Select Page

ไฮฟา อัล มันซูร์ ผู้กำกับหญิงคนแรกของซาอุดีอาระเบีย

ไฮฟา อัล มันซูร์ ผู้กำกับหญิงคนแรกของซาอุดีอาระเบีย

ผู้กำกับหญิง อาจไม่ใช่เรื่องยากหรือแปลก สำหรับคนในโลกปัจจุบัน แต่การเป็นผู้กำกับหญิงในซาอุดีอาระเบียนั้นต้องบอกว่า สุดแสนจะยากเย็น เพราะในประเทศนี้ ผู้หญิงไม่มีสิทธิแม้แต่จะขับรถหรือไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 

การที่ ไฮฟา อัล มันซูร์ ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง วัดจ์ดาŽ (Wadjda)ได้จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ  สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษบอกว่า ถึงแม้ วัดจ์ดาŽ จะได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ หลังไปฉายโชว์ในงานเทศกาลหนังเมืองเวนิส อิตาลี และงานเทศกาลหนังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่กลับไม่มีโอกาสฉายในซาอุดีอาระเบีย บ้านเกิด เนื่องจากที่นั่นไม่มีโรงภาพยนตร์ อีกทั้งที่ผ่านมามีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่ได้ปรากฏสู่สายตาประชาชน

วัดจ์ดาŽ เป็นภาพยนตร์ที่เรียกได้ว่า แหกกฎŽ เพราะไม่เพียงแต่ถ่ายทำในซาอุดีอาระเบียที่ปกติไม่ค่อยอนุญาตให้ถ่ายหนัง ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังใช้นักแสดงทั้งหมดเป็นคนซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งนักแสดงนำในเรื่อง ซึ่งเป็นผู้หญิงทั้ง 2 คน

อัล มันซูร์ ซึ่งเติบโตในเมืองเล็กๆ ของซาอุดีอาระเบีย เล่าว่า เธอฝันอยากเป็นนักสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่ยังเด็ก แต่ก็รู้ดีว่าคงไม่มีวันเป็นจริงได้ในประเทศบ้านเกิดซึ่งผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกอาชีพที่อยากทำ  แต่โชคดีที่พ่อมีความเชื่อว่า ถึงจะเป็นหญิง แต่เธอก็สามารถประสบความสำเร็จได้ทุกอย่างตามที่มุ่งมั่น ซึ่งในการเดินตามฝันนั้น อัล มันซูร์บอกว่าต้องเผชิญอุปสรรคและความกดดันมากมาย 

คุณก็รู้ว่าสังคมซาอุดีอาระเบียเป็นครอบครัวใหญ่ ญาติพี่น้องจะพากันเขียนจดหมายมาต่อว่าพ่อ ว่าแกกล้าดียังไง ถึงปล่อยให้ลูกสาวทำอย่างนั้น ในสังคมมีกระแสกดดันมากมายต่อครอบครัวให้ควบคุมลูกสาว แต่พ่อฉันไม่เคยฟังเรื่องพวกนั้นเลยŽ

ก่อนจะสร้าง วัดจ์ดาŽ   อัล มันซูร์ เคยกำกับหนังสั้นมา 3 เรื่อง และหนังสารคดีอีกเรื่องที่ชนะรางวัล สำหรับ วัดจ์ดาŽ คือผลงานภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของเธอ แต่น่าเสียดายที่พ่อไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะเสียชีวิตไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว

พ่อภูมิใจมาก คอยสนับสนุนและให้กำลังใจฉันให้เดินตามความฝัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในซาอุดีอาระเบียŽ 

เนื้อเรื่องของ วัดจ์ดาŽ กล่าวถึงเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ในกรุงริยาดที่อยากได้จักรยาน ซึ่งในสังคมซาอุฯจักรยานถูกมองว่าเป็นสิ่งคุกคามคุณงามความดีของผู้หญิง

ฉันใช้จักรยานเป็นการอุปมาเปรียบเทียบ และหากพูดกันตามความคิดเห็นทั่วไป จักรยานก็คือสิ่งของ เป็นของเล่นอย่างหนึ่งเท่านั้นŽ  อย่างไรก็ตาม ข่าวว่าที่หนังของเธอได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในซาอุฯได้ ก็เพราะ มีเจ้าชายซาอุฯท่านหนึ่งร่วมทุนสร้าง โดยระหว่าง 6 สัปดาห์ที่ใช้ถ่ายทำ อัล มันซูร์ เจอปัญหามากมาย และเป็นปัญหาที่ผู้สร้างหนังฮอลลีวู้ดคงงงเป็นไก่ตาแตก ทั้งนี้ เพราะผู้หญิงซาอุฯถูกห้ามทำงาน หรืออยู่ปะปนกับผู้ชาย แม้แต่การเดินด้วยกันตามท้องถนนยังไม่ได้ ดังนั้น ระหว่างถ่ายทำในย่านที่เคร่งครัดขนบธรรมเนียมมากๆ อัล มันซูร์ จึงต้องซ่อนตัวอยู่ในรถแวน

ฉากที่ต้องถ่ายทำนอกสถานที่ บางสถานที่ฉันต้องนั่งอยู่ในรถ แล้วกำกับนักแสดงผ่านทางโทรศัพท์ หรือวอล์กกี้ ทอล์กกี้Ž เธอว่า การคัดเลือกนักแสดงก็เป็นอีกปัญหา เพราะที่นั่นไม่มีการทำกัน อีกทั้งยังยากขึ้นไปอีกที่จะหาผู้หญิงมาเล่น เนื่องจากเรื่องแบบนี้ ถูกมองเป็นการกระทำที่ไม่สมควร การได้ตัว วาอัด โมฮัมเหม็ด เด็กหญิงวัย 12 มาก่อนลงมือถ่ายทำ 1 สัปดาห์ จึงเป็นเรื่องโชคดีอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ อัล มันซูร์ บอกว่า ภาพยนตร์ของเธอได้รับเสียงวิจารณ์ทั้งดีและไม่ดีจากผู้คนในซาอุฯ ที่ได้ดูผ่านทีวีดาวเทียมและดีวีดี แต่ขณะที่เธอก็ได้รับกำลังใจอย่างมากจากผู้หญิงซาอุฯ ที่ทวิตข้อความผ่านทางทวีตเตอร์มามากมาย ในฐานะที่เป็นผู้กำกับหญิงคนแรกของซาอุดีอาระเบีย

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2556 หน้า 24

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.