Select Page

“ถุงมือหรรษาและหนังสือตั้งโต๊ะ” สื่อการเรียนรู้ เสริมรักการอ่าน

“ถุงมือหรรษาและหนังสือตั้งโต๊ะ” สื่อการเรียนรู้ เสริมรักการอ่าน

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 สำนักงานเลขาธิการการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ 2 เมษายน อีกทั้งวันนี้ยังเป็น “วันหนังสือเด็กแห่งชาติ” อีกด้วย เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจได้ศึกษาพระจริยวัตรอันงดงามและเดินตามรอยพระบาท “เจ้าฟ้านักอ่าน” พระองค์นี้  งานจัดขึ้น ณ ห้องเวิลด์บอลรูม  ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ 

 

เรื่องและภาพ : วิรงรอง พรมมี

                      คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้เด็กไทยและคนไทยมีปัญหาเรื่องการรักการอ่าน ก็ด้วยสถิติหลายๆอย่าง ที่บ่งชี้อย่างแน่ชัดว่า คนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือทั้งที่หนังสือคือ “ขุมทรัพย์ทางปัญญา” ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ  ส่วนหนึ่งอาจมาจากพื้นฐานครอบครัว ก็ด้วยครอบครัวเป็นสิ่งแรกที่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด แต่พ่อแม่อาจยังขาดสื่อที่น่าสนใจ สำหรับดึงดูดใจให้เด็กฟังการอ่านหนังสือก็ได้

 

 

                    วันนี้ดิฉันจึงอยากพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับสื่อการเรียนรู้ที่จะช่วยให้เด็กๆสนใจ และตั้งใจฟังการอ่านหนังสือ สิ่งนั้นก็คือ “ถุงมือหรรษา” และ “นิทานตั้งโต๊ะ” สื่อการสอนราคาถูก ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ในครอบครัว ซึ่งดิฉันได้ขอความรู้เรื่องนี้จากคุณประภาภรณ์ จังพานิช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย

                   คุณประภาภรณ์ จังพานิช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย อธิบายให้ฟังว่า สื่อการสอนนี้ดิฉันเรียกมันว่า “ถุงมือหรรษา” สำหรับพ่อแม่ คุณครู หรือพี่เลี้ยงที่ดูแลเด็กซึ่งทำจากถุงมือช่าง เอาไว้ใช้เล่นกับเด็ก แม้ว่าจะเป็นเด็กโตก็สามารถเล่นได้ อุปกรณ์ที่ใช้ก็มีถุงมือช่าง (ถุงมือผ้า) คู่ละ 5 บาท ฉะนั้นข้างหนึ่งก็ตก 2 บาท 50 สตางค์ ส่วนที่มัดเป็นส่วนหัวก็ใช้สำลี ยัดเข้าไป ให้มีลักษณะกลมเหมือนหน้าคน เสร็จแล้วก็ใช้ด้ายมัด ก็จะได้หน้าคนกลมๆ ทั้ง 5 นิ้ว หลังจากนั้นการแต่งหน้าก็ขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่คนที่จะตกแต่ง โดยที่เราจะใช้เศษผ้ากำมะหยี่ หรือไหมพรม และพวกริบบิ้นต่างๆ สามารถนำมาตกแต่งหน้าได้ตามจินตนาการ หรือเรื่องที่เราจะไปคุยกับเด็ก เช่น เราจะเล่านิทานให้เด็กฟังเรื่อง “ลูกหมูสามตัว” ตัวละครก็จะมีลูกหมู 3 ตัว หมาป่า และตัวผู้เล่าเอง ซึ่งอาจเป็นผู้ชี้แนะ สั่งสอนให้เด็กเป็นเด็กดี ถุงมือหรรษานี้มุ่งเน้นการใช้สื่อ เพื่อเป็นสายสัมพันธ์กับเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้ โดยที่เราไม่ไปสอนเขาโดยตรง เพราะเด็กปฐมวัย (เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี) เขาจะไม่รู้ในเรื่องของนามธรรม ฉะนั้นต้องให้เขาเห็นภาพ สมมติถ้าเราจะสอนเขาเรื่องการต่อคิว หรือความสามัคคี เราก็จะพูดว่า “น้องหมีบอกว่ารอก่อนนะ ให้พี่เอไปก่อนนะ  เพราะพี่เอมาก่อน”  อะไรอย่างนี้ เราก็จะสอนเด็ก ซึ่งถุงมือนี้สามารถใช้ได้กับเด็กทุกวัย เด็กทุกคนจะชอบ สิ่งสำคัญก็คือ ไม่ว่าจะแปะด้วยอะไร คุณพ่อคุณแม่ หรือครูผู้ดูแลเด็ก ต้องใช้กาวที่ติดแน่นนิดหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือครูผู้ดูแล ใช้คนเดียวไม่เป็นไร แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณยื่นให้เด็กเล่น คุณต้องมั่นใจว่าเด็กจะไม่กลืนลงคอ หรือเอาเข้าปาก เรากลัวตรงนี้เท่านั้นเอง นอกนั้นก็คือเล่นตามจินตนาการ จะใช้การเล่านิทาน จะใช้เรื่องของการฝึกพฤติกรรมสุขภาพ  เช่น เขาไม่กินนม หรือใช้ปลุกเขาว่าวันนี้สายแล้วนะ “น้องเอตื่นหรือยัง พี่หมีมารอนานแล้วนะ” จะใช้เรื่องของการกล่อมนอนก็ได้ ใช้ได้ทุกอย่าง คือใช้ได้สารพัดประโยชน์ และเมื่อเด็กโตขึ้นเขาก็สามารถจะเล่นเอง ก็คือเป็นการเสริมสร้างจินตนาการ เพราะในเด็กปฐมวัย จินตนาการถือว่าเป็นเรื่องสุดยอดของการเรียนรู้ ถ้าเด็กคนไหนไม่มีจินตนาการถือว่าเขาไม่เต็มศักยภาพของเขา ถ้ามีเขาจะคุยกับเพื่อนเขาได้ เล่าให้พ่อแม่ฟังได้ สื่อตัวนี้เชื่อมโยงกันด้วยการใช้หนังสือนิทาน ซึ่งสุดยอด แต่ถ้าสมมติเรามีอยู่เล่มเดียวเล่าซ้ำๆ เด็กก็จะเบื่อ เราต้องมีสื่อ สื่อในการเล่านิทานก็มีหลากหลาย ใช้หนังสืออย่างเดียวก็ได้ แต่ถ้าใช้ทุกวันๆ เด็กก็อาจรู้สึกเบื่อ ใช้ตัวพ่อแม่ก็ได้ ในการเล่านิทานจากหนังสือใช้ตัวหุ่นประกอบด้วยก็ได้ โดยที่เราชี้ภาพไปด้วย พอเด็กฟังไปนานๆ เขาจะจำเรื่องได้ เล่าให้เราฟังได้ เราก็ใช้ตัวนี้มาเป็นสื่อการเรียนรู้เท่านั้นเอง ในการใช้หนังสือเพื่อให้เด็กรักการอ่าน มันไม่จำเป็นต้องทุกวัน อาจใช้การวาดภาพเพิ่มด้วยก็ได้ สิ่งสำคัญในการใช้หนังสือกับเด็กก็คืออย่าเล่าไปอย่างเดียว ต้องใช้มือชี้ตัวหนังสือให้เด็กดูด้วย โดยเราสามารถใช้สูตรนี้กับเด็กได้เลย สมมติดิฉันมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง เวลาให้เด็กดู คุณต้องชี้ให้เด็กดูด้วย เช่น ลูกหมูสามตัว ก็เอามือชี้ไปที่คำศัพท์ด้วย ลูก – หมู –  สาม –  ตัว  ตรงนี้จะช่วยให้เด็กเกิดจินตนาการด้วย ไม่ใช่แค่ฟังนิทานอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ฟังเสียงอย่างเดียว แต่เขาจะจำตัวอักษรได้ และเมื่อเขาโตขึ้น สิ่งที่จะได้ตามมาคือ “เด็กจะรักการอ่าน” อ่านหนังสือได้เร็ว นี่คือเคล็ดลับ

                         ถ้าคุณพ่อคุณแม่เล่านิทานให้เด็กฟัง เราจะบอกเลยว่า อย่าเล่าปากเปล่าอย่าเดียว คุณต้องชี้ให้เขาดูด้วยว่า อันนี้คืออะไร อันนั้นคืออะไร กระบวนการจำของเขาจะจำเลยว่าอันนี้อ่านว่า “ ก = ก.ไก่” นะ อันนี้อ่านว่า “1 = หนึ่ง”  นะ ถามว่าเขาอ่านออกไหม ไม่ออกนะ แต่เขาจะรู้ว่าสัญลักษณ์นี้คือ “หนึ่ง” นะ เขาเชื่อมโยงมาถึงกัน สมมติหนังสือเล่มนี้มีรูปเครื่องบิน เราต้องบอกเขาเลยว่า “อันนี้นะลูกเขาเรียกกันว่า เครื่องบิน” พร้อมชี้ไปที่รูป และคำนั้นๆ “เครื่อง –  บิน” เด็กก็จะรู้ว่าตัวอย่างนี้ กับตัวอย่างนี้สัมพันธ์กันนะ นี่จะทำให้เด็กอ่านหนังสือได้เร็วขึ้น ขบวนการรักการอ่านตามมาเอง เพราะว่าเขาได้เปิดด้วยตลอดเวลา นอกจากเราใช้สื่อตรงนี้แล้ว ถามว่าในเรื่องของการรักการอ่าน เรื่องของการซื้อหนังสือพ่อแม่อาจไม่สามารถซื้อได้ตลอด ทำให้ดิฉันคิดสื่ออีกตัวขึ้นมา

                       ดิฉันเรียกมันว่า “หนังสือตั้งโต๊ะ” ไม่ว่าจะทำเป็นหนังสือนิทาน ก็จะเป็นสายสัมพันธ์ของลูกกับแม่ ครูกับเด็ก ซึ่งในเด็กปฐมวัยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “สายสัมพันธ์” สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือใครก็ได้ ที่อยู่กับเด็ก เมื่อไหร่มีตรงนี้ มันจะเป็นสื่อกลาง รักการอ่านจะตามมาเอง แต่อันนี้คืออันดับแรกที่เราอยากให้เกิด  “หนังสือตั้งโต๊ะ” นี้ทำง่ายๆ โดยทำจากปฏิทินเก่า เพราะทุกปี คนก็ต้องทิ้งปฏิทินอยู่แล้วใช่ไหมคะ ตัวนี้เป็นสื่อที่สุดยอด เพราะกระดาษแข็ง พ่อแม่ที่มีฝีมือ หรือคุณครูที่พอมีไอเดียหน่อย คุณสามารถจะใช้กระดาษสีแปะทับลงไป แล้ววาดอะไรลงไปก็ได้  ถ้าใช้กับเด็ก 1-2 ขวบ มือเขาจะใช้จับดินสอได้แล้ว กล้ามเนื้อมัดเล็กใช้ได้แล้ว ก็ให้เขาระบายสี นี่คือสื่อการสอนที่สุดยอด เด็กจะมีความภาคภูมิใจในผลงานของเขาที่เขาทำ แต่หากวาดไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ตัดกระดาษเป็น โบชัวร์เยอะแยะ ตัดแล้วก็เอามาแปะ คุณแปะกับลูก ครูแปะกับเด็กในศูนย์เด็กเล็ก “เอานี่ครูแปะให้ เดี๋ยวหนูทากาวนะลูก แปะลงไปนะลูก อันนี้อ่านว่า “รถ” นะ อันนี้คือรถสีแดงนะ”  สิ่งที่ได้ตามมาคืออะไร “ภาษา” ซึ่งเกิดแน่นอน และต่อไปเด็กเห็นเรื่องนี้ก็อยากเปิด  เพราะเป็นหนังสือที่เขาทำ และเปิดเท่าไรก็ไม่มีการพัง เพราะเด็กจะเรียนรู้เรื่องของการรักหนังสือ ไปในตัว เพราะเขาจะหวงแหน ในเรื่องของการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน ต้องปลูกฝังในเรื่องการรักษาของเข้าไปด้วย ซึ่งตรงนี้เมื่อเป็นการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก ก็จะติดไปจนโต เขาจะไม่ทำลายข้าวของ เขาจะรักษาของทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของส่วนรวมหรือของส่วนตัว

                       สื่อพวกเรามีคนคิดมาตั้งเยอะแล้ว ซึ่งดิฉันเองแค่หยิบเอามาประยุกต์ใช้กับสิ่งของใกล้ตัวเท่านั้นเอง ตรงนี้ส่วนหนึ่งคือดิฉันอยู่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และจบพยาบาลมา และดิฉันเองก็มีลูก เพราะฉะนั้นเวลาเราเห็นอะไรที่น่าจะเป็นประโยชน์กับลูกก็จะนำมาใช้ และหนังสือตั้งโต๊ะนี้ ดิฉันก็ใช้กับลูก ซึ่งลูกชอบมาก และเก็บรักษาไว้อย่างดี ไม่ยอมให้ใคร เพราะเป็นผลงานของเขา แม้เขาจะโตแล้วก็ตาม ถ้าเป็นเด็กสามขวบ เขาก็จะระบายสี และเขียนชื่อของเขาไว้บนผลงานด้วย นี่คือความผูกพันที่เราอยากให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งกระบวนการรักการอ่านจะเกิดตามมา 100% เพียงแต่ว่าตอนแรกเราต้องมีสายสัมพันธ์ก่อนเท่านั้นเอง

                     เรื่องของเวลาที่ให้ลูก พ่อแม่ไม่ควรมองว่า “ไม่มีเวลา” เพราะคนทุกคนบนโลกใบนี้ มีเวลาในแต่ละวันเท่ากันหมด 24 ชั่วโมง ลูกไม่ต้องการเวลาเป็นชั่วโมง ลูกต้องการแค่ 5 นาที เวลาไหนก็ได้ อย่างคุณไม่มีเวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แต่คุณมีเวลาขับรถไปส่งลูกไปโรงเรียน ก็สามารถเล่านิทานปากเปล่าให้ลูกฟังก็ได้ ชี้ชวนให้ลูกดูป้ายข้างทางก็ได้  “ดูป้ายข้างหน้าซิลูกมีป้ายอะไรอ้าง รถติดไฟแดงอยู่ ลูกดูซิลูกตรงนั้นมีป้ายอะไรบ้าง” มันอยู่ที่พ่อแม่ ถามว่าพ่อแม่สมัยนี้มีความรู้ไหม มี แต่บางครั้งเขาไม่ตระหนัก เขายื่นแต่แท็บเล็ตให้ลูก ก็โอเคนะ แต่แท็บเล็ตมันเหมือนดาบสองคม คุณใช้ได้ทั้งสองอย่าง แต่คุณต้องเป็นคุณแม่ที่ชาญฉลาด ฉลาดที่จะใช้ อย่างของดิฉันสมัยขับรถยังไม่เก่ง และบ้านอยู่ไกลที่ทำงาน ต้องขับรถไปส่งลูก ลูกดิฉันจะคิดเลขเร็ว เพราะดิฉันให้ลูกบวกเลขป้ายทะเบียนรถคันที่อยู่ข้างหน้า แม้มือเราจะไม่ว่าง แต่ปากว่างไง ดิฉันก็จะคุยกับลูกไปเรื่อยๆ “ดูนะลูก ดูข้างๆซิ คุณตำรวจมาหรือยัง”  เขาก็จะเริ่มรู้จักสิ่งใกล้ตัว ว่าอันนี้เขาเรียกคุณตำรวจนะ “เอ้า!มีน้องหมากี่ตัว ก็ได้ตัวเลขแล้ว น้องหมาสีขาวมาหรือยัง เขาก็จะได้รู้เรื่องสีแล้ว” รักการอ่านก็จะเกิดตามมา กลับไปถึงบ้านเรามีเวลาแค่ 5 นาที เปิดรูปสัตว์ รูปผักให้ลูกดู ก่อนอาบน้ำ ก่อนกินข้าว ลูกไม่ได้ต้องการเลาเยอะนะ ดิฉันบอกเลย ไม่ต้องมานั่งอ่านเป็นชั่วโมงหรอก 5นาทีนี่ก็สุดยอดแล้ว อ้าวจบแล้วลูก ไปอาบน้ำ กินข้าว แล้วเข้านอนกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะ แค่นั้นเอง ทุกวัน

                      เห็นไหมคะว่า “การรักการอ่าน” มีจุดเริ่มต้นง่ายๆ แต่ต้องเริ่มจากคนในครอบครัวก่อน เพียงคุณให้เวลากับลูกวันละ 5 นาที ชวนลูกอ่าน ชวนลูกทำงานศิลปะ ชวนลูกระบายสี ชวนลูกดูภาพ ชวนลูกเล่นเกม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเรียนรู้ที่เสริมจินตนาการทั้งสิ้น “เด็กวันนี้ คืออนาคตของชาติในวันหน้า” ประเทศจะพัฒนาก้าวไกลได้อย่างไร ถ้าเด็กไทย/คนไทย ไม่รักการอ่าน 

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.