับในการติดตาม”

          “โดยในประเทศไทย 3 โรคดังกล่าวนี้ ยังคงน่าเป็นห่วง ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ในประเทศมีประมาณ 1 ล้านคน รวมถึงโรคมาลาเรียที่พบการระบาดมากตามชายแดนระหว่างประเทศ และถึงแม้ทั้ง 3 โรคจะมียารักษา แต่อาจเกิดปัญหาการดื้อยาขึ้นในอนาคตได้”

          คุณหมอนรินทร์กล่าวตบท้ายว่า การดื้อยาที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับหลายๆ โรค นับเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมาก จะทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาและทำให้ยาที่ใช้ในปัจจุบันไม่ได้ผล จึงต้องใช้ยาที่มีราคาแพงขึ้น และบางครั้งผลการรักษาก็ไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งในระยะหลังยังพบว่า คนไข้ที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลเกิดการติดเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้นด้วย

          ทางด้าน ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ให้ทรรศนะสอดคล้องกับนายแพทย์นรินทร์ว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงเป็นโรคที่คนให้ความสนใจมากที่สุด และยังชี้ว่าหากภาวะโลกร้อนมีความรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งมีผลทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูง แห้งแล้ง ฝนตกน้อย อาจจะช่วยชะลอโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนย่า ในปี 2553 ได้ รวมถึงโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ควรระวังเป็นพิเศษด้วย

          “ในปี 2553 ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงเป็นเรื่องที่ผู้คนกังวลมากที่สุด ตามความคาดการณ์อาจกลับมาระบาดซ้ำได้อีกในรอบสอง และอาจระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีภูมิอากาศเหมาะสม โดยจะมีการระบาดเป็นหย่อมๆ ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงได้แก่ พื้นที่ที่การระบาดในรอบแรกยังไปไม่ถึง เพราะจะมีผู้คนจำนวนมากที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ส่วนเมืองใหญ่หรือเมืองท่องเที่ยวซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดการระบาดของโรคไปแล้ว คาดว่าการระบาดของโรคจะไม่รุนแรงและลดลง เนื่องจากคนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น แต่จะยกเว้นในกรณีที่ไวรัสกลายพันธุ์..”

          คุณหมอประเสริฐพยากรณ์ต่อไปว่า ตามมาด้วยโรคชิคุนกุนย่า ในปีที่ผ่านมามีการระบาดทางภาคใต้ช่วงปลายฤดูฝน โรคนี้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าในเมืองใหญ่จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า เนื่องจากยุงลายที่เป็นพาหะโรคชิคุนกุนย่าจะเป็นยุงลายสวน ที่มีจำนวนมากตามชนบท ไร่ นา ซึ่งเป็นยุงลายคนละสายพันธุ์กับโรคไข้เลือดออกที่มีจำนวนมากในเมือง

          “แต่ความเป็นจริงแล้วไวรัสชิคุนกุนย่าสามารถติดเชื้อได้จากยุงทั้งสองชนิด แต่จะติดเชื้อในยุงลายสวนได้ดีกว่า ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าความสามารถในการติดเชื้อในยุงลายบ้านจะมากพอที่จะทำให้เกิดการระบาดได้หรือไม่ แต่หากไวรัสมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถติดเชื้อในยุงลายบ้านมากขึ้น และเกิดการระบาดในเมืองใหญ่ได้ดี”

          “จากเท่าที่มีข้อมูลชัดเจน ในรอบที่แล้วจะมีการระบาดช่วงฤดูฝน ตอนปลายเริ่มขยับวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าในปีนี้ถ้าเกิดการระบาดซ้ำ จะขยับขึ้นมาจนใกล้ตัวเรามากขึ้น ดังนั้น เรื่องความเสี่ยงของโรคชิคุนกุนย่าในทางวิชาการเราจึงไม่ได้กังวลเรื่องการกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดเป็นเชื้อที่แตกต่างหรือรุนแรงกว่าเดิมมากนัก แต่ความเสี่ยงที่ยังกังวลคือ การระบาดและการปรับตัวแพร่เชื้อได้ดีขึ้นในสภาพเมือง”

         

        ส่วนความรุนแรงในการระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนย่า นพ.ประเสริฐกล่าวว่า หากปีนี้ภาวะโลกร้อนยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยร้อนและแห้งแล้ง คาดว่า การระบาดที่ติดโดยแมลงเป็นพาหะจะไม่รุนแรง เพราะน้ำฝนถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในแพร่พันธุ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการระบาด เพราะไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดขึ้นและมีคนเสียชีวิตทุกปี ดังนั้น จึงควรเฝ้าระวังเช่นกัน

          แต่โรคที่ควรจะระวังอย่างมากในสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง คุณหมอประเสริฐย้ำว่า ควรจะเป็นโรคที่มากับกรณีนี้โดยอัตโนมัติคือ โรคที่ติดเชื้อในทางเดินอาหาร โรคท้องร่วง ท้องเสียรุนแรง หรือแม้แต่อหิวาตกโรค

          ส่วนทรรศนะของ นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มองถึงแนวโน้มโรคที่ควรเฝ้าระวังในปี 2553 ว่า ภาพรวมโรคในปีนี้ยังมีความผันผวนสูง ขึ้นอยู่กับปัจจัยและแนวโน้มที่มีผลต่อการเกิดโรค

          ได้แก่ 1.ปัจจัยในด้านการเดินทางที่มากขึ้น 2.ปัจจัยด้านภาวะนิเวศวิทยาของสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น ภาวะโรคร้อน ภาวะผู้คนเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ภาวะอุตสาหกรรมต่างๆ 3.ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต เช่น แรงกดดันในการประกอบอาชีพ ความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป 4.ปัจจัยเกี่ยวกับตัวเชื้อโรค ที่มีการปรับตัวเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการดื้อยา และทำให้เป็นปัญหาต่อไป

          นอกจากนี้ นายแพทย์ภาสกรยังได้เพิ่มเติมถึงโรคที่น่าจับตาในปี 2553 อีก ว่า “ไข้หวัดนก” ยังเป็นโรคที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากยังพบมากในหลายๆ ประเทศใกล้ประเทศไทย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมทั้ง “โรคพิษสุนัขบ้า” “โรคโปลิโอ” หรือที่เราเรียกว่า “โรคแขนขาอ่อนเฉียบพลัน” “โรคหัด” “โรคตาแดง” “โรคไข้กาฬหลังแอ่น” ยังเป็นกลุ่มโรคสำคัญที่เกิดขึ้นทุกปี

          ส่วนโรคไม่ติดต่อที่เป็นปัญหาสุขภาพในปี 2553 นั้น ประเด็นหลักจะเป็นเรื่อง อุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคที่น่าจะเพิ่มขึ้นช้าๆ อย่างต่อเนื่องคือ โรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรม เช่น โรคสูบบุหรี่ โรคใช้แอลกอฮอล์ และความเครียดที่เกี่ยวกับภาวะจิต เช่น ฆ่าตัวตาย ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโรคเบาหวาน ความดัน ไตวาย จะยังเป็นปัญหาต่อไป

          ส่วนโรคที่จะแปรเปลี่ยนได้ตามสภาพขึ้นอยู่กับการช่วยเหลือของสังคมนั้นคือ โรคที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาขยะ น้ำเน่าเสีย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ

          ในด้านป้องกันโรค นพ.ภาสกรกล่าวว่า สุขภาพเป็นของประชาชนทุกคน ดังนั้น จึงควรเริ่มจากตนเองก่อน ด้วยการตื่นตัวในการรับรู้ข่าวสาร เนื่องจากการรักษาต้องเป็นไปอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงกัน ซึ่งมาตรการในการควบคุมโรคก็ยังคงต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ทั่วไป หลักการอุบัติวิทยา หลักการทางสุขาภิบาล และหลักการด้านการรักษาและการป้องกัน

          “เราต้องยอมรับว่าทุกสังคมในโลกมีความเข้มแข็งทางระบบสาธารณสุขไม่เหมือนกัน ซึ่งประเทศไทยก็ยังมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะดีขึ้นมากแล้วก็ตาม แต่เมื่อสภาพสังคมและระบบต่างๆ เปลี่ยนไป เรายังไม่แน่ใจว่าจะรับมือได้ทั้งหมด เป็นเหตุผลที่ทำให้ยังคงมีโรคระบาด หรือภาวะภัยสุขภาพที่รุนแรง

          “สุขภาพเป็นสินทรัพย์ของทุกคน แต่หากสินทรัพย์กลายเป็นหนี้สินคนย่อมลำบาก และหากสินทรัพย์ไม่ดีย่อมกลายเป็นเรื่องยุ่งเช่นกัน” เสียงเตือนเบาๆ ตบท้ายจากคุณหมอภาสกร

          นอกจากปัญหาต่างๆ ที่ต้องเฝ้าติดตามในปี 2553 ไม่ว่าด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปัญหาสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ ก็อย่าละเลย ต้องตรวจเช็คและติดตามเช่นกัน เพื่อความมีสุขภาพดี ชีวีเป็นสุข

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.