ทาแป้งฝุ่น ระวัง “มะเร็งรังไข่”
การศึกษาของนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ฮาร์วาร์ดในบอสตัน พบว่า ผู้ที่ใช้แป้งฝุ่นโรยตัวทาบริเวณจุดซ่อนเร้น มีความเสี่ยงมะเร็งรังไข่กว่าผู้ที่ไม่ใช้แป้งสูงถึง 40 % และพบว่า ผู้หญิงที่มียีน (GSTM1) แต่ไม่มียีน (GSTT1) มีแนวโน้มเป็นมะเร็งรังไข่สูงกว่ากลุ่มอื่นเกือบ 3 เท่าตัว
สาระสำคัญจากข่าว :หนังสือพิมพ์ เทเลกราฟ ของอังกฤษรายงานว่า การศึกษาของนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ฮาร์วาร์ดในบอสตัน พบว่า ผู้ที่ใช้แป้งฝุ่นโรยตัวทาบริเวณจุดซ่อนเร้น มีความเสี่ยงมะเร็งรังไข่กว่าผู้ที่ไม่ใช้แป้งสูงถึง 40 % และพบว่า ผู้หญิงที่มียีน glutathione S-transferase M1 (GSTM1) แต่ไม่มียีน glutathione-S-transferase T1 (GSTT1) มีแนวโน้มเป็นมะเร็งรังไข่สูงกว่ากลุ่มอื่นเกือบ 3 เท่าตัว ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะพบในผู้หญิงผิวขาว 1 ใน 10 คน
แป้งฝุ่น (Skin powder) หมายถึง สิ่งปรุงที่มีลักษณะเป็นผงละเอียด หรือคอลลอยด์ของสารอินทรีย์ หรืออนินทรีย์ที่ไม่ละลายน้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกันและไม่ระคายผิว อาจแต่งกลิ่นหรือสี หรือแต่งทั้งกลิ่นและสี เพื่อใช้แก่ร่างกายหรือเพื่อเสริมความงาม แบ่งเป็น แป้งฝุ่นโรยตัว (body powders) แป้งฝุ่นโรยตัวเด็ก (baby powder) และแป้งฝุ่นผัดหน้า (face powder) ซึ่งมีความละเอียดมากกว่าแป้งฝุ่นโรยตัว ส่วนประกอบหลักของแป้งฝุ่น คือ ทัลคัม (talcum) หรือที่เรียกกันว่า ทัลค์ (talc) ซึ่งเป็นสารอนินทรีย์มีชื่อเคมีว่า hydrated magnesium silicate และอาจมีแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดผงเบาละเอียด พิเศษ (micronized calcium carbonate) อาจมีการเติมสารอื่นเช่น สารช่วยป้องกันความชื้น สารฝาดสมาน (astringent) สารช่วยทำให้ผิวเย็น สารกันเสีย สารแต่งกลิ่นและสี แป้งฝุ่นมีคุณสมบัติ ช่วยผสมผสานและดูดซึมซับความชื้นทำให้ผิวหนังเนียนลื่น
การควบคุมตามกฎหมาย
ตั้งแต่ วันที่ 16 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2551 แป้งฝุ่นโรยตัวจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ออกตามในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 เรื่อง แป้งฝุ่นโรยตัว ซึ่งผู้ประกอบการต้องจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดว่า
• ต้องไม่มีวัตถุห้ามใช้ ไม่มีสารปนเปื้อน ใช้สีผสมถูกต้อง ถ้าเป็นแป้งฝุ่นโรงตัวสำหรับเด็กต้องไม่มีกรดบอริก (boric acid) เมนทอล (menthol) การบูร (camphor)
• ถ้ามีส่วนผสมของกรดบอริก ต้องใช้ในอัตราส่วนไม่เกิน ร้อยละ 3.0 โดยน้ำหนัก
• ถ้ามีส่วนผสมของเมนทอล ต้องใช้ในอัตราส่วนไม่เกินร้อยละ 1.0 โดยน้ำหนัก
• ถ้ามีส่วนผสมของการบูร ต้องใช้ในอัตราส่วนไม่เกินร้อยละ 1.5 โดยน้ำหนัก
• คุณสมบัติของจุลชีววิทยา ของแป้งฝุ่นโรยตัวคือ
– จำนวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และราที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศ (aerobic plate count) ในแป้งฝุ่นโรยตัวสำหรับเด็กและแป้งฝุ่นโรยตัวต้อง น้อยกว่า 500 และ 1,000 โคโลนีต่อกรัม หรือ มิลลิลิตร ตามลำดับ
– ต้องไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้แก่ ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aerogimosa), สตาฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus), แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) และ คลอสตริเดียม (Clostridium spp.) (เฉพาะเครื่องสำอางผสมสมุนไพร)
ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2551 เครื่องสำอางทุกชนิดจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดเครื่องสำอางควบคุม ตามที่ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 157ง ลงวันที่ 25 กันยายน 2551 ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายเครื่องสำอางอาเซียน เป็นผลให้ผู้รับผิดชอบผลิตภัณฑ์ต้องจัดทำแฟ้มข้อมูลผลิตภัณฑ์แสดงต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำให้การกำกับดูแลเครื่องสำอางได้ครอบคลุมมากขึ้น อันตรายจากการใช้แป้งฝุ่นโรยตัว
แป้งฝุ่นโรยตัวเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปตั้งแต่แบเบาะจนแก่เฒ่า การทาแป้งโดยเฉพาะตอนโรยแป้ง ผงแป้งจะล่องลอยในอากาศ ถ้าสูดเข้าทางเดินหายใจที่ละเล็กละน้อยเป็นเวลานานๆ ก็จะเกิดการสะสมในปอด โดยที่เซลส์บุผิวปอดจะดักจับแป้งไว้เป็นก้อน เรียกว่า ภาวะ “pneumoconiosis” ทำให้มีปัญหากับการหายใจ ถ้าเป็นเด็กทารกทำให้ปอดอักเสบและตายได้
สำหรับการใช้แป้งที่ก้นกับอวัยวะเพศซึ่งเป็นที่นิยมใน ยุคปี ค.ศ.1970 มีการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่ใช้แป้งกับอวัยวะเพศ มีอัตราเสี่ยงการจะเป็นมะเร็งรังไข่ โดยอาจเป็นไปได้ ที่แป้งสามารถหลงเข้าไปในร่างกายผ่านช่องคลอดมดลูกและท่อนำไข่เข้าไปสู่ช่องท้อง และสารทัลค์ ไม่สามารถย่อยสลายได้ในคน การทาแป้งส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ควรทาแป้งครั้งละน้อยๆ และ ทาในบริเวณที่เหมาะสม พยายามอย่าให้ฟุ้งในอากาศ ไม่ควรทาบริเวณก้นและอวัยวะเพศของเด็กทีละมากๆ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ข้อมูลจาก
– กองเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์