Select Page

น้ำท่วม-แผ่นดินไหว-ภัยแล้ง ประเทศไทย พร้อมรับมือภัยพิบัติ?

น้ำท่วม-แผ่นดินไหว-ภัยแล้ง ประเทศไทย พร้อมรับมือภัยพิบัติ?

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและโลกเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2554 ธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านบาท ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการน้ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตและการส่งออกของประเทศ ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาอย่างมีบูรณาการ ร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชน

 

บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยแล้ง ประเทศไทยก้าวพ้นภัยพิบัติ?” เพื่อให้องค์กรหน่วยงานต่างๆ และประชาชน ได้มีความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือก่อนเกิดมหาอุทกภัย

ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (กยน.) เล่าถึงการแก้ปัญหาการจัดการน้ำ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ ต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงธรรมชาติ เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น และมาดูว่าจะมีวิธีการจัดการได้อย่างไร เพื่อเกิดระบบการจัดการในทุกพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยนั้นค่อนข้างมีความพร้อม แต่สิ่งที่ขาดนั้นไม่ใช่เงินหรืออุปกรณ์ แต่เป็นการขาดคนทำงานที่จะเข้ามาช่วยดูแลและวิเคราะห์ข้อมูล

“ที่ผ่านมาเราจัดการเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งแบบแยกส่วนกัน ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาเราเสียหายไปกว่า 1.44 ล้านล้านบาท ในขณะที่เรามีการพัฒนาและแก้ไขในส่วนของการจัดการ จะใช้งบประมาณ 1-3 แสนล้านบาท คิดเป็น 20% นับว่าคุ้มค่า เพราะที่ผ่านมาไทยขาดการจัดการเรื่องโครงสร้างน้ำท่วม เห็นได้จากงบประมาณที่อุดหนุนในท้องถิ่นที่ใช้สำหรับเรื่องน้ำนั้นมีแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะไทยให้น้ำหนักความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคการเกษตร” ดร.รอยลเล่า

ดร.รอยล ยังบอกอีกว่าเรื่องน้ำนั้นยังมีจุดอ่อนในการจัดการเช่น การจัดทำแผนจำลอง ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องทำคือ การจัดการในระดับท้องถิ่นที่ชุมชนต้องหึความสนใจเรื่องน้ำมากขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือกับเอกชนเพื่อสนับสนุนการจัดการและเงินทุน อีกทั้งจะต้องกลับมาสนใจว่า ชุมชนเมืองมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำมากแค่ไหน สิ่งสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำท่วมในชุมชนเมืองที่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการป้องกัน และจัดเรื่องการระบายน้ำและป้องกันล่วงหน้า ทำให้เกิดความร่วมมือกันมากขึ้น และทำควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น

 

ทางด้าน ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกว่า  หากจะเรื่องภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ ต้องมีการวางระบบจัดการใหม่ มีการวางแผนระยะสั้น เพื่อปรับปรุงโครงสร้างป้องกันให้ชัดเจนกว่าเดิม โดยจะต้องมีผู้รับผิดชอบในระดับรัฐบาล และจะต้องมีการวางแผนในระยะยาวด้วย

“การวางแผน ให้เป็นรูปธรรมในการจัดการความเสี่ยง ก่อนจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จะต้องมีการประชุมเตรียมรับเหตุการณ์ ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อรับรองความเสี่ยงทางภัยพิบัติที่ส่งเสริมให้เกิดภัยพิบัติทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ผลิตไม่ได้ การซื้อประกันมีปัญหา หาสินเชื่อไม่ได้ หรือมีการย้ายฐานการผลิต” ปรเมธีบอก

 

 

 

 

 

 

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าถึงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่ภาคเอกชนเตรียมรับมือไม่ทันนั้น เนื่องจากไม่ได้รับรู้ข้อมูลจากภาครัฐที่ชัดเจน และไม่มีช่องทางให้สามารถติดตามข้อมูลป้องกันตนเองทั้งที่เกี่ยวกับพื้นที่น้ำผ่าน หรือน้ำท่วม รวมทั้งปริมาณน้ำและการพยากรณ์ต่างๆ

“ในปีนี้ภาครัฐควรมีช่องทางการกระจายข้อมูลที่ชัดเจน มีศูนย์บัญชาการด้านน้ำที่มีเอกภาพ มีงบประมาณและอำนาจเพียงพอในการสั่งการทั้งหน่วยงานภาครัฐและประชาชน และเชื่อว่าในภูมิภาคนี้ประเทศไทยยังน่าลงทุนมากที่สุด เพราะเราอยู่ศูนย์กลาง มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุด มีระบบคมนาคมที่ใช้ได้ และแผนแม่บทว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติเรื่องน้ำน้ำนั้น ต้องไม่ทำแค่โครงสร้างพื้นฐาน ยังต้องพิจารณาเรื่องกฎหมายและผังเมืองมากขึ้นอีกด้วย” ธนิตเล่า

 

ในส่วนการประกันวินาศภัยนั้น จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยเล่าว่า ก่อนเกิดน้ำท่วมมีทุนประกันเฉพาะภาคอุตสาหกรรม 13 ล้านล้านบาท ซึ่งในอดีตประเทศไทยถูกจัดประเทศมีภัยพิบัติ องค์กรธุรกิจทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยไม่มีเหตุภัยพิบัติ ทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยไม่ค่อยให้ความสำคัญ

“ปีที่แล้วมีความเสียหาย 4-5 แสนล้านบาท เป็นความเสียหายติดอันดับ 1 ใน 10ของโลก จึงต้องมาคิดใหม่มาประเทศไทยก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ทำให้การให้วงเงินเบี้ยประกันถูกจำกัดลง ธุรกิจประกันภัย ผู้บริโภคจึงต้องมาบริหารจัดการกันใหม่ ซึ่งตอนนี้มีกองทุนป้องกันภัยพิบัติ เพื่อรองรับการประกันความเสี่ยงภัยธรรมชาติ และทำให้เห็นว่ารัฐบาลรับประกันความเสี่ยงภัยได้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยผ่านบริษัทประกันภัยมายังกองทุนนี้ได้” จีรพันธ์เล่า

 

ส่วนทางผู้ประกอบการ นิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่า ขณะนี้ได้สร้างกำแพงล้อมรอบพื้นที่นิคมเป็นระยะทางทั้งหมด 26.1 กิโลเมตร โดยใช้แผ่นคอนกรีตที่มีการตอกลงไปถึงชั้นใต้ดิน 7-9 เมตร และเหนือพื้นที่อีก 5.5 เมตร เพื่อป้องกันระดับน้ำท่วมสูงสุดที่ 2.70-3 เมตร ซึ่งเคยท่วมสูงสุดในปีที่ผ่านมา

“นอกจากนี้ เรายังเพิ่มสถานีสูบน้ำจากเดิมศักยภาพมีแค่ 6.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งเปลี่ยนจากระบบไฟฟ้ามาเป็นการปั๊มด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งปรับปรุงถนนภายในนวนคร โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนการแก้ไขปัญหานั้นจะต้องถามประชามติเสียก่อน ประชาชนที่อยู่รอบนิคมก็จะมาช่วยกัน เมื่อมีการทำเขื่อนต้องสำรวจแนวทางเข้าออกของประชาชน ซึ่งเป็นประตูหน้าด่าน หากมีน้ำท่วมเข้ามาก็จะสามารถปิดล็อคได้” นิพิฐอธิบาย

 

 

 

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิบัติภัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า แม้ในปีนี้ปรากฏการณ์ลานิญา ที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก และวิกฤตน้ำท่วมในปีที่แล้ว จะกลับสู่ภาวะปกติในปีนี้แล้ว แต่จากสถิติพบว่า ปีหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่มักจะเกิดพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง และจะก่อให้เกิดเหตุน้ำท่วมในภาคกลางได้อีก ซึ่งสถานการณ์ปีนี้ใกล้เคียงกับเมื่อปี พ.ศ.2539 คือฝนไม่มากแต่จะมีพายุซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ และในอีก 20 ปีข้างหน้า จะต้องประสบปัญหาน้ำท่วม หากยังไม่มีระบบการจัดการผังเมืองของกรุงเทพฯ

“ขณะนี้มีพายุเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว 4 ลูก พายุไต้ฝุ่นลูกที่ 3 ชื่อว่าพายุไต้ฝุ่นกูโชล กำลังพัดเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้ ส่วนลูกที่ 4 ชื่อพายุโซนร้อนตาลิม กำลังก่อตัวขึ้นเป็นพายุได้ฝุ่น คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่เกาะไต้หวัน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ส่วนช่วงเวลาที่พายุมักพัดเข้าประเทศไทยคือ เดือนสิงหาคม หรือเดือนกันยายน ขณะที่ระบบป้องกันน้ำท่วมภาคกลางอาจมีปัญหา ถ้าถูกพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มโดยตรง ศ.ดร.ธนวัฒน์อธิบาย”

 

ด้านภัยพิบัติประเภท “แผ่นดินไหว” นั้น รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) บอกว่า สถิติแผ่นดินไหวในปัจจุบันยังคงมีจำนวนเท่าเดิมไม่มีการเพิ่มขึ้น แต่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เพราะจำนวนประชากร เมืองมีขนาดใหญ่ขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม จึงต้องมีการออกกฎหมายเพื่อให้ปฏิบัติตาม เช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ไม่มีการบังคับใช้ทุกหลังในพื้นที่เสี่ยงภัย และวิศวกรรุ่นใหม่ มีการออกแบบไม่ถูกวิธีและหย่อนยาน จึงเป็นการสร้างความเสี่ยงในการเกิดภัย

ในขณะที่ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สะท้อนปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมาว่า การที่น้ำมานั้นไม่ใช่ปัญหา แต่จะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ด้วยการรับน้ำที่ไหลลงมา และรีบระบายลงทะเลทางสมุทรปราการให้เร็วที่สุด แต่ที่ผ่านมาทุกคนทำคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันตนเอง ผลสุดท้ายเมื่อคันกั้นน้ำต้านแรงไม่ได้ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

 

ดังนั้น หากองค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผนึกกำลังร่วมมือให้ความรู้และหาทางออกจะเป็นการรับมือภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

 

ที่มา : หน้าประชาชื่น หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2555 หน้า 20

ขอขอบคุณภาพจาก : www.bookdose.com

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.