Select Page

วัยรุ่นเครียด… เสี่ยงซึมเศร้า พ่อแม่ช่วยได้

วัยรุ่นเครียด… เสี่ยงซึมเศร้า พ่อแม่ช่วยได้

ใกล้เข้าสู่ฤดูกาลสอบเอ็นทรานซ์เพื่อ เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ช่วงนี้คือวิกฤตของวัยรุ่น เพราะต่างคร่ำเครียดในการเตรียมตัวสอบ เนื่องจากหลายคนมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ศึกครั้งนี้อาจเป็นทุกอย่างในชีวิต แต่สำหรับจิตแพทย์นั้น ต่างเห็น ว่าเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง ทำให้กดดันตัวเองจนเกิดความเครียด เสี่ยงต่อการเป็นโรค ซึมเศร้า

 

ภาพวัยรุ่นกำลังเครียดกับการอ่านหนังสือ

ภาพวัยรุ่นกำลังเครียดกับการอ่านหนังสือ

                              พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นชำนาญการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ชี้ว่า การสอบเอ็นทรานซ์ เป็นความคาดหวังเรื่องการเรียนของพ่อแม่ที่เป็นเหมือนกันทุกบ้าน บางคนคาดหวังโดยไม่เข้าใจศักยภาพของลูกว่ามีมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกัน เด็กทุกคนต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ และหากพ่อแม่มีความคาดหวังมาก เด็กพยายามทำเต็มที่แล้ว แต่ผล ออกมาได้ไม่ดีตามที่คาดหวัง เด็กจะเกิดความทุกข์ใจ เกิดความกดดัน เสี่ยงเรื่องความซึมเศร้า วิตกกังวล “ศักยภาพของคนมีไม่เท่ากัน คลินิกสุขภาพจิตวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ พบวัยรุ่นมีปัญหาการเรียนมารับการปรึกษาร้อยละ 15-30  ถือว่ามากพอสมควร บางคนฉลาด แต่สมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้นาน หรือบางคนมีความบกพร่องด้านทักษะการเรียนรู้ แม้จะพยายามแล้วแต่ก็ยังไม่เข้าใจ เป็นปัญหาสะสมตั้งแต่วัยเรียน วัยประถม พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติ โดยเฉพาะค่านิยมเด็กเรียนเก่ง เรียนดี และสอบเอ็นทรานซ์ติด ต้องให้กำลังใจเด็ก เข้าใจเด็ก จะช่วยลูกลดความเครียดสะสมในเรื่องการเรียนได้” พญ.ทิพาวรรณกล่าว   ทั้งนี้ พบว่าเด็กที่ผิดหวังบ่อยๆ เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งขณะนี้พบได้ร้อยละ 15-20 และแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 ต่อปี และยังทำให้เกิดโรควิตกกังวล ขาดความมั่นใจ ขาดความเชื่อมั่น และขาดความศรัทธาตนเอง ขาดศรัทธาในการทำสิ่งดีๆ ซึ่งอันตรายมากเปรียบเสมือน “การขาดภูมิคุ้มกันทางจิตใจ” เด็กหลายคนอาจเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม เช่น แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน เกเร ต่อต้านสังคม เสี่ยงกระทำผิดกฎหมาย เป็นต้น

ภาพวัยรุ่นเครียดกับการอ่านหนังสือเตรียมสอบ

ภาพวัยรุ่นเครียดกับการอ่านหนังสือเตรียมสอบ

                             ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำอย่างแรกเมื่อลูกเดินเข้าไปปรึกษาปัญหา คือ ต้องให้เวลาลูก ตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกพูด ฟังโดยใช้สติ ไม่ด่วนตัดสิน อย่าใช้อารมณ์ และให้กำลังใจ ช่วยหาทางออก นอกจากนี้ ในการสร้างค่านิยมใหม่ของพ่อแม่ ควรสนับสนุนเรื่องการเป็นคนดี มีพฤติกรรมดี มีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ อดทน มีน้ำใจ มากกว่าจะดูที่ผลการเรียน เพราะคะแนนเป็นเพียงตัวเลข ควรดูที่ความพยายามของลูก หากบางคนสมาธิความจำไม่ดี วอกแวกได้ง่าย อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและดูแลช่วยเหลือเฉพาะด้าน

ภาพวัยรุ่นซึมเศร้า เก็บตัว พ่อแม่ต้องคอยดูแลเอาใจใส่

ภาพวัยรุ่นซึมเศร้า เก็บตัว พ่อแม่ต้องคอยดูแลเอาใจใส่

                           การสอบเอ็นทรานซ์เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งในชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต และคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคือ “คนดี” มีความรับผิดชอบ เข้ากับคนอื่นได้ง่าย เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่ใช่เฉพาะ “คนเก่ง” เท่านั้น พ่อแม่ควรให้กำลังใจลูกตั้งแต่เด็ก สัมพันธภาพที่ดีเปรียบเสมือนเป็นวัคซีนทางใจ วัคซีนสำหรับชีวิตแก่ลูก

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2557 หน้า 10 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.