Select Page

มัจฉานุ ยานสะเทินน้ำสะเทินบก ฝีมือเด็กไทย นศ.พระจอมเกล้าฯ

มัจฉานุ ยานสะเทินน้ำสะเทินบก ฝีมือเด็กไทย นศ.พระจอมเกล้าฯ

ทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) เปิดตัวนวัตกรรม “มัจฉานุ…ยานสะเทินน้ำสะเทินบก” สู้ภัยน้ำท่วม สุดทึ่งสามารถแล่นไปบนถนนและลุยลงน้ำได้ทันทีและทุกที่ ใช้พลังงานสะอาด

              ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Suchatvee Suwanswat) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) เป็นประธานเปิดตัวนวัตกรรม มัจฉานุ ยานสะเทินน้ำสะเทินบก กล่าวว่า จากแนวทางการเรียนการสอนมุ่งสู่ AEC 360 องศา ที่ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติจริง นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ได้คิดค้นนวัตกรรม “มัจฉานุ” ยานสะเทินน้ำสะเทินบก สู้ภัยน้ำท่วมหรือ Amphibian Vehicle  ซึ่งใช้พลังงานสะอาด สามารถแล่นไปบนถนนและลุยลงน้ำได้ทันที บรรทุกคนได้ 2 คน รวมคนขับ น้ำหนักสุทธิประมาณ 250 กิโลกรัม ไม่รวมคนโดยสารและคนขับ มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อาทิ เสื้อชูชีพ เชือกช่วยชีวิต ห่วงยาง เป็นต้น โหมดรถ ความเร็วสูงสุด 18 กิโลเมตร / ชั่วโมง ระยะทางสูงสุด 25 กิโลเมตรในโหมดเรือ สามารถวิ่งทวนกระแสน้ำที่มีความเร็วสูงสุด 5-8 กิโลเมตร / ชั่วโมง ยานมัจฉานุเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของลูกหลานไทยที่เป็นนักศึกษา 9 คน ในการนำเอาความรู้เทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประกอบด้วย นายภาณุพงษ์ สิงห์หันต์ นายเทวินทร์ นิลสาคร นายสมหวัง แป้นรินทร์  นายรณกฤษณ์ จันทร์แจ่มใส  นายสันติสุข ศรีใส นายสุทิวัตร กรพัชร นายภูวดล แสงสุคนธ์ นายภัทราวุธ รอดเกษม นางสาวยศยา ภัทรภูมีมิตร และมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ รศ.ร.อ.ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

              ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า  ยานมัจฉานุนี้มีแนวคิดที่ก้าวล้ำโดยผสมผสานระหว่างการขับเคลื่อนแบบรถและแบบเรือไว้ในยานพาหนะเดียวกัน โดยที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) ในการขับเคลื่อนแทนพลังงานน้ำมันจากฟอสซิล เมื่อมีการเคลื่อนที่บนผิวน้ำ ยานมัจฉานุนี้จะมีการปรับระบบใช้ “โหมดเรือ” เป็นต้น กำลังในการขับเคลื่อนใบพัดของเรือที่ท้องเรือ และในขณะที่พบสภาวะที่เป็นพื้นถนนหรือพื้นดินก็ยังสามารถวิ่งได้เหมือนกับรถยนต์ปกติ โดยใช้ “โหมดรถ” ในการขับเคลื่อนล้อของรถ ระบบของยานมัจฉานุนี้วิ่งเงียบจึงไม่สร้างมลพิษทางเสียง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งไม่ก่อมลพิษทางอากาศ  ทำให้นวัตกรรมยานมัจฉานุนี้สามารถที่จะตอบโจทย์ และอพยพผู้ประสบภัยที่เกิดจากอุทกภัยได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะต้องเข้าไปตามเส้นทางที่แคบ ทั้งทางน้ำหรือทางบก  ส่วนความปลอดภัยของระบบไฟฟ้านี้ จะเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้า

              นายภาณุพงษ์  สิงห์หันต์ นักศึกษาปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. หัวหน้าทีมวิจัย เล่าถึงแรงบันดาลใจว่า ทีมงานของเราใช้เวลา 1 ปีเต็ม ในการร่วมกันวิจัยพัฒนา ยานมัจฉานุ จนเป็นผลสำเร็จ  มัจฉานุถูกสร้างขึ้นเนื่องจากแนวคิดที่มาจากเหตุการณ์“มหาอุทกภัย” ที่ประเทศไทยของเราได้ประสบในปี 2554  ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการคมนาคม อีกประการหนึ่ง เรือที่นำเข้าไปใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมักสร้างมลพิษทางเสียงที่ดังรบกวนและสร้างคลื่นน้ำขนาดใหญ่ที่อาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินต่างๆ ที่มีค่า รวมไปถึงโบราณสถานต่างๆ ที่ไม่อาจประเมินค่าได้ นอกจากนี้ยังสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีราคาสูงและก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ โดยโครงสร้างของยานมัจฉานุ ออกแบบให้มีรูปร่างที่เพรียวลมคล้ายเจ็ตสกี เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ตามหลักพลศาสตร์ของยานยนต์ (Aero Dynamic)  และหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส มี 2 มือจับ ใต้ยานติดตั้งล้อ 3 ล้อ โดยที่ล้อทางด้านหลังจะมีสองล้อ และด้านหน้าจะใช้เพียงล้อเดียวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกให้แก่การเข้าโค้งของยานพาหนะในโหมดรถ

           ส่วนในด้านต้นกำลังการขับเคลื่อนมัจฉานุนั้น แหล่งต้นกำลังของยานไฟฟ้าเกิดมาจากส่วนมอเตอร์กระแสตรงชนิดไร้แปรงถ่าน (Brushless DC Motor) ทั้งนี้ที่เลือกใช้มอเตอร์ชนิดนี้ เพราะจะไม่เกิดค่าความสูญเสียจากส่วนแปรงถ่าน ทำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มสมรรถนะ ซึ่งแบ่งการทำงาน เป็นมอเตอร์จำนวน 2 ตัวแยกกันทำงานคนละส่วนกัน ซึ่งจะมีรายละเอียด คือ 1. มอเตอร์ขนาด 1 แรงม้า (ความเร็วต่ำ 400 rpm) มีลักษณะ คือ ความเร็วต่ำซึ่งจะถูกใช้เป็นต้นกำลังให้กับล้อรถซึ่งมอเตอร์ตัวนี้จะถูกสั่งให้ทำงานใน” โหมดรถ”  2. มอเตอร์ขนาด 1 แรงม้า (ความเร็วสูง 2,800 rpm) มีลักษณะ คือ ความเร็วสูงซึ่งจะถูกใช้เป็นต้นกำลังให้กับใบพัดของเรือ ซึ่งมอเตอร์ตัวนี้จะถูกสั่งให้ทำงานใน “โหมดเรือ”

          ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์  สจล และผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันภัยพิบัติวิศวะลาดกระบัง กล่าวถึงแนวโน้มสภาวะน้ำท่วมปี 2556 ว่า แม้ว่าสถานการณ์ในช่วงต้นปี 2556 หลายพื้นที่ประสบกับภาวะแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อนก็ยังต่ำ สามารถรับปริมาณน้ำได้อีกมาก การขุดลอกคูคลองและการก่อสร้างเขื่อนนิคมอุตสาหกรรมจะทำไปแล้วเกือบทั้งหมด นับตั้งแต่ปลายเมษายน –พฤษภาคม เป็นต้นไป เรายังต้องเฝ้าระวังติดตามพายุฝนต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท ยานสะเทินน้ำสะเทินบก มัจฉานุ นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยรองรับภัยพิบัติได้เป็นอย่างดี

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ.2556

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.