Select Page

นาคุณธรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

นาคุณธรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

จากจุดเริ่มต้นของการ “ให้ความรู้และปลูกแนวคิด” ของสถาบันพระปกเกล้า นำสู่การสร้างนวัตกรมสังคมเพื่อสืบทอดการเป็นผู้ให้ทั้งเวลา ความคิด และพลังใจ แก่คนที่อยู่ในชุมชน ก่อให้เกิด การเรียนรู้ และทำงานร่วมกันอย่างมีคุณภาพและเกิดความยั่งยืนในระยะยาว

โครงการ “การศึกษาทุนทางสังคมเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” ถือเป็นโครงการนำร่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ

            ไม่เพียงสถาบันพระปกเกล้าในฐานะองค์กรผู้ทำการศึกษา หากรวมถึงนวัตกรสังคมซึ่งเป็นคนที่อยู่ในชุมชนนั้น รวมทั้งฝ่ายบริหารระดับจังหวัด อำเภอและท้องถิ่น โครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายกอบต. นำไปสู่การเข้าร่วมเป็นนวัตกรสังคมจากหลากหลายสาขาวิชาชีพที่มีคุณค่า ถือเป็นการรวมกลุ่มที่แข็งแกร่งในระดับชุมชนอีกโครงการหนึ่งที่น่าจับตา

              ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ท้องถิ่นที่ชุมชนมีการรวมตัว พร้อมที่จะเสียสละเวลาส่วนตนเพื่อส่วนรวม มักจะมีความเข้มแข็ง สามารถเสริมสร้างความเข้าใจ เพิ่มพูนศักยภาพสิ่งดีที่มีอยู่ในชุมชน และพัฒนาประชาธิปไตยให้เกิดความยั่งยืนในสังคม ซึ่งการสร้างต้นแบบจากพื้นฐานสังคมที่ดี จากการค้นพบปัญญาและความสามารถของชุมชน มีการนำไปใช้อย่างมีคุณค่า ถือเป็นการเสริมสร้างศักยภาพภายในให้เกิดแก่ชุมชน ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ เกิดกระบวนการเพื่อพัฒนาอนาคตร่วมกัน การปลูกแนวคิดให้คนในสังคมหันมาช่วยเหลือเกื้อกูลและพัฒนาร่วมกัน ใช้งบประมาณไม่มาก แต่ต้องใช้ใจอย่างมาก

         ผลจากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาวิจัยโครงการ “การศึกษาทุนทางสังคมเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยการสนับสนุนของกฟผ. ในพื้นที่ศึกษาวิจัย 3 ตำบลของ จ.กระบี่ ทำให้ได้ทำเนียบทุนทางสังคมในท้องถิ่นที่หลากหลาย และก่อให้เกิดการพัฒนาภายใต้เงื่อนไขใหม่ที่เป็นการเปลี่ยนจากภายในสู่ภายนอก ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนในระยะยาว และนำไปสู่สัญญาใจระหว่างกันในชุมชน

         จากผลการศึกษามีการรวมกลุ่มกันเพื่อปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ยังมีความเป็นชนบทค่อนข้างสูง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน คนในชุมชนทั้ง 3 ตำบลได้สะท้อนความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย อาศัยอยู่ในภาคใต้ เกิดในท้องถิ่นของตน นั่นคือบทสรุปที่ว่าคนที่นี่รักครอบครัว รักชุมชน รักศาสนา สนใจการเมือง และเห็นว่าเงินมีความสำคัญต่อชีวิต สิ่งที่ชุมชนปฏิเสธและไม่ต้องการเห็นคือ การมีเพื่อนบ้านเป็นคนลักขโมย เด็กและเยาวชนติดยาเสพติด คนที่ส่อทุจริต เช่น นำของหลวงหรือของสาธารณะมาเป็นของตนเอง รวมทั้งกลุ่มผู้มีอิทธิพลและติดสุรา

         ข้อมูลที่ค้นพบทำให้ชุมชนได้รับรู้ว่าภายในท้องถิ่นตนเองนั้น มีผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านอยู่มากมาย รวมไปถึงมรดกทางธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรม และทรัพยากร ทุนทางธรรมชาติ เช่น ป่าโกงกางที่เปรียบเสมือนตู้เย็นใบใหญ่ของชาวบ้าน ป่ายชายเลน ชายทะเล แหล่งน้ำตามธรรมชาติ

ปลูกเดือนแม่เก็บเกี่ยวเดือนพ่อ

na2'         ทุนทางสังคมที่น่าสนใจด้านการเกษตรแบบพอเพียงอำเภอเหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชน นั่นคือ “กลุ่มคลองขนานรวมใจวิถีไทยพอเพียง” ถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจยิ่งโดย สุเมศ บินระหีม ประธานกลุ่มคลองขนานรวมใจวิถีไทยพอเพียง เปิดเผยว่า แนวคิดร่วมกันคิด แยกกันทำ คือจุดเริ่มของการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดการพลิกฟื้นนาร้างกว่า 35 ปี ให้กลายเป็นทุ่งข้าวเขียวขจี โดยเริ่มปลูกข้าวกล้องพันธุ์สังข์หยดและข้าวพันธุ์เล็บนกปัตตานี ด้วยแนวคิดปลูกเดือนแม่ เก็บเกี่ยวเดือนพ่อ ถือเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นทุนทางสังคมของชาวคลองขนาน

         พื้นที่นาร้างบนเกาะคลองหมากเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างถิ่นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเริ่มได้รับการไถ่ถามจากนายหน้าเพื่อกว้านซื้อสร้างเป็นสนามกอล์ฟและแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร โดยพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเกาะ ทัศนียภาพโดยรอบมีความสงบ สวยงาม โอบล้อมด้วยคลองที่เชื่อมออกสู่ทะเลอันดามัน สองข้างทางของคลองที่เป็นเส้นทางสัญจรเป็นป่าโกงกางที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ซึ่งเปรียบเสมือนตู้เย็นใบใหญ่ลูกสุดท้ายที่ชาวบ้านเปิดแล้วมีอาหารให้เลือกกินทั้งปลา ปู กุ้ง หอย มีภูเขาและดินที่คงสภาพสมบูรณ์ ที่สำคัญเป็นเกาะที่มีน้ำจืด ด้วยศักยภาพของการวิ่งเรือจากอ่าวนางและลงจากสนามบินแล้วใช้เวลาเดินทางไม่เกินครึ่งชั่วโมง จึงมีแนวโน้มสูงที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต

ร่วมกันคิด แยกกันทำ

         นับเป็นจุดเริ่มของการดำเนินตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มเพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาที่ดินทำกินเพื่อลูกหลานในอนาคต พร้อมสะท้อนถึงวิกฤตที่อาจจะเกิดจากการขายที่ดิน ถ้าหากขายที่ดินไร่ละ 1 แสนบาทวันนี้ วันหน้าเราไม่มีที่ทำกิน ไม่มีที่ให้ลูกหลานได้ยืนหยัด เงินที่ได้จากการขายที่ดินไม่กี่เดือนก็จะหมดไป จากนั้นทุกคนก็จะต้องเข้าสู่วงจรลูกจ้างที่มีเงินเดือนเพียงไม่กี่บาท

จับมือให้มั่น ปั้นใจให้แกร่ง แล้วก้าวไปด้วยกัน

         โครงการนี้ชาวบ้านรวมกลุ่มทำกันเอง เริ่มจากการนั่งคุย ช่วยกันคิด รวมกลุ่มกันทำ ศึกษาแนวทางการปลูกข้าวปลอดสารพิษ ทำให้เกิดการพลิกฟื้นนาร้างครั้งใหญ่ของชาวคลองขนาน จากความคิดที่จะขายที่ดินให้กับนายทุน เกิดเป็นพลังใจให้ชุมชน ให้หันมาสืบสานวัฒนธรรมเพื่อให้เด็กได้ซึมซับรากเหง้าของคนหมู่บ้านคลองหมากดั้งเดิม ด้วยการคืนชีวิตให้นาร้างกว่า 35 ปี ให้กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง โดยปีนี้เริ่มทำนา 200 ไร่ ปีหน้าขยายเป็น 500 ไร่ คาดว่าอนาคตจะขยายเต็มพื้นที่ 1,000 ไร่ โดยเชื่อว่าอีก 10 ปี ราคาข้าวจะขยับที่ราคา 3,000 เหรียญต่อตัน ซึ่งวันนี้หากเราไม่รักษาพื้นที่ปลูกนาไว้ อนาคตเราจะเป็นเพียงผู้ใช้แรงงาน ปลูกข้าวให้กับนายทุนต่างชาติna

         “ในอนาคตอาชีพเกษตรกรจะเข้มแข็งและยั่งยืนเหมือนญี่ปุ่น และข้าวคือทองคำขาวแห่งอนาคต จึงคุยกันว่าใครไม่ขายที่ดิน ใครอยากทำนา เรามาทำนาด้วยกัน แนวคิดนี้ได้รับการการขานรับเป็นอย่างดี เริ่มจาก 10 คน 10 แปลง เพิ่มมาเป็น 63 คน 29 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 200 ไร่ ทำให้โครงการแข็งแรงขึ้น”

         ผลผลิตปีแรกได้ 60 ตันข้าวเปลือก โดยเจ้าของพื้นที่สามารถจัดสรรตามประสงค์ของตัวเอง ส่วนเหลือกินภายในครัวเรือนจะเอาไปขายเองหรือฝากขายก็ได้ ตอนนี้มีตลาดรองรับคือหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและตลาดในตัวเมือง โดยจะนำข้าวกล้องมาบรรจุถุงเพื่อเสริมรายได้และสร้างขวัญกำลังใจทุกคนที่ช่วยกันรักษาทุนทางสังคมท้องถิ่นไว้ได้ อนาคตคาดว่าจะมีโรงสีเพื่อรองรับผลผลิตชุมชนต่อไป

ไร่นาสวนผสมแบบพอเพียง…

         ขณะเดียวกันอีกโครงการหนึ่งที่ถือเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจแบบพอเพียง ดำเนินการโดย พิชิต ชูมณี ซึ่งเป็นการเกษตรไร้สารเคมีที่มีทั้งไร่นาสวนผสม การสอนทำบ้านดิน พื้นที่ปลูกข้าว มีโรงเผาถ่าน บ่อเลี้ยงปลา และสวนปาล์มตั้งอยู่ภายในบริเวณเดียวกัน กลายเป็นจุดสนใจของหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง

         “เราใช้ประโยชน์จากทุกส่วนที่มีอยู่ในบริเวณโดยรอบ ปุ๋ย ฮอร์โมนพืชเราทำเอง ใยปาล์มผสมกับดินเอาไปทำอิฐสร้างบ้าน เราสอนให้ทุกคนที่ต้องการทำบ้านเอง เพื่อจะได้ประหยัดต้นทุน ได้บ้านที่แข็งแรง ประหยัดพลังงานและช่วยลดโลกร้อน การทำบ้านดินก็เหมือนฝึกสมาธิ การก่ออิฐทีละก้อน วิธีการฉาบบ้าน เราปล่อยอารมณ์ไปกับการทำงาน เท่ากับสร้างสมาธิให้เรา”

นาคุณธรรม…

         ส่วนเรื่องนาคุณธรรมนั้น พิชิต กล่าวว่า ข้าวกล้อง 2 กิโลกรัม ขายราคา 100 บาท แต่ถ้าใครถือศีล 5 จะได้ส่วนลดข้อละ 2 บาท ส่วนลดคือสัจจะที่จะให้แต่ละคนบอกตัวเองว่าเราทำได้กี่ข้อ ถ้าเราอยู่แบบพอเพียง หวยบนดินใต้ดินไม่ซื้อ เหล้ายาบุหรี่ไม่เอา ถือเป็นวิถีที่มีในศีล 5 อยู่แล้ว ถ้าทำได้ผลดีก็จะตกอยู่กับตัวเอง หากทุกคนช่วยกันถือช่วยกันทำ โลกก็จะสงบ ที่นี่มีพื้นที่ปลูกข้าว 4 ไร่ ผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชน เพราะส่วนหนึ่งจะเก็บไว้กินภายในครอบครัว ทุกอย่างที่ปลูกที่นี่ไม่มีสารเคมี ไม่ฉีดยาฆ่าแมลงb18p167

         เขาเล่าว่าถือศีล 5 มา 11 ปีแล้ว จุดเปลี่ยนของชีวิตคือการเปิดบริษัทรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ภูก็ต ทำงาน 10 ปีไม่มีลูกเพราะเครียดกับงาน ทำให้ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ส่งผลต่อสุขภาพ เขากับภรรยาจึงตัดสินใจหักดิบกลับมานับหนึ่งเพื่อพลิกฟื้นทำอาชีพการเกษตรที่บ้าน ซึ่งช่วงขณะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นทฤษฎีใหม่ของโลก ระยะแรกลองผิดลองถูกด้วยการเลี้ยงหมูและไก่ ทำฟาร์มใหญ่โต แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำไปไม่คุ้มทุน เราผลิตได้แต่กำหนดราคาไม่ได้ เพราะบริษัทขนาดใหญ่เป็นผู้กำหนดพันธุ์และอาหารล้วนต้องซื้อเขา เราก็เริ่มนับใหม่อีกครั้ง

         “มาอยู่แรกๆ แถวนี้ยังไม่มีผู้คนอยู่เลย ตอนนั้นคนอื่นมองว่าเราตกงาน ชาวบ้านหาว่าเราบ้า แรกๆ ยอมรับว่ามีความกดดัน แต่เราไม่มีเวลาว่าที่จะไปสุมหัวกับคนอื่น ต้องทำงาน ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ปัจจุบันที่ตรงนี้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ ปีที่ 2 ผมได้ทายาท ครอบครัวเริ่มสมบูรณ์ขึ้น คิดว่าทำยังไงถึงจะมีรายได้ ระหว่างนั้นผมปลูกต้นไม้ไว้ เก็บกินได้ แถมให้ความร่มรื่น บางส่วนขายได้อีก ก็อยู่ได้ ตอนนั้นเราซื้อข้าว แต่เรามีผัก มีปลา พอปีที่ 2 ก็เลยเริ่มทำนา กฎของผมคือพยายามทำให้ได้ด้วยตัวเอง ถ้าทำได้ รายจ่ายเราจะลดลงไปเยอะ ต่อมาคิดว่าควรทำเตาถ่าน ใช้ทางปาล์มที่เป็นขยะเหลือใช้ เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

พลังชุมชน ขุมทรัพย์ที่ดีที่สุดของสังคม

         สุธิดา แสงเพชร ในฐานะนักวิจัยโครงการฯ ระบุว่า เดิมเรามองเงินก้อนโตจากภาครัฐ หรือมองหางบประมาณจากภายนอก แต่การให้คนในชุมชนมองทุนทางสังคมของตัวเอง เป็นการมองภายในสู่ภายนอกนวัตกรสังคมและผู้นำธรรมชาติ เป็นผู้ค้นพบสินทรัพย์ ขุมพลังของชุมชน และนำมาใช้โดยไม่ต้องพึ่งพิงสินทรัพย์จากภายนอก ดังจะเห็นได้จากการรวมกลุ่มของคนรักข้าว กลุ่มคลองขนานรวมใจวิถีไทยพอเพียง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาตนเองในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง

         อารี อุปมา นวัตกรสังคม ในฐานะสมาชิกตำบลคลองขนาน กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้าร่วมโครงการค้นหาทุนทางสังคมร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า ทำให้ตนและคนในชุมชนเกิดการเรียนรู้กระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีม ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆที่ดีของชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้ฐานจากความรู้และภูมิปัญญาในชุมชน ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกรักหวงแหนและคิดที่จะรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการขยายแนวคิดเรื่องการทำนาและเกษตรพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวง เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพิงตนเองได้ ที่สำคัญเป็นการเสริมสร้างให้ชาวบ้านเข้มแข็งและรู้จักพึ่งพิงตนเองมากขึ้น

 

 

ที่มา : นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.