Select Page

ไวรัสตับอักเสบB&C มัจจุราชเงียบ..ทำลาย”ตับ”

ไวรัสตับอักเสบB&C  มัจจุราชเงียบ..ทำลาย”ตับ”

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ไวรัสตับอักเสบ B และ C มีผลกระทบต่อประชากรโลก 1 ใน 12 คน และคร่าชีวิตคนเหล่านี้ไปราว 1 ล้านคนทุกปี โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นแหล่งที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบมากที่สุดในโลก

              ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ทั่วโลกมีผู้เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบ B เรื้อรังประมาณ 350 ล้านคน และมีผู้ได้รับเชื้อชนิดนี้มากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก

             ในประเทศไทยมีผู้เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบ B มากกว่า 3.5 ล้านคน

             ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบ B ที่ไม่ได้รับการรักษา ประมาณ 1 ล้านคน

          รศ.นพ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์  นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย บอกว่า โรคไวรัสตับอักเสบยังคุกคามคนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งไวรัส B และไวรัส C ที่น่ากลัวก็คือ กว่า 80% ยังมองข้ามอันตรายของโรคไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบ B ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่อาการของโรคที่รุนแรงในตับ เช่น ตับแข็ง ตับวาย มะเร็งตับ โดยเฉพาะมะเร็งตับ พบว่ากว่า 70% ของผู้ป่วยโรคนี้มีผลมาจากไวรัสตับอักเสบ B เรื้อรัง และปัจจุบันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งที่พบในคนไทย

           “โรคไวรัสตับอักเสบ B ติดเชื้อได้ง่ายกว่าโรคเอดส์กว่า 100 เท่า เพราะปริมาณของเชื้อไวรัสB ในเลือดสูงกว่าไวรัสเอดส์มากโรคไวรัสตับอักเสบ B สามารถติดต่อผ่านคนได้โดยจากการสัมผัสเลือดและน้ำคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น ทางเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน แพร่จากแม่สู่ลูก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B ของคนไทย นอกจากนี้ เชื้ออาจจะแพร่โดยการใช้ของมีคม ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนเลือด เช่น แปรงสีฟันร่วมกับผู้ติดเชื้อ และการใช้เครื่องมือที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อในการสักผิวหนัง ที่สำคัญผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ B เรื้อรังมักจะไม่มีอาการ และกว่าจะแสดงอาการก็มักมีระยะโรคที่เป็นมากแล้ว เช่น เป็นตับแข็งมาก หรือมีมะเร็งตับแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นภัยเงียบสู่มะเร็งตับที่ต้องเฝ้าระวัง”  คุณหมอธีระบอก

            ส่วนไวรัสตับอักเสบ C แม้จะพบไม่มาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะคนที่ป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบ C มักไม่รู้ว่าตัวเองป่วย แต่ถ้ามีไวรัสชนิดนี้ในร่างกายแล้ว ประมาณ 20-30% จะกลายเป็นตับแข็งในระยะเวลา 20 ปี

             รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า ไวรัสตับอักเสบ C ค้นพบเมื่อปี 2532 โดยแพทย์ชาวสหรัฐอเมริกา แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครรู้ว่าเป็นไวรัสชนิดนี้ ไวรัสตับอักเสบ C ติดต่อกันง่ายที่สุด คือ ทางเลือด 80% ของคนไข้ ที่พบ เคยได้รับเลือด หรือเกล็ดเลือด อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น หรือแม้ แต่การสัก  ไม่ว่าจะสักคิ้วถาวร ปากแดงถาวร หรือสักตามตัว ถ้าเข็มที่ใช้ไม่สะอาดและมีเชื้อชนิดนี้อยู่โอกาสที่จะติดก็มีความเป็นไปได้ แม้จะไม่สูงมากเหมือนการรับเลือดโดยตรงก็ตาม หรือแม้แต่การขริบอวัยวะเพศ ที่เครื่องมือไม่สะอาดพอ หรือมีเชื้อก็สามารถติดได้ 

             “โรคนี้ถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคนี้แทบจะไม่มีอาการใดๆเลย กว่าจะรู้ก็คือ พบว่ามีอาการเสื่อมของตับมากๆ ร่างกายก็จะเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็คือ มีภาวะตับแข็งแล้วและอาจเกิดมะเร็งตับตามมา” 

                คุณหมอทวีศักดิ์บอก พร้อมกับอธิบายต่อว่า ส่วนใหญ่ที่รู้ตัวว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ C มักตรวจพบจากการไปตรวจร่างกาย และเห็นการทํางานของตับที่ผิดปกติ แต่การได้รับเชื้ออาจได้รับมานานมากเป็นสิบๆปี บางคนมีระยะการดำเนินของโรคนานถึง 20-30 ปี โดยไม่รู้ตัว เพราะร่างกายยังแข็งแรง แม้จะมีอาการของตับอักเสบเป็นระยะๆก็ตาม

                  คุณหมอทวีศักดิ์  บอกอีกว่า ไวรัสตับอักเสบ C ต่างจากไวรัสตับอักเสบ B เพราะไม่มีอาการตา หรือตัวเหลือง บางคนตรวจเจอตอนอายุ 40 ถามไปถามมาบอกว่าเคยได้รับเลือดเมื่ออายุ 20 นั่นคือจริงๆแล้วมีภาวะตับอักเสบเรื้อรังมาตลอดแต่ไม่รู้ตัวที่น่ากลัวสำหรับไวรัสตับอักเสบ C คือ 80–85% เป็นเรื้อรัง และกัดกินตับไปเรื่อยๆ ขณะที่ไวรัสตับอักเสบ B สามารถรักษาให้หายได้ 90–95% หลังจากรักษาหายขาดแล้ว ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นด้วย

                  หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกอีกว่า จากการศึกษาคนไข้ใน รพ.ศิริราช กว่า 60% ของผู้ป่วยมีประวัติเคยได้รับเลือดก่อน ปี 2533 ทําให้ติดเชื้อ แต่ปัจจุบันสภากาชาดไทยมีการตรวจกรองเลือดทุกถุงอยู่แล้ว ความเสี่ยงในส่วนนี้จะน้อยลงไป ข้อควรรู้อย่างหนึ่งก็คือ ไวรัสตับอักเสบ C ไม่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ทํางานร่วมกัน แม้แต่คู่สามีภรรยาที่มีเพศสัมพันธ์กันก็ไม่ติด หรือการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกโอกาสติดจะน้อยมาก จึงไม่ต้องกังวลกับปัจจัยเหล่านี้

                 ในประเทศไทยจำนวนคนที่ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบ C มีประมาณ 1% คิดเป็นตัวเลขคร่าวๆก็ราว 6.5 แสนคน ไม่มากเหมือนไวรัสตับอักเสบ B และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รักษาง่าย คือ สายพันธุ์ที่ 3 รักษาแค่ 6 เดือนก็หายขาดได้ ส่วนมากที่น่ากังวล คือ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้รับการรักษา เพราะไม่มีอาการ กว่าจะรู้ตับก็ถูกทำลายไปมากแล้ว

             เมื่อตรวจพบควรทำอย่างไร คุณหมอทวีศักดิ์บอกว่า สมัยก่อนยารักษาไวรัสตับอักเสบ C อยู่ที่เดือนละ 40,000 กว่าบาท แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือประมาณเดือนละ 10,000 กว่าบาท ต้องรักษาต่อเนื่องนาน 6 เดือน และปัจจุบันก็อยู่ในสิทธิการรักษาของหลักประกันสุขภาพ ยกเว้นสายพันธุ์อื่นที่อาจจะยังไม่ครอบคลุม

              ถ้ารู้สึกว่ามีอาการอ่อนเพลียบ่อยๆ เหนื่อยง่าย มึนงง และมีประวัติการรับเลือดหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากสาเหตุต่างๆดังที่กล่าวมาแล้ว ควรไปพบ แพทย์เพื่อตรวจเช็กการทำงานของตับ และรักษาให้หายขาดก่อนที่ตับจะถูกทำลายจนไม่สามารถรักษาได้.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2555 หน้า 7

 

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.