Select Page

เด็กยุคใหม่ สืบสานนาฏศิลป์ไทย ใส่ใจวัฒนธรรม

เด็กยุคใหม่ สืบสานนาฏศิลป์ไทย ใส่ใจวัฒนธรรม

เมื่อถึงเวลาเปิดเทอมและต้องกลับเข้าห้องเรียน  น้องๆหลายคนที่ได้ทำกิจกรรมในช่วงปิดเทอมกับครอบครัวคงมีเรื่องเล่ามากมายที่อยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้เพื่อนๆ  และคุณครูได้ฟัง   เช่นเดียวกับเยาวชนกลุ่มนี้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม “ค่ายเยาวชนวัฒนธรรมภาคฤดูร้อน” ซึ่งมีทั้งการเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนา ค่ายศิลปะ รวมทั้งนาฏศิลป์และดนตรี ที่วิทยาลัยนาฏศิลปได้ร่วมฝึกอบรมให้เด็กๆในชุมชนศาลายา จ.นครปฐม

เรื่องและภาพ : ณัฑฎ์ดนัย  ฐิติระอานนท์

          โครงการนาฏศิลป์ดนตรีในชุมชนศาลายานี้ถูกจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง  โดยโครงการนี้จะเปิดรับสมัครผู้ที่มีความสนใจทางด้านดนตรี  ศิลปะ นาฏศิลป์ไทย  และนาฏศิลป์สากล  ซึ่งในครั้งนี้ได้มีเยาวชนอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เข้าร่วมโครงการระหว่างเดือนมีนาคม  ถึงต้นเดือนพฤษภาคม  นับเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ทางวัฒนธรรม  และนันทนาการผ่านกิจกรรมเสริมสร้างสติปัญญา เพิ่มพูนทักษะด้านศิลปะ  ดนตรี  นาฏศิลป์  และหลักธรรมทางศาสนา  ทำให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และห่างไกลจากอบายมุข    เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรม ก็มีการจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ  ประจำปี  ๒๕๕๖ ได้แสดงผลงาน  อาทิ ภาพวาด  จำนวน  ๕๘  ภาพ  ผลงานแอนิเมชั่น  stop motion  ผลงานสร้างสรรค์สารคดีชุมชน  “เรื่องเล่าจากบ้านฉัน”  นอกจากนี้ยังมีการแสดงทักษะด้านนาฏศิลป์  ดนตรี  และขับร้อง

          เริ่มต้นงานด้วยการแสดงตีกลองสะบัดชัย  แต่เดิมทีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะของชาวล้านนา  ในสมัยโบราณจะตีกลองสะบัดชัยเพื่อประกาศความเกรียงไกรของพระเจ้าแผ่นดิน  เมื่อได้รับชัยชนะจากข้าศึกหรือเมื่อมีการประลองฝีมือของขุนศึกและทหาร  เพื่อให้เกิดความฮึกเหิมในการต่อสู้และใช้ในขบวนแห่พิธีทางศาสนา  เช่น  งานปอยหลวงของชาวล้านนา  ซึ่งยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน  ผู้ที่ตีกลองสะบัดชัยจะตีด้วยท่าทางคล่องแคล่วว่องไวโลดโผนสนุกสนาน  แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ  เด็กที่กำลังทำการแสดงตีกลองสะบัดชัยนั้น  เป็นเด็กผู้หญิง ๒ คนตัวเล็กน่าเอ็นดู ซึ่งถ้าธรรมดาทั่วไปเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่คงอาจจะเลือกการฟ้อนรำหรือการเล่นดนตรี  ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้หนูทั้งสองเลือกจะฝึกฝนตีกลองสะบัดชัย  พอได้โอกาสผมจึงขออนุญาตคุณแม่ของน้องทั้งสองพูดคุยกับน้องๆ  ถึงการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

           “น้องชมมะนาด”  ด.ญ.ชมมะนาด  อยู่ศรี  อายุ ๙  ปี  บอกว่า  “ปีนี้เป็นปีแรกของหนูที่ได้เข้าร่วมโครงการ  สิ่งที่ทำให้หนูเข้าร่วมก็เพราะอยากร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและหนูก็มีความชื่นชอบทางด้านนาฏศิลป์ด้วยคะ”  ทางด้านของ “น้องมีมี่”  ด.ญ.พรนภัส  ลี  อายุ ๘ ปี บอกว่า  “หนูอยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  และหนูก็ชื่นชอบการตีกลอง  เลยเลือกที่จะเรียนการตีกลองสะบัดชัย  และหนูเองก็เป็นลูกครึ่งด้วยเลยอยากจะอนุรักษ์ศิลปะของไทยไว้ค่ะ”  และน้องทั้งสองยังขอฝากถึงเพื่อนๆ  ว่าปิดเทอมฤดูร้อนปีหน้าอย่าลืมมาเข้าร่วมโครงการดีๆ  จะได้ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ของไทยให้คนรุ่นหลังกัน  ทางด้านคุณแม่ของน้องทั้งสองคน  “คุณหทัยกาญจน์  อยู่ศรี” และ  “คุณพรทิพย์  ปุณณโกวิท”  กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บุตรสาวของทั้งคู่ไม่มีพื้นฐานทางด้านการตีกลองเลย  น้องต้องเรียนตีกลอง ๒ ชั่วโมง  และฝึกซ้อมการแสดงเป็นเวลา ๙ วัน  ต้องเริ่มพื้นฐานใหม่หมด  จึงขอชื่นชมคุณครูผู้ฝึกสอนที่อดทนและใจเย็นในการสอน  และจะสนับสนุนให้ลูกเข้าร่วมโครงการนี้ทุกๆ ปี  เนื่องจากตรงกับช่วงเวลาปิดเทอมจึงอยากให้เขาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

          นอกจากการแสดงกลองสะบัดชัยแล้ว  ยังมีการแสดงอื่นๆ อีก  ทั้งระบำไตรรัตน์  เป็นการแสดงที่วิทยาลัยนาฏศิลปได้อัญเชิญบทร้องพระราชนิพนธ์ของพระมหาธีรราชเจ้าในละครพูด  เรื่อง  “ปล่อยแก่”  ของนายบัว  วิเศษกุล  ซึ่งเป็นบทส่งท้ายตอนจบของเรื่องนั้น  ใช้ทำนองแขกบรเทศ  เรียกกันทั่วไปว่า  “เพลงพุทธานุภาพ”  หมายถึง  ขออำนาจแห่งไตรสรณะ  จงดลบันดาลให้เกิดสรรพมงคลและสุขสวัสดิ์  แก่ผู้ที่มาร่วมงานโดยทั่วหน้า

          การแสดงตารีกีปัส  ศิลปะการแสดงพื้นเมืองภาคใต้  ซึ่งคำว่า  “ตารี” แปลว่าระบำหรือฟ้อนรำ  และ  “กีปัส”  แปลว่าพัด  ดังนั้นตารีกีปัส  จึงมีความหมายว่าการฟ้อนรำที่ใช้พัดประกอบการแสดงเข้ากับทำนองเพลงที่มีความไพเราะอ่อนหวาน

          การแสดงชุดถัดมาเป็นการเชิดหุ่นกระบอกไทย  ตามแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัย  เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้กาลเวลาจะหมุนเปลี่ยนไปยาวนานสักเพียงใด  การแสดงหุ่นกระบอกไทยก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยและยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อยู่เช่นเดียวกัน

          ต่อด้วยการขับร้องประสานเสียงเพลงสวัสดี  เนื้อหาของเพลงนั้นเป็นการพูดถึงคำทักทายของประเทศต่างๆ  พร้อมทั้งมีการแสดงท่าทางประกอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย  และเพลงพระราชนิพนธ์  “อาทิตย์อับแสง”  ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่  ๘ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          มาถึงการแสดงที่ผู้ชมให้ความสนใจกันมากนั่นก็คือโขน รามเกียรติ์ ที่ยกมาเฉพาะตอนตรวจพลลิง ในเพลงกราวนอก  การแสดงชุดนี้มีความหมายถึงการตรวจความเรียบร้อย ความพร้อมของพลวานรก่อนทำการรบ  สาเหตุที่ผู้ชมให้ความสนใจ เพราะนักแสดงนั้นล้วนแต่เป็นเด็กน้อยที่มีอายุตั้งแต่ ๓ ขวบขึ้นไป เดินจับหางต่อกันไปเป็นแถว  พร้อมทั้งโชว์การตีลังกาและแสดงท่าทางเป็นลิง อย่างน่ารักน่าเอ็นดู

           และนักแสดงที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษนั้นก็คือ “น้องกังฟู”  ด.ช.ธนพนธ์  โพโต พลทหารลิงน้อยวัย ๓  ขวบครึ่ง  ที่เป็นนักแสดงที่อายุน้อยที่สุดแต่กลับมีความสนใจทางด้านศิลปวัฒนธรรม  “คุณธันยกร  พรพานิช”  คุณแม่ของน้องกังฟูบอกว่า  “เคยพาน้องกังฟูไปดูโขนตั้งแต่น้องอายุ ๒ ขวบ น้องกังฟูจึงชอบและอยากเรียนโขน  แต่ตอนนั้นอายุของน้องยังไม่ถึงคุณแม่จึงรอให้โตและพร้อมเสียก่อน  จนได้รู้จักกับโครงการนี้ และอายุของน้องสามารถเรียนได้แล้ว จึงพาน้องไปสมัครเรียนโขนตามที่เขาต้องการ ส่วนเรื่องอนาคตหากเขามีความสนใจทางด้านนี้ก็จะสนับสนุนต่อไปไม่มีการปิดกั้นค่ะ”  คุณแม่น้องกังฟูกล่าว

         และมาถึงการแสดงชุดสุดท้ายคือ  “การแสดงรำวงมาตรฐาน”  ที่เป็นการแสดงที่อยู่คู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย  โดยนักแสดงแต่ละคู่จะแต่งตัวตามยุคสมัยต่างๆ  ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

          ในปัจจุบันนี้ค่านิยมของคนไทยได้เปลี่ยนไป  เด็กส่วนใหญ่รับอิทธิพลวัฒนธรรมของชาวตะวันตกจนหลงลืมความเป็นไทย และกลับมองวัฒนธรรมไทยว่าโบราณ ล้าสมัย  ดังนั้น เด็กและเยาวชนที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการทางด้านศิลปวัฒนธรรมในช่วงปิดเทอมเช่นนี้ นอกจากจะได้รับความรู้และประสบการณ์ดีๆแล้ว ยังทำให้สังคมไทยมีความหวังว่าคนรุ่นใหม่จะช่วยอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ต่อไป  เด็กบางคนประทับใจจนขอเข้าร่วมโครงการต่อเนื่องทุกๆ ปี และเมื่อมีทักษะเพ่ิมพูนขึ้นก็สามารถสอบเข้าเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลปได้โดยตรง  ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำให้เด็กๆเกิดทักษะ  พัฒนาสติปัญญาและสมาธิแล้วยังมีส่วนสำคัญในการปลูกฝังกิริยามารยาทที่งดงามและสร้างความภูมิใจในความเป็นไทย.-

 

ขอขอบคุณ : กระทรวงวัฒนธรรม , วิทยาลัยนาฏศิลป , โรงละครแห่งชาติ

 

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.