Select Page

เปิดประตูการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม สำหรับนักเรียนในโลกเงียบด้วยสื่อ “มัลติพอยท์”

เปิดประตูการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม สำหรับนักเรียนในโลกเงียบด้วยสื่อ “มัลติพอยท์”

ด้วยแรงบันดาลใจของครูเล็กๆ คนหนึ่งบวกกับแรงสนับสนุนจากเพื่อนครูและผู้บริหาร ในการนำสื่อการสอนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ไมโครซอฟท์ มัลติพอยท์” มาพัฒนาสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยินให้เข้ากับสาระวิชา ทำให้ข้อจำกัดในการเรียนรู้ของนักเรียนลดน้อยลง

           นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กำลังสนุกสนานกับการคลิกเม้าส์เพื่อแข่งกันตอบคำถามในห้องเรียน บวกกับแววตาลิงโลดของพวกเขาช่างขัดแย้งกับบรรยากาศที่เงียบเชียบภายในห้องที่มีเพียงเสียงของครูบรรยายเนื้อหา โดยเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการตอบคำถามในบทเรียนโดยปราศจากเสียงพูดใดๆ หากจะกล่าวว่านี่คือห้องเรียนที่เงียบที่สุดก็คงจะไม่เกินความจริงนัก เพราะนักเรียนในโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดมุกดาหาร ล้วนแล้วแต่เป็นนักเรียนพิเศษที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยิน แต่ความเงียบก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ โลกเงียบปิดกั้นเพียงเสียงที่จะได้ยิน แต่ไม่อาจปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้ของพวกเขาได้ เราจึงได้เห็นภาพการตอบโต้ภาษามือระหว่างครูและนักเรียนท่ามกลางรอยยิ้มและแววตากระตือรือร้นตลอดชั่วโมงวิชาคอมพิวเตอร์

              โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดมุกดาหาร เป็นโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยิน เด็กๆ ต้องอยู่ท่ามกลางโลกเงียบตลอดเวลา ไม่สามารถได้ยินเสียงพูดคุย เสียงเพลง หรือสนทนาโต้ตอบแบบเด็กปกติได้ ทำให้พวกเขาอยู่ภายใต้การสื่อสารที่จำกัด ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตภายใต้กรอบที่จำกัดด้วยเช่นกัน แต่ด้วยแรงบันดาลใจของครูเล็กๆ คนหนึ่งบวกกับแรงสนับสนุนจากเพื่อนครูและผู้บริหาร ในการนำสื่อการสอนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ไมโครซอฟท์ มัลติพอยท์” มาพัฒนาเข้ากับสาระวิชา ทำให้ข้อจำกัดในการเรียนรู้ของนักเรียนลดน้อยลง

              โปรแกรมไมโครซอฟท์ มัลติพอยท์ พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ ที่มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์เพื่อขยายโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีแก่ผู้ที่มีข้อจำกัด โปรแกรมดังกล่าวทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องสามารถรองรับการใช้งานของนักเรียนได้จำนวน 3-50 คนพร้อมๆ กัน โดยนักเรียนแต่ละคนสามารถใช้เม้าส์ของตัวเองควบคุมเคอร์เซอร์รูปสัตว์น่ารักๆ ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษบนหน้าจอ และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้ทุกคน โปรแกรมนี้ไม่เพียงแต่ให้ทางออกสำหรับข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่ยังสร้างประสบการณ์เรียนรู้ที่สร้างสรรค์ เน้นการส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วม และสามารถดึงความสนใจของนักเรียนทุกคนได้โดยไม่จำกัดโอกาสใช้คอมพิวเตอร์อยู่ที่นักเรียนคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันมีการใช้งานโปรแกรมนี้ใน 1,950 โรงเรียนทั่วประเทศ นับเป็นการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง

               นายสุพจน์ ศรีนุตพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โปรแกรม ไมโครซอฟท์ มัลติพอยท์ เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ภายใต้โครงการ Microsoft Partners in Learning ที่มุ่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปบูรณาการ ประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนา และยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเองผ่านการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ อันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อยอดออกไปอย่างไม่สิ้นสุด โปรแกรมดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของไมโครซอฟท์ในเมืองบังกาลอ ประเทศอินเดีย และเราเห็นว่าโปรแกรมนี้เหมาะอย่างยิ่งกับสภาพแวดล้อมทางการศึกษาในประเทศไทย จึงนำโปรแกรมนี้มานำร่องใช้กับโรงเรียนในโครงการ Partners in Learning ซึ่งปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี ได้รับการตอบรับจากครูและนักเรียนจนขยายผลออกไปอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีประเทศที่นำโปรแกรมนี้ไปใช้ด้วยเช่นกัน ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา จีน รัฐเซีย และสิงค์โปร์ เป็นต้น”

            น.ส.พจนา ธุระนนท์ หรือคุณครูมุ่ย โรงเรียนโสตศึกษามุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการนำมัลติพอยท์มาใช้ในห้องเรียนว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญกับการศึกษาไทยมาก โดยช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ห่างไกล เด็กที่ด้อยโอกาส หรือเด็กพิการ ตั้งแต่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ควบคู่กับการเรียนการสอน เด็กๆ สามารถเข้าถึงสื่อหรือข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะโดยพื้นฐานของเด็กก็ชอบเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่แล้ว การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนจึงทำให้เราสามารถส่งเสริมพัฒนาการต่างๆ ของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น ทำให้พวกเขารู้สึกแปลกใหม่ ไม่เบื่อเนื้อหาในห้องเรียน ก่อนที่ครูจะนำมัลติพอยท์มาใช้นั้น การเรียนในวิชาภาษาไทยหรือคณิตศาสตร์จะเป็นการบรรยายโดยใช้ภาษามือประกอบกับบัตรภาพหรือบัตรคำ ซึ่งในตอนแรกเด็กก็จะให้ความสนใจ แต่สักพักการที่ต้องให้ดูภาพตลอดเวลาทำให้พวกเขาเบื่อ เพราะเขาไม่สามารถรับรู้ทางเสียงได้ ทำให้ความสนใจในบทเรียนลดลง ครูก็คิดว่าสื่อการสอนแบบไหนที่จะทำให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อและได้ความรู้ในคราวเดียวกัน เผอิญว่าครูได้ไปเห็นการจัดแสดงโปรแกรมนี้ในงานเห่งหนึ่ง และสนใจเข้าร่วมฝึกอบรมโปรแกรมดังกล่าวกับไมโครซอฟท์ จากนั้นจึงได้นำมัลติพอยท์มาประยุกต์เข้ากับบทเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นวิชาแรก ยังจำได้เลยว่าวันแรกที่นำมัลติพอยท์มาสอน เด็กๆ ก็แปลกใจว่าเราจะสอนยังไง ทำไมมีคอมพิวเตอร์แค่ 1 เครื่องแต่มีเม้าส์เยอะแยะ ผลปรากฏเด็กให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมีรูปสัตว์น่ารักๆ ประกอบ และเด็กๆ ก็ได้มีส่วนร่วมในการตอบคำถามกันถ้วนหน้า วันนั้นก็มีเด็กระดับชั้นอื่นเข้ามาดูจนเต็มห้อง ทำให้หัวใจของครูพองโตที่เห็นเด็กชอบ รู้สึกดีใจที่พวกเขาสนใจและสามารถนำไปพัฒนาการเรียนรู้ได้ดี”

            ปัจจุบัน คุณครูมุ่ยและเพื่อนครูได้พัฒนาสื่อการสอนดังกล่าวเพิ่มเติมไปยังวิชาภาษาอังกฤษ สุขศึกษา วิทยาศาสตร์ ซึ่งหลังจากมีการวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียนได้รับผลตอบรับในแง่บวก กล่าวคือ เด็กๆ ให้ความสนใจในบทเรียนและมีพัฒนาการในการเรียนรู้ที่ดีขึ้นในด้านความรู้ แต่ที่ได้มากกว่านั้นคือ ด้านสังคม ซึ่งเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยินนั้น ทักษะชีวิตถือเป็นสิ่งสำคัญ จะทำอย่างไรให้พวกเขารู้สึกว่าออกไปใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ ให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจว่าสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้เทียบเคียงกับเด็กปกติ

              น.ส.อาทิตยา ผงศรีอัก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดมุกดาหาร บอกเล่าถึงประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ผ่านล่ามภาษามือว่า “ปกติหนูก็เคยใช้คอมพิวเตอร์มาบ้าง ทำให้เรียนรู้ว่าคอมพิวเตอร์ช่วยพัฒนาการเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ ในคอมพิวเตอร์มีภาพสวยๆ ช่วยให้การสื่อสารเข้าใจง่ายขึ้น ยิ่งพอครูมุ่ยได้นำมัลติพอยท์มาใช้ในห้องเรียน พวกหนูชอบมาก โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยที่มีคำต่างๆ ให้เรียนรู้ได้เยอะ ทำให้หนูเข้าใจคำ รู้จักประโยค และเข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น หนูคิดว่าไอทีเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของพวกหนูเป็นอย่างมากค่ะ เพราะจะช่วยให้หนูมีการพัฒนาเรื่องต่างๆ และช่วยให้ทำกิจกรรมต่างๆ ของคนหูหนวกได้ดียิ่งขึ้น ถึงแม้พวกหนูจะคุยสื่อสารกับคนอื่นๆ ไม่ได้ แต่ว่าพวกหนูก็สามารถที่จะเรียนรู้หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองได้ และสิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งหนูอยากให้เพิ่มภาษามือเป็นช่องเล็กๆ ในมัลติพอยท์ด้วยค่ะ”

             แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาสำหรับนักเรียนปกติ นักเรียนพิการ และนักเรียนด้อยโอกาสให้มีการศึกษาและประสบการณ์ในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม แต่โอกาสการเรียนรู้ในห้องเรียนจริง ยังเป็นไปได้ยากเนื่องจากความไม่พร้อมทั้งทางบุคลากร อุปกรณ์การศึกษา รวมไปถึงพื้นที่การศึกษา ที่ห่างไกล ดังนั้น หากมีสื่อการสอนที่ช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนในห้องเรียนและเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป ก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับเยาวชนไทยและคุณครูในการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม และลดช่องว่างในการเรียนรู้ เพราะปัจจุบันการศึกษามีการพัฒนาก้าวไกลอย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยสื่อการสอนมาสนับสนุน ไม่ว่าจะนักเรียนจะปกติหรือนักเรียนพิการก็ต้องการเรียนรู้ให้เท่าทันกันกับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม….

 

 

ทที่มา : นสพ.มติชน วันคารที่ 16  มี.ค. 2553
 

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.