Select Page

วาติกันประกาศรายชื่อ “อัลบั้มเพลงป๊อปคลาสสิก” ที่คริสตศาสนิกชนสามารถฟังได้

วาติกันประกาศรายชื่อ “อัลบั้มเพลงป๊อปคลาสสิก” ที่คริสตศาสนิกชนสามารถฟังได้

นสพ.วาติกันประกาศรายชื่ออัลบั้มเพลงป๊อปที่สามารถรับฟังได้ มีตั้งแต่ “บีเทิลส์” “ไมเคิล แจ๊กสัน” จนถึง “โอเอซิส” ชี้เป็น “ยาแก้พิษ” เพลงที่มีอยู่ดาดดื่นในท้องตลาด ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งชื่นชอบเพลงคลาสสิกของโมสาร์ต และเคยกล่าวว่า “ดนตรีร็อกเป็นผลงานของปิศาจ” จะหันมาฟังเพลงของศิลปินอย่าง “คาร์ลอส ซานตาน่า” หรือ “โอเอซิส”

          นสพ.วาติกันประกาศรายชื่ออัลบั้มเพลงป๊อปที่สามารถรับฟังได้ มีตั้งแต่ “บีเทิลส์” “ไมเคิล แจ๊กสัน” จนถึง “โอเอซิส” ชี้เป็น “ยาแก้พิษ” เพลงที่มีอยู่ดาดดื่นในท้องตลาด
         หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 แห่งวาติกัน ซึ่งชื่นชอบเพลงคลาสสิกของโมสาร์ต และเคยกล่าวว่า “ดนตรีร็อกเป็นผลงานของปิศาจ” จะหันมาฟังเพลงของศิลปินอย่าง “คาร์ลอส ซานตาน่า” หรือ “โอเอซิส”
          อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักวาติกันไม่ได้เพียงประกาศให้ผลงานของซานตาน่าและโอเอซิสเป็นเพลงที่คริสตศาสนิกชนสามารถรับฟังได้เท่านั้น แต่ยังประกาศให้งานของ “เดอะ บีเทิลส์” “ไมเคิล แจ๊กสัน” “ยูทู” “พิงก์ ฟลอยด์” และ “ฟลีตวู้ด แม็ค” อยู่ในบัญชีรายชื่ออัลบั้มเพลงป๊อปที่ทางวาติกันรับรองให้ผู้คนรับฟังได้ โดยบทความดังกล่าวถูกตีพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์ของนครรัฐวาติกัน
ผู้เขียนบทความได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากในปีนี้ทวีปยุโรปต้องเผชิญหน้ากับเพลงดาด ๆ จำนวนมากในหลายเทศกาลดนตรี จึงถึงเวลาแล้วที่ทางวาติกันจะต้องแนะนำ “ยาต้านพิษ” ในรูปแบบของบทเพลงที่ถือเป็นหลักไมล์สำคัญระดับคลาสสิกของวงการเพลงป๊อป โดยอัลบั้มเพลงที่ถูกระบุในบัญชีรายชื่อดังกล่าวก็มีอาทิเช่น

          อัลบั้ม “Thriller” ซึ่งออกจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ.2525 ของ “ไมเคิล แจ๊กสัน” ซึ่งมิวสิควิดีโออันโดดเด่นในอัลบั้มดังกล่าวมีตัวละครผีดิบซอมบี้จำนวนมากออกมาเต้นร่วมกัน

          อัลบั้ม “The Dark Side of the Moon” ของวง “พิงก์ ฟลอยด์” ซึ่งเป็นคอนเส็ปท์ อัลบั้ม ที่มีเนื้อหาพินิจพิเคราะห์ไตร่ตรองเรื่องกาลเวลา, ความตาย, ความป่วยไข้ทางจิตใจ และความตะกละตะกลามของเหล่านักบริโภคนิยม


          อัลบั้ม “Revolver” ของ “เดอะ บีเทิลส์” ซึ่งออกจำหน่ายในปี พ.ศ.2509 และน่าจะเป็นผลงานของกลุ่มสี่เต่าทองที่ได้รับอิทธิพลจากการใช้ยาเสพติดมากที่สุด อย่างไรก็ตาม มีบาทหลวงคนหนึ่งเคยแสดงความเห็นว่าเนื้อร้องของเพลง “Eleanor Rigby” ในอัลบั้มดังกล่าวนั้น “เป็นคำเทศนาที่ไม่มีใครได้ยิน” นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังแสดงความเห็นถึงคำคุยของ “จอห์น เลนนอน” ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่าวงดนตรีของตนโด่งดังกว่าพระเยซูว่า “นั่นเป็นเพียงคำคุยโวโอ้อวดของเด็กหนุ่มจากชนชั้นแรงงานอังกฤษที่ต้องต่อสู้รับมือกับความสำเร็จซึ่งถาโถมเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว”

          อัลบั้ม “Achtung Baby” ของวง “ยูทู” ซึ่งวางขายในปี พ.ศ.2534 โดยเพลง “Acrobat” ในอัลบั้มชุดนี้มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า “ฉันจะหยุดทานขนมปังและไวน์ ถ้ามีโบสถ์ที่ฉันสามารถยอมรับได้”

          อัลบั้ม “(What′s the Story) Morning Glory” ในปี พ.ศ.2538 ของวง “โอเอซิส” ที่หนังสือพิมพ์ของวาติกันแสดงความเห็นว่าเป็นงานของ “ตัวสร้างปัญหาที่น่าหวั่นเกรงจากชนชั้นแรงงาน ซึ่งได้สรรค์สร้างอัญมณีที่ถูกผลิตขึ้นมาจากความเจ็บปวดทรมานให้แก่โลกใบนี้”

อัลบั้ม “Rumours” ในปี 2520 ของวงดนตรีคณะ “ฟลีตวู้ด แม็ค” ซึ่งถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “อุปรากรทางดนตรีที่มีเสน่ห์น่าลุ่มหลง”

          และอัลบั้ม “Supernatural” ของ “คาร์ลอส ซานตาน่า” ที่ออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ.2542 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นสมาชิกหนึ่งเดียวของคนในรุ่น “วู้ดสต๊อก” ที่ยังอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพนักดนตรี

ที่มา : มติชนออนไลน์   วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.