Select Page

เรียนรู้ญี่ปุ่น…รับมือภัยพิบัติ ‘หนีรอดเองให้ได้ใน 72ชั่วโมง’

เรียนรู้ญี่ปุ่น…รับมือภัยพิบัติ ‘หนีรอดเองให้ได้ใน 72ชั่วโมง’

   “72 ชั่วโมง” หรือ 3 วันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศญี่ปุ่นกำหนดเพื่อให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองให้อยู่รอดยามเกิดภัยพิบัติ ก่อนที่ความช่วยเหลือของรัฐบาลจะเข้าถึง โดยเฉพาะภัยจากการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งญี่ปุ่นมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่อีก 2 ครั้งบริเวณตอนกลางของเกาะฮอนชูและโตเกียว

ภาพเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล

ภาพเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล

โดยหากช่วยชีวิตตัวเองไม่ได้ใน 72 ชั่วโมงโอกาสรอดชีวิตจะน้อยลง ราว 4 ปีก่อนญี่ปุ่นจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภัยพิบัติ ให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้การป้องกันและช่วยเหลือตัวเองหนีรอดจากแผ่นดินไหว ซึ่งเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นำคณะศึกษาดูงานเรื่องการสื่อสารความเสี่ยงภาวะภัยพิบัติที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติThe Tokyo Rinkai Disaster Prevention Park

มร.ยามาซากิ จูนิชิ ผู้จัดการศูนย์ อธิบายว่า การเรียนรู้ที่ศูนย์จะใช้เกมเป็นสื่อ โดยให้ตอบคำถามตามที่เกมถาม มีให้เลือกเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษ ผู้ที่เหมาะจะเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์แห่งนี้คือคนทุกเพศทุกวัย เพียงแต่ในการเรียนรู้ต้องใช้เกมเป็นสื่อจึงอาจเป็นปัญหาสำหรับเด็กที่อายุน้อยเกินไปที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก เพราะฉะนั้นต้องให้ผู้ปกครองมาด้วย บางครั้งเด็กจะตกใจและกลัว เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และฝึกของผู้ปกครองเรื่องวิธีการดูแลเด็กที่ตกใจช่วงแผ่นดินไหว ทั้งหมดจะแบ่งเป็น 4 โซนเพื่อให้รู้ว่าภายใน 72 ชั่วโมงต้องทำอย่างไรให้รอด ปัจจุบันมีคนเข้าเรียนรู้ปีละ 2-3 แสนคน

ภายหลังผู้เข้าเรียนรู้ได้รับเครื่องเกม จะถูกบอกให้จินตนาการว่าเกิดแผ่นดินไหวในช่วงเช้ามืดของวันหนึ่งท่ามกลางฤดูหนาว ขณะกำลังอยู่บนชั้น 10 ของห้างสรรพสินค้า จากนั้นจะเข้าสู่การเรียนรู้ภายในห้องจำลองเหตุการณ์ที่แบ่งเป็น 4 โซน โซนที่ 1 ช่วงเกิดภัยพิบัติ ฝึกหนีออกจากอาคารขณะเกิดแผ่นดินไหว  โซนที่ 2 การเอาตัวรอด จำลองเหมือนทุกคนหนีออกมาอยู่บนถนน ช็อปปิ้ง มีสิ่งที่เป็นอันตรายอยู่รายรอบตัว จากจุดนี้ให้เริ่มตอบคำถามในเกม เช่น เบอร์ฉุกเฉินขอความช่วยเหลือ เป็นต้น เมื่อตอบครบทุกข้อจะมีคะแนนปรากฏเพื่อบ่งบอกว่าหากประสบภัยจริงเราจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ และมีห้องแสดงอุปกรณ์ยึดเฟอร์นิเจอร์ไม่ให้ล้ม เนื่องจากอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นหากอยู่ในบ้านส่วนใหญ่เกิดจากการถูกเฟอร์นิเจอร์ล้มทับ ส่วนตัวอาคารจะมีมาตรฐานการป้องกันสูง อาทิ ฐานเป็นสปริง

ภาพเหตุการณ์ความเสียหายจากภัยพิบัติ

ภาพเหตุการณ์ความเสียหายจากภัยพิบัติ

โซนที่ 3 การหนีออกจากพื้นที่ประสบภัย เป็นห้องฉายวิดีโอที่ทำขึ้นเฉพาะ แสดงความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทั้งไฟดับ อุบัติเหตุทางการจราจร รถไฟตกราง รถดับเพลิงและรถพยาบาลวิ่งไปช่วยเหลือไม่ได้ เพื่อให้ผู้เข้าเรียนรู้เห็นสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และโซนที่ 4 การไปสถานที่ปลอดภัย จำลองพื้นที่หลบภัยชั่วคราว มีทั้งน้ำ อาหาร ห้องส้วมชั่วคราว ตู้หลบภัยที่เป็นเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ โดยรัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้จัดหา ซึ่งพื้นที่หลบภัยชั่วคราว ส่วนใหญ่จะเป็นสวนสาธารณสุข ซึ่งยามปกติจะมีป้ายสัญลักษณ์บอกไว้ว่าเป็นพื้นที่หลบภัยชั่วคราว ประชาชนทุกคนจึงต้องรู้ว่าใกล้บ้านตนเองมีพื้นที่หลบภัยชั่วคราวอยู่ตรงจุดใด เมื่อประสบเหตุจะได้รู้ว่าจะไปที่ไหน อย่างไร ก่อนที่จะอพยพไปยังศูนย์พักพิงหากภัยนั้นรุนแรงจนพื้นที่ลี้ภัยชั่วคราวอยู่ไม่ได้ ซึ่งศูนย์พักพิงส่วนใหญ่เป็นโรงเรียน จะมีสต็อกอาหาร เครื่องดื่ม และอาศัยอยู่ที่นี่เป็นหลัก

“ศูนย์นี้ต้องการให้รู้ว่าตอนเกิดเหตุแผ่นดินไหวจะเป็นอย่างไรและทำอย่างไรจึงจะเอาตัวเองรอดได้ โดยหลักสำคัญของการหนีภัย คือ ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน ถ้าเอาตัวเองไม่รอดก็จะไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นในครอบครัวได้” มร.ยามาซากิ ย้ำ

 

ภาพความเสียหายจากภัยพิบัติ

ภาพความเสียหายจากภัยพิบัติ

ยามที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นจริงในระดับ 6 ริกเตอร์ขึ้นไป กองบัญชาการจะถูกตั้งขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนศูนย์เรียนรู้แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางเก็บข้อมูล ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่เก็บและรวบรวมข้อมูลป้อนให้กองบัญชาการตัดสินใจ โดยมีหอส่งคลื่น สัญญาณใช้วิทยุในการสื่อสาร มีจอทีวีที่จะรับภาพจากเฮลิคอปเตอร์ของรัฐบาลที่ส่งขึ้นบินทั่วพื้นที่เกิดเหตุ แล้วส่งภาพกลับมาที่จอภายในศูนย์ และมีทีวีจอยักษ์ 360 นิ้ว สำหรับแสดงภาพสำคัญ 1 ภาพที่ได้รับคัดเลือก เพื่อให้ทุกคนเห็นและพิจารณาพร้อมกัน นอกจากนี้ มีจอทีวีเล็กๆ ที่ใช้รับภาพข่าวสารจากเอกชนมาพิจารณาด้วย ที่สำคัญ โครงสร้างอาคารของศูนย์ บริเวณฐานจะมีสปริงช่วยลดแรงแผ่นดินไหวจาก 7 ริกเตอร์ เหลือเพียง 4  ริกเตอร์ และเมื่อแผ่นดินโยกอาคารจะโยกประมาณ 14 เซนติเมตร แต่ไม่มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้น

สำหรับประเทศไทย นพ.วชิระ ให้ความเห็นว่า การได้เรียนรู้การเตรียมการรับมือภัยพิบัติจากประเทศญี่ปุ่นที่มีภัยธรรมชาติค่อนข้างมาก ทำให้เห็นว่าประเทศไทยแม้จะมีภัยพิบัติน้อยกว่าแต่ควรมีการเตรียมรับมือ โดยเฉพาะการเตรียมประชาชนให้พร้อม ทุกคนควรรู้วิธีการเอาตัวรอดด้วยตนเองเบื้องต้นเมื่อเผชิญเหตุตั้งแต่เด็ก ต้องรู้ว่าใครต้องทำอะไร เป็นสิ่งที่ครอบครัวหรือโรงเรียนต้องให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ หากไม่มีการเตรียมประชาชนให้พร้อมเมื่อประสบภัยจะขวัญเสีย ไม่มีสติ ตรงข้ามถ้าได้เรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไร จะมีสติรู้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

view_resizing_images

ภาพการซ้อมรับมือพิบัติภัย

ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองให้อยู่รอดก่อนที่ความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐจะเข้ามาถึงอย่างน้อย 72 ชั่วโมง ประเทศไทยอาจจะไม่มีภัยแผ่นดินไหวรุนแรงแบบญี่ปุ่น แต่หลักการนี้น่าจะใช้ได้กับทุกภัยพิบัติ แม้แต่ช่วงน้ำท่วม และยามประสบภัยจริง สิ่งสำคัญที่สุด คือ สติ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2556 หน้า 10

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.