อิเล็กทรอนิกส์เรื่องง่าย แกดเจ็ต D.I.Y. พารวยได้ร้อยล้าน
บ่อยครั้งที่การคิดนอกรอบช่วยให้หลายคนมีไอเดียใหม่ๆ และสามารถผันตัวเองขึ้นมาเป็นนักธุรกิจชั้นนำ ซึ่งเป็นที่จดจำได้
ลิเมอร์ ฟรายด์ สาวสวยผู้มีเอกลักษณ์เตะตาด้วยผมสีชมพูสดและเจาะปาก อาจดูเผินๆ เหมือนพังก์หรือร็อกเกอร์สาว ทว่านี่คือโฉมหน้าของนักธุรกิจสาวร้อยล้านนำพาธุรกิจ เอดาฟรุต อินดัสทรีส์ (Adafruit Industries) คว้ารางวัลผู้ประกอบการยอดเยี่ยมประจำปี 2555 ของนิตยสารอองเทรอพรีเนอร์ในสหรัฐมาแล้ว
รูปลักษณ์ของฟรายด์สามารถบ่งบอกถึงที่เธอทำได้เป็นอย่างดี แทนที่จะผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปหรือแกดเจ็ตทั่วไปเพื่อวางจำหน่ายตามแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า เอดาฟรุต คือธุรกิจผลิตชุดอิเล็กทรอนิกส์คิตแบบ D.I.Y. Open Source Hardware หรือชุดอุปกรณ์ที่ให้ลูกค้านำไปประดิษฐ์ได้เองที่บ้าน โดยมีการบอกขั้นตอนรายละเอียดและวิธีทำให้อย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งมีอุปกรณ์ให้เลือกหลายประเภทในราคาย่อมเยา อาทิ มินตีบูสต์ ซึ่งเป็นเครื่องชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางยูเอสบี ในราคาเพียง 19.5 เหรียญสหรัฐ (ราว 600 บาท) เท่านั้น
แม้จะเน้นผลิตอุปกรณ์ขนาดเล็กในราคาที่ไม่ได้หวังกำไรเกิดควร แต่เอดาฟรุตก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีทั้งในและนอกสหรัฐ และสามารถสร้างยอดขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้ถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 300 ล้านบาท) ในปี 2554 ที่ผ่านมา ภายใต้พนักงานทั้งหมดเพียง 35 คน !
ความสำเร็จในวันนี้จุดเริ่มต้นมาจากฟรายด์ วิศวกรสาวจากรั้วสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ซึ่งชอบโพสต์วิดีโอการทำอุปกรณ์อิเล็ทรอนิกส์แบบง่ายๆ บนเว็บไซต์ของตัวเอง ก่อนจะมีเสียงเรียกร้องตามมาไม่ขาดสายให้เธอผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ออกวางจำหน่าย เธอจึงตัดสินใจเริ่มเอดาฟรุตขึ้นในมหานครนิวยอร์กในปี 2548 ขณะที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมต่อเนื่องที่ MIT
วิศวกรสาวรายนี้เริ่มต้นจากเงินทุนเพียง 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ราว 3 แสนบาท) ที่พ่อแม่ให้มาเป็นค่าเล่าเรียน ฟรายด์ตัดสินใจนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น และเริ่มต้นลงมือประดิษฐ์ชุดอิเล็กทรอนิกส์คิต ในราคาชุดละ 10 เหรียญสหรัฐ (ราว 300 บาท) และส่งของทางไปรษณีย์ผ่านทางสำนักงานไปรษณีย์ ซึ่งอยู่ถัดไปจากหอพัก เป็นสำนักงานแห่งแรกบริษัท
ต่อมาเมื่อกระแสตอบรับดีขึ้นและมียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ฟรายด์ต้องหาสถานที่ใหม่และเริ่มจ้างพนักงาน ซึ่งเป็นเพื่อนวิศวกรด้วยกันพร้อมทั้งคิดโปรเจกต์ใหม่ๆ ขึ้นสุดสัปดาห์ ตั้งแต่แกดเจ็ตชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงแผงโซลาร์เซลล์และพรินเตอร์
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่อยู่บนจุดมุ่งหมายหลัก คือ เผยแพร่ความรู้เรื่องอิเล็กทรอนิกส์ให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ลบภาพความคิดเดิมๆ ที่ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นยาก และหันมาประดิษฐ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสนุกสนาน
บรรดาลูกค้าที่ชื่นชอบในความคิดของฟรายด์ ผู้ไม่ยอมให้เรื่องอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ผูกขาดไว้กับบริษัทใหญ่เท่านั้น ต่างสนับสนุนเอดาฟรุตมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 7 ปีมานี้ โดยสามารถจำหน่ายสินค้าไปได้แล้วถึงกว่า 5 แสนชิ้น และมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ความไว้วางใจจากลูกค้าที่ช่วยให้กิจการเติบโตขึ้นทำให้เอดาฟรุตสามารถขยับขยายกิจการย้ายพนักงาน 35 ชีวิต จากสำนักงานขนาด 2,00 ตารางฟุต ใกล้กับย่านวอลสตรีต ไปสู่สำนักงานใหม่ 1.2 หมื่นตารางฟุต ในย่านโซโห เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วพร้อมทั้งจ้างพนักงานใหม่อีก 15 คน ซึ่งพื้นที่ที่กว้างขึ้นพร้อมด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบครันขึ้นนี่เอง ทำให้ฟรายด์คาดว่าจะช่วยให้ขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอีกมากในปีนี้
“อุปกรณ์ที่เราวางขายทุกชิ้นถูกออกแบบมาไม่ให้ซับซ้อนเกินไป ฉันทุ่มเทเวลาไปกับการคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับสินค้าที่เขาซื้อไปเขาจะได้เห็นคุณค่าและไม่ทิ้งมันง่ายๆ และเมื่อเราจะขายอะไรสักอย่างแล้ว เราก็มักจะให้คำแนะนำที่ดีเพื่อให้ลูกค้าสามรถทำเองได้ง่ายๆ ในเวลาไม่กี่นาที” ฟรายด์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 หน้า B14