Select Page

ยาปลอม : ธุรกิจมัจจุราช ที่ผู้บริโภคต้องหลีกเลี่ยง

ยาปลอม : ธุรกิจมัจจุราช ที่ผู้บริโภคต้องหลีกเลี่ยง

ปัจจุบันมีการจำหน่ายยาปลอม ประมาณร้อยละ 5-10 ของตลาดเภสัชภัณฑ์ทั่วโลก โดยส่วนใหญ่จะซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต    ซึ่งสร้างรายได้ให้กับผู้ค้ายาปลอมกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี ทางการไทยและฝรั่งเศสจึงร่วมกันจัดนิทรรศการ “ของปลอมและยาปลอม” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา 

เรื่อง : ณัฑฎ์ดนัย  ฐิติระอานนท์

ภาพ : วิรงรอง  พรมมี

          หากเปรียบเทียบคดีความที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในปี 2554 กับปี 2555 พบว่า มีคดีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 และมีจำนวนของกลางเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 70 ซึ่งในส่วนของการละเมิดเครื่องหมายการค้า ทั้งยา อาหาร และเครื่องสำอาง  ถูกละเมิดรองลงมาจากการคัดลอกเพลง  ภาพยนตร์  และซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย  ยาปลอมที่พบเห็นในปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน  อินเดีย  และปากีสถาน  ซึ่งจะถูกขนส่งเข้ามาที่บ่อเต็น  ชายแดนจีน-ลาว  เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่จะพบเห็นยาปลอมวางจำหน่ายอยู่เป็นอย่างมาก

          จากกรณีที่เคยพบเชื้อมาลาเรียดื้อยาที่ชายแดนไทย-กัมพูชา  บริเวณจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา จนทำให้มีคนเสียชีวิตนั้น สาเหตุหนึ่งก็คือคนไข้ซื้อยาปลอมมารับประทานเอง  เพราะร้านขายยาที่เชื่อถือได้มีระยะทางไกล เดินทางไม่สะดวก  ส่วนยาปลอมสามารถซื้อหาได้ง่าย และมีการอวดอ้างสรรพคุณว่าดี  แต่เมื่อรับประทานยาติดต่อกันสักระยะหนึ่งก็เกิดอาการดื้อยาและโรคที่เป็นอยู่นั้นกลับรักษายากขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมา

          ปัจจุบันธุรกิจยาปลอมขยายตัวจนกลายเป็นธุรกิจข้ามชาติ  เนื่องจากยาปลอมมีราคาถูกกว่าและหาซื้อได้ง่ายกว่า เพียงเราเข้าอินเทอร์เน็ตแค่คลิ๊กเดียวก็สามารถสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย  ซึ่งปัจจุบันการซื้อขายยาทางเว็บไซต์ต่างๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทย  พบว่า  กลุ่มยาปลอมที่แพร่ระบาดสูงสุด  คือ  กลุ่มยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  กลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด  และกลุ่มยาลดความอ้วนตามลำดับ  โดยเฉพาะกลุ่มยารักษาการหย่อนสมรรถนะทางเพศ  ซึ่งบริษัทเป็นผู้นำในตลาดมีส่วนแบ่งตลาด 77% ของมูลค่าตลาดรวม 200-300 ล้านบาท พบว่ามียาปลอมแพร่ระบาดมากและมีราคาจำหน่ายสูงกว่ายาจริง 3-4 เท่าตัว

          ทั้งนี้จากการสำรวจเฉพาะในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี  พบว่ามีร้านที่จำหน่ายยาปลอมถึง 33 ร้าน  โดยเจ้าหน้าที่จะปลอมตัวเป็นลูกค้าเพื่อซื้อและนำมาทดสอบตัวยาในห้องปฏิบัติการ  เจ้าหน้าที่ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกแยะยาจริงและยาปลอม  เช่น  ยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยี่ห้อ “ไวอะกร้า” ถ้าเป็นของจริงบนกล่องตัวหนังสือยี่ห้อจะเป็นสีฟ้า  ในประเทศไทยบนกล่องจะไม่มีเครื่องหมายอยู่ทางด้านหน้าซ้ายของกล่อง เป็นต้น  และเมื่อซื้อยามาได้เจ้าหน้าที่จะนำมาใส่เครื่องสแกนเพื่อนำมาวิเคราะห์โดยการอ่านค่าส่วนผสมด้วยเลเซอร์  ซึ่งเครื่องจะให้ผลลัพท์ทันทีว่าเป็นของจริงหรือของปลอม  และเมื่อตรวจสอบไม่ผ่านก็จะมีหน่วยงานเข้าไปยึดของกลางและดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายยาปลอมทันที

           ในประเทศกัมพูชาได้มีการลงนามในสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศฝรั่งเศสในการต่อสู้กับผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพของประชาชนชาวกัมพูชา  โดยโครงการนี้มุ่งเน้นที่สามประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง  และกัมพูชาก็เป็นประเทศแรกที่ได้รับเงินทุนในการต่อสู้กับยาปลอมเพื่อเสริมขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายให้เข้มงวดกวดขันอย่างจริงจัง

          ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายยาปลอม เป็นเหมือนอาชญากร ที่ทำธุรกิจอย่างไม่คำนึงถึงสุขภาพและชีวิตของผู้อื่น  เพียงเพราะผลประโยชน์ที่ล่อใจจากยาปลอมที่ต้นทุนต่ำ กำไรงาม  ทำให้เกิดความโลภ อยากได้เงินโดยไม่สนใจว่าจะทำให้ชีวิตของผู้อื่นที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอยู่แล้ว  ต้องมาเสี่ยงกับผลข้างเคียง และอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตได้

          อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผู้เขียนเองที่เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งมีความคิดเห็นว่ายาปลอมนอกจากจะละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วมันยังเป็นอาชญากรรมที่พร้อมจะคร่าชีวิตของคุณได้ทุกเมื่อ  จึงขอสนับสนุนให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด และขอรณรงค์ให้ผู้บริโภคระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการซื้อยาปลอมมารับประทานเอง  เพราะเท่ากับท่านเอาชีวิตของตนเองหยิบยื่นให้มัจจุราช

 

ขอขอบคุณ : นิทรรศการ Pharmacide Arts & Counterfeit Goods  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.