ตาบอด แต่ใจสร้างสรรค์
ไอเดียเยี่ยม…โครงการเลียนแบบธรรมชาติสร้างสรรค์เทคโนโลยี โดยการพัฒนาสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่สนุก เข้าใจง่าย แต่ต้องเข้าถึงเยาวชนได้อย่างทัดเทียมด้วย และนั่นคือที่มาของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ “ท่องโลกมหัศจรรย์แห่งชีวิตด้วยดีเอ็นเอ” และ โครงการวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนผู้พิการทางสายตาจากการคัดเลือกจากทั่วประเทศ 23 คน
การพัฒนาสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่สนุก เข้าใจง่าย แต่ต้องเข้าถึงเยาวชนได้อย่างทัดเทียมด้วย และนั่นคือที่มาของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ “ท่องโลกมหัศจรรย์แห่งชีวิตด้วยดีเอ็นเอ” และ โครงการวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนผู้พิการทางสายตาจากการคัดเลือกจากทั่วประเทศ 23 คน โดยฝ่ายสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ปทุมธานี
นางฤทัย จงสฤษดิ์ หัวหน้ากิจกรรมท่องโลก มหัศจรรย์แห่งชีวิตด้วยดีเอ็นเอ สวทช. กล่าวว่าเพื่อส่องเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนผู้พิการทางสายตา ผ่านสื่อการเรียนการสอนและกิจกรรมที่ได้ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้พวกเขามีโอกาสได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุก เข้าใจง่าย และลึกซึ่งมากกว่าในห้องเรียนปกติ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการสังเกตแววความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรีต่อไปอีกด้วย
กิจกรรมออกแบบเพื่อฝึกทักษะการวิเคราะห์ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งการดมกลิ่น สัมผัส ลิ้มรส และฟัง เช่น เด็กๆ จะได้รับผักและผลไม้ที่อยู่ใกล้ตัวคนละชนิด คือ ข้าวโพด มะม่วง มะนาว มะเขือเทศ แตงกวา จากนั้นให้ลองสังเกตุและวิเคราะห์ถึงความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน
และยังได้เรียนรู้ถึงความหัศจรรย์ในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ผ่านกลางเวลาที่ยาวนานนับร้อยล้านปี เช่น รังผึ้งหกเหลี่ยม ที่ผึ้งตัวน้อยได้ออกแบบไว้อย่างแข็งแรงและเก็บน้ำหวานได้มากเพียงพอต่อการอยู่รอด หรือใยมะพร้าวที่สานกันเป็นตาข่ายทรงพลัง ซึ่งไม่เพียงทำหน้าที่ปกป้องต้นมะพร้าวได้อย่างดีแล้ว เส้นใยที่สานกันยังยืดขยายตามขนาดต้นมะพร้าวได้โดยไม่ฉีกขาดด้วย
นอกจากนี้ ยังได้สนุกกับสื่อการเรียนรู้ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เช่น การเรียนรู้พันธุศาสตร์และเซลล์ผ่านไข่ต้ม โครงสร้างโครโมโซมและดีเอ็นเอจำลอง เป็นต้น
ที่สำคัญเด็กๆ จะต้องนำความรู้ทั้งหมดมาช่วยกันระดมความคิดเพื่อสร้างโครงงานวิทยาศาสตร์จากธรรมชาติของตนเองด้วย
การเลียนแบบการลอยน้ำของผักตบชวาเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยบนน้ำ คือชื่อโครงงานวิทยาศาสตร์ของ “เอ” นายนพรัตน์ มีเงิน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดนครราชสีมา กับแนวคิดว่า บ้านผักตบชวาคือที่อยู่อาศัยในอนาคต หากมนุษย์ต้องเผชิญกัยเหตุการณ์ภาวะน้ำท่วมโลก
“ผมสังเกตว่า ผักตบชวาจะอยู่กันเป็นกอลอยบนน้ำได้ คิดว่าเราน่าจะนำรูปแบบเช่นนี้ไปใช้ในการออกแบบบ้าน หรือสร้างชุมชนบ้านลอยน้ำครับเผื่อว่าหากอนาคตเกิดน้ำท่วมโลก เราก็จะได้อยู่อย่างปลอดภัยครับ”
หรือ “มอส” ด.ช.ปราโมทย์ ชื่นขำ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพเห็นว่า ด้วยการเดินทางในสภาวะที่มองไม่เห็น จึงอยากจะสร้างสิ่งประดิษฐ์เลียนแบบธรรมชาติเพื่อช่วยเหลือคนตาบอดด้วยกัน นั่นคือ เข็มกลัดสะท้อนสิ่งกีดขวาง
“เราจะพัฒนาเข็มกลัดสะท้อนสิ่งกีดขวางโดยติดไว้ที่เสื้อ มีการออกแบบอย่างสวยงามและพกพาสะดวก เมื่อก้าวเดินไปแห่งหนไหน ถ้ามีวัตถุกีดขวางก็สามารถส่งเสียงเตือนได้ โดยระบบดังกล่าวจะเลียนแบบการสะท้อนคลื่นของค้างคาวที่บินผ่านสิ่งกีดขวางและจับแมลงกินในยามค่ำคืนได้ดีเยี่ยม”
และยังมีโครงการที่นำของเหลือใช้จากท้องถิ่นที่มีจำนวนมากมาวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของ นายปฐวี จันทร์ดำ นักเรียน ม.3 โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ได้เสนอการนำใบปาล์มที่มีความเหนียวมาพัฒนาเป็นกระดาษที่แข็งแรงทนทานเพราะใบปาล์มในภาคใต้มีอยู่จำนวนมากและยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์เท่าที่ควร
น.ส.ธิตญา กำริสุ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กล่าวว่า หากนักเรียนตาบอดมีสื่อการเรียนการสอนที่สัมผัสได้และเข้าใจง่ายแบบนี้ ก็คงจะทำให้พวกเราเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้สนุกมากยิ่งขึ้น
ผลงานดีๆ ด้วยการกลั่นไอเดียเช่นนี้ คนพิการก็สร้างสรรค์ได้ไม่แพ้อวัยวะครบ 32 พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
ที่มา : นสพ. มติชน ฉบับวันที่ 9 ก.พ. 2553