
ซานโนะ ชุมชนผู้เฒ่าผู้แก่ หมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์

ในประเทศญี่ปุ่นมีหมู่บ้านหนึ่งที่เล็กมากจนแทบไม่น่าเรียกหมู่บ้าน มีประชากรอยู่แค่ 42 คน จากทั้งหมด 11 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมดล้วนเป็นผู้สูงอายุ ที่อายุเฉลี่ยมากกว่า 60 ปี หมู่บ้านนี้คือ หมู่บ้านซานโนะ อยู่ในจังหวัดเฮียวโกะ
ห่างจากหมู่บ้านนี้ไปประมาณ 80 กิโลเมตรคือเมืองโออิ จังหวัดฟูกูอิ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกของญี่ปุ่นที่กลับมาเดินเครื่องอีกครั้งหลังเมื่อราวกลางปีที่ผ่านมาหลังจากเหตุการณ์ที่ฟุคุชิมา ซานโนะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของผู้สูงวัยที่มีอาชีพทำนา และมีรายได้จากบำนาญ ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นน่าสนใจ (สำหรับคนที่ไม่สนใจ) เว้นแต่หลังจากสิ้นเดือนมีนาคมปีนี้มา หมู่บ้านนี้กลายเป็นหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยเปอร์เซ็นต์
มีแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 216 แผงเรียงรายอยู่ที่ริมแม่น้ำ เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง เป็นหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ล้วนๆ แห่งแรกของญี่ปุ่น การตัดสินใจ การดำเนินงาน เพื่อมาเป็นหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ล้วนแต่เกิดจากคนในหมู่บ้านเองทั้งสิ้น ซานโนะไม่ใช่หมู่บ้านที่ห่างไกลทุรกันดาร ขาดแคลนไฟฟ้า พวกเขามีใช้ แต่ทำไมชาวบ้านตัดสินใจหันมาเปลี่ยนมันเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้เอง และบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านี้ก็ไม่ได้ไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับการผลิตกระแสไฟฟ้า เรียกได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์กันเลยทีเดียว
อะไรคือแรงจูงใจของพวกเขา คำตอบคือปัญหาการเงิน แต่ละเดือนแต่ละครัวเรือนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าเดือนละ 5,000 เยน ปีละ 60,000 เยน ซึ่งสูงสำหรับคนสูงอายุจนเป็นภาระสำหรับคนที่มีรายได้แบบพวกเขา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมามีส่วนช่วยกระตุ้นเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เพราะความกลัวว่าโรงไฟฟ้าที่โออิจะระเบิด เพราะถ้าเกิดระเบิดจริงๆ พวกเขาหนีไม่พ้นรัศมีของกัมมันตรังสีแน่นอน ทว่ามันทำให้เรื่องเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกกลายเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาก ความคิดเรื่องการผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จึงเกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้านซานโนะ
อาจจะเป็นโชคดี แต่ที่จริงมันคือความเป็นอิสระของท้องถิ่นจากอำนาจส่วนกลาง หมู่บ้านซานโนะมีเงินเก็บจากการขายที่ดินให้จังหวัดไปเมื่อสามสิบปีก่อนอยู่ 21 ล้านเยน เงินจำนวนนี้เองที่นำมาลงทุนสร้างให้หมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านพลังแสงอาทิตย์ล้วนๆ ลงทุนไป 17 ล้านเยน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 40,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ขณะที่หมู่บ้านมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพียง 3,400 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมง ส่วนที่เหลือก็ขายเข้าระบบไปโดยบริษัทที่เข้ามาดำเนินการรับซื้อปีละ 1.8 ล้านเยน ค่าธรรมเนียมที่คนซานโนะจ่ายสำหรับไฟฟ้าลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง และในปีหน้าจะลดลงเหลือ “ศูนย์” หมายถึงไม่ต้องจ่าย บทเรียนจากซานโนะที่มีแต่คนแก่ๆ คือ ถ้าพวกเขาทำได้ ใครอื่นๆ จะทำไม่ได้ และทำไมไม่ทำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2555 หน้า 6