พลิกโฉมสังคมไทยปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเครือข่ายสังคมออนไลน์
ปรากฏการณ์การชุมนุมของคนเสื้อหลากสี หรือกลุ่มมั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนต่อต้านยุบสภา สะท้อนให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญในโลกเครือข่ายออนไลน์ (social media network) อย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นการสื่อสารความขัดแย้งทางการเมืองในโลกออนไลน์ ชี้ให้เห็นถึง”อำนาจของสื่อใหม่”เข้ามามีบทบาท พลังการกำหนดความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
นับเป็นพฤติการณ์ที่น่าสนใจทางนิเทศศาสตร์ท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่มีสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และวิทยุ ที่ถูกตั้งคำถามเรื่องจรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอคติ ความไม่เป็นธรรม การถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการเรียนรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดีย มอนิเตอร์)ศึกษา “ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ในเครือข่ายสังคมออนไลน์” เพื่อตรวจสอบการใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารความขัดแย้งการเมืองที่เกิดขึ้น ช่วงการชุมนุม 12 มีนาคม-30 เมษายน 2553 ผ่านเนื้อหา 4 กลุ่มอย่าง เว็บเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ดพันทิปและการใช้ฟอร์เวิร์ดเมล์
ผลการศึกษาพบว่ามีการใช้พื้นที่สื่อออนไลน์สื่อสารทางการเมืองในระดับกว้าง และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ในสื่อไมโครเว็บ อย่าง “เฟซบุ๊ก”(facebook) ลักษณะรวมกลุ่มรณรงค์ต่อต้านการชุมนุมและสนับสนุนรัฐบาลไม่ให้ยุบสภาค่อนข้างสูงมากกว่ากลุ่มสนับสนุนเสื้อแดง โยงไปถึงการจับกลุ่มทางออนไลน์ไปสู่การรวมตัวกันในโลกจริง เพื่อทำกิจกรรมรณรงค์และแสดงพลังทางการเมืองหลายด้าน
เฟซบุ๊กกลายมาเป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มที่ตรงข้ามกัน มีการเข้าไปตรวจสอบความคิดเห็นแต่ละฝ่าย การตรวจสอบเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน และนำเอามาถ่ายทอดต่อในกลุ่มของตนเพื่อแจ้งข่าวสารยังสมาชิก ในลักษณะประจาน ประณาม ขอให้ช่วยกันลงโทษทางสังคมออนไลน์ มีการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในอี-เมล, เว็บบอร์ดเพื่อให้รับรู้กันในสาธารณะ มีกรณีที่นำไปสู่การจับกุมการไล่ออกจากสถานที่ทำงาน และไม่คบค้าสมาคมปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง
ขณะที่ทวิตเตอร์ (twitter) โดดเด่นในการใช้งานเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเกาะติด ต่อเนื่อง โดยมีผู้สื่อข่าวเป็นผู้ทรงอิทธิพลในข่าวสารมากกว่ากลุ่มอื่นๆโดยเฉพาะผู้สื่อข่าวในเครือเนชั่น
ส่วนพื้นที่เว็บบอร์ดสาธารณะในพันทิป(pantip.com) มีการตั้งกระทู้หลายพันกระทู้ ช่วงเหตุชุมนุม จนได้กลายเป็นพื้นที่วิวาททางความคิดการเมืองพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงความขัดแย้งทางการเมืองหลายๆ กรณี มีการเชื่อมโยง ระดมข้อมูลข่าวสารจากพลเมืองเน็ตมากมายเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง การใช้ความรู้ เหตุผลมาหักล้างกันอย่างเสรี ขณะที่การแสดงความคิดเห็นบางส่วนมีทั้งช่วยกันเสริมสร้างความสมานฉันท์ ความเข้าใจและส่วนหนึ่งก็ได้กลายเป็นพื้นที่วิพากษ์ วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างดุดันแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และสะท้อนความเกลียดชัง ผ่านภาษาเชิงเหยียดหยาม ประณามและยังมีการใช้ฟอร์เวิร์ดเมลเพื่อสื่อสารให้ข้อมูลทางการเมืองในลักษณะชี้แจง แฉวิพากษ์วิจารณ์ เบื้องลึกเบื้องหลังเหตุชุมนุม ฯลฯ
ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ มีเดียมอนิเตอร์ ระบุว่า การศึกษาพบว่าการใช้สื่อออนไลน์สื่อสารความขัดแย้งทางการเมือง กลายเป็นพื้นที่ของการโต้ตอบ ต่อสู้ เอาชนะกันระหว่างคนชนชั้นกลางและกลุ่มผู้ชุมนุม ระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาลและผู้ต่อต้าน แม้มีเนื้อหาจากฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง/นปช.บ้างแต่พบค่อนข้างน้อย อาจมาจากสาเหตุที่รัฐควบคุม หรือสั่งปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท ปลุกระดม หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และสะท้อนว่าผู้คนที่ใช้สื่อออนไลน์ในเชิงสันติวิธี การหาทางออกและข้อเสนอแนะของวิกฤตปัญหาทางการเมืองนั้นยังอยู่ในระดับที่ไม่เข้มข้น
โดยสรุปปรากฏการณ์เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ 4 ประเด็น
1.กลุ่มรณรงค์ทางการเมืองผ่าน “facebook” พบ 45 เว็บไซต์ โดยกลุ่มที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดคือ กลุ่ม”มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนต่อต้านการยุบสภา”เป้าหมายหลักของการตั้งกลุ่มการเมืองผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อสื่อสารรวมกลุ่มความคิดทางการเมือง การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การรายงานความเคลื่อนไหวของการชุมนุม และจุดเด่นคือการวิพากษ์วิจารณ์ อภิปรายและจัดกิจกรรมแสดงพลังทางการเมือง เป็น “กลุ่มที่ไม่สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง”
การใช้ภาษาที่มีระดับตั้งแต่สุภาพไปจนระดับหยาบคาย รุนแรง และมีกรณีการประณาม ประจานกลุ่มผู้ที่ให้ข้อมูลในเชิงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยการเชื่อมโยงกับอี-เมลและส่งต่อๆ กันไป นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับกลุ่ม “Social Sanction” ที่เน้นปฏิบัติการประณาม ประจาน และสืบค้นข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำมาเผยแพร่ และ ลงโทษทางสังคมออนไลน์
ขณะที่กลุ่มสนับสนุนคนเสื้อแดง มีการใช้ข้อมูลโต้ตอบกับฝ่ายตรงข้าม และพยายามให้ข้อมูลเชิงบวกต่อกลุ่มคนเสื้อแดงกันเอง รวมทั้งอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อไทยและต่างประเทศ และยังมีเว็บเฟซบุ๊กที่เน้นกระบวนการเชิงสันติวิธี เช่น เครือข่ายสันติวิธีที่ออกแถลงการณ์และทำกิจกรรมเฝ้าระวังการสื่อข่าวการชุมนุมอย่างแข็งขัน
กลุ่มอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสื่อสารเชิงเสียดสี ประชดประชันกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในลักษณะเน้นผ่อนคลายบรรยากาศ เช่น กลุ่มคนเสื้อใน, กลุ่มคนเสื้อแพง,กลุ่มคนอย่าเอาสีเสื้อไปโยงกับการเมืองได้มั้ย ในตู้เสื้อผ้าไม่เหลืออะไรให้ใส่แล้ว
การสื่อสารในเฟซบุ๊กค่อนข้างเป็นไปอย่างรุนแรง มีลักษณะแบ่งแยกฝ่ายชัดเจน มีการด่าทอ ประณามตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามรุนแรง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่ม และพบว่ามีการตักเตือนเรื่องการใช้ภาษาบ้าง แต่ก็อาจถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีข้อความสื่อสารทั้งในเชิงสมานฉันท์และสร้างความเกลียดชังไปพร้อมๆ กัน
2.ผู้ทรงอิทธิพลข่าวสารทางการเมืองข้อมูลข่าวสารผ่านไมโครเว็บ “twitter”จาก 20 อันดับ ผู้ที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดในทวิตเตอร์ (ข้อมูลจาก lab/thaitrend) เป็นนักข่าวทั้งหมด 10 คน สังกัดเครือเนชั่นมากที่สุดถึง 8 คน ที่เหลือเป็นบุคคลจากวงการต่างๆ เช่น ดารา นักร้อง นักเขียน ฯลฯ โดยมีสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ที่คนอ้างอิงมากที่สุด
เนื้อหาที่พบในทวิตเตอร์ 5 กลุ่มคือ 1.กลุ่มเนื้อหาที่เน้นเผยแพร่ข่าวการเมือง ส่วนมากเจ้าของทวิตเตอร์เน้นเนื้อหา เป็นกลุ่มเป็นนักข่าวหรือองค์กรสื่อ 2.กลุ่มที่เน้นวิพากษ์วิจารณ์การเมือง แต่มีเนื้อหาด้านอื่นสอดแทรกเช่น พูดคุย ทักทายเรื่องทั่วไปในกลุ่มผู้ที่ติดตาม การพูดคุยเรื่องกีฬา เรื่องชีวิตประจำวันทั่วไป 3.กลุ่มเน้นข้อมูลการจราจร เช่น ศูนย์วิทยุ จส.100 4.กลุ่มเนื้อหาด้านธรรมะและ 5.กลุ่มเนื้อหาที่เน้นพูดคุยทั่วไปและความคิดเห็นทางการเมือง
3.กระบวนการทางการเมืองผ่าน “เว็บบอร์ดสาธารณะ”พันทิปดอทคอม มี 5 เนื้อหาสำคัญ 1) กระทู้เพื่อแจ้งข่าวสารเหตุการณ์ทั่วไป 2) กระทู้ที่เปิดโอกาสให้แสดงข้อมูลสืบค้นแสวงหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 3) กระทู้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสื่อสารกันภายในกลุ่ม 4) กระทู้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพูดคุยเสนอแนะทางออกอย่างสันติวิธี/รณรงค์สร้างความสมานฉันท์ 5) กระทู้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ฝั่งตรงข้าม
พื้นที่ของเว็บบอร์ดพันทิป กลายเป็นเวทีสาธารณะทางความคิดเห็นทางการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในโลกออนไลน์จำนวนนับพันๆ กระทู้ถูกตั้งขึ้น และหลายๆ กระทู้ที่โดดเด่นด้านการสืบค้น เสาะหา ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์การปะทะระหว่างทหารและกลุ่มผู้ชุมนมหรือเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอื่นๆ ได้สร้างปรากฏการณ์ “นักข่าวไซเบอร์”(cyber journalism)ให้เกิดขึ้น
4.ฟอร์เวิร์ดเมลการเมือง จากการสำรวจพบฟอร์เวิร์ดเมลที่มีเนื้อหาทางการเมืองที่ถูกส่งต่อกันในช่วงที่มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แบ่งเป็น 3 ลักษณะเนื้อหา1.วิพากษ์วิจารณ์ รณรงค์ต่อต้านกลุ่ม นปช. และทักษิณชินวัตร 2.ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และ3.วิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่หมิ่นสถาบันเบื้องสูง
ปรากฏการณ์ความคิดทางการเมืองบนโลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่เสรีทางความคิดให้ความจริงได้ถูกแสวงหาตรวจสอบ และนำเสนอ แต่เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกยังควรต้องใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบเพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด ไม่หมิ่นประมาท ละเมิดบุคคลอื่นไม่ก่อความรู้สึกเกลียดชัง แบ่งแยกด้วยอคติ และสมควรใช้พื้นที่ดังกล่าวสนับสนุน การสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง เพื่อประโยชน์ของสังคม–จบ–
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน