Select Page

มวยไทย สร้างสุภาพบุรุษ

มวยไทย สร้างสุภาพบุรุษ

กำปั้นและอาวุธจากแข้งขาและหัวเข่าบนสังเวียน นั่นคือ “มวย” และหากคุณคิดว่า “นักมวย” คือมนุษย์ป่าเถื่อนผู้มีสายเลือดนักเลงไหลเวียนอยู่ในตัวล่ะก็ คุณกำลังคิดผิดเช่นกันอย่างน้อย นั่นก็ไม่ใช่ในกีฬา “มวยไทย” ที่ “ครูนกหวีด” เดชน์ ศรีอำไพ แห่งโรงเรียนมวยไทย ยูเอสเอ (Muay Thai School U.S.A.) ศรัทธายิ่งนัก

 

 

          บ้านเกิดของครู

          เวลาเกือบเที่ยงคืนในประเทศไทยตรงกับเช้าวันใหม่ที่แคลิฟอร์เนีย เสียงปลายทางทักทายผู้ที่โทรหาด้วยภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ ก่อนที่เขาจะได้ยินคำทักทายในภาษาที่คุ้นเคยมาจากดินแดนที่คุ้นเคยดี

          “ผมอยากจะกลับไปอยู่เมืองไทยทุกวันแหละคุณครูนกหวีดวัย 49 ปี ที่ใช้เวลากว่า 1 ใน 3 ของชีวิตในสหรัฐอเมริกา กล่าว

          ครูเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กๆครอบครัวของเขามีฐานะไม่ดีนัก เพราะพ่อกับแม่มีลูกเยอะถึง 10 คน และครูเป็นคนสุดท้อง เมื่อครูอายุได้ประมาณ 7-8 ขวบ คุณพ่อก็เสียชีวิตในวัยชรา

          ถึงแม้ว่า คุณแม่และพี่สาวบางคนจะออกไปทำไร่ข้าวโพด ทำนา แต่กว่าจะได้เงินก็ต้องรอถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต ปีหนึ่งๆอาจจะมีเงินก้อนเข้ามาครั้งหนึ่งเท่านั้น ปีละไม่กี่หมื่นบาท

         เพื่อแบ่งเบาภาระของคุณแม่ ลูกผู้ชายจึงต้องไปอยู่วัดตามประสาเด็กชายต่างจังหวัดสมัยก่อน ตอนเช้าไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนท้องถิ่นในอำเภอพระพุทธบาท จ. สระบุรี ตอนเย็นกลับมาอาศัยวัดพระพุทธบาทเป็นที่อยู่หลับนอน

          “สมัยผมอยู่วัดก็ได้เรียนพระธรรมไปด้วย คือ เรียนแบบอัตโนมัติ สวดมนต์ กวาดวัด ทำความสะอาดวัด เรียกง่ายๆว่าไปเป็นเด็กวัด

          นอกจากหน้าที่เด็กวัดแล้ว ครูนกหวีดยังมีหน้าที่ประจำคือซักชุดนักเรียนเองทุกวัน เพราะว่ามีเพียงชุดเดียวเท่านั้น ซึ่งครูบอกว่า มีใส่ชุดนึงก็หรูแล้วเลิกเรียนกลับมาซักชุด เช้าก็แห้งพอใส่ไปโรงเรียน

          “ธรรมดาพอเล่นกีฬาร่างกายมันก็แข็งแรง เราก็เป็นลูกผู้ชาย ชกมวยเป็นกีฬาลูกผู้ชาย

          เวทีประลองฝีมือของครูนกหวีดคือตามเวทีงานวัด สมัยก่อนเวลามีงานวัด เกือบทุกวัดจะมีชกมวย ใครที่อยากจะชกมวยตอนกลางคืนก็ต้องมาลงชื่อ มาเปรียบมวยตอนเช้า

          นอกจากงานวัดแล้ว ยังมีงานโรงเรียนที่เปิดเวทีให้เด็กชายได้ขึ้นชก บางครั้งก็ชกฟรี บางครั้งก็ได้สตางค์ไม่กี่บาท ถ้าครั้งไหนได้ค่าตัวถึง 10 บาทล่ะก็ ครูนกหวีดบอกว่า ดีใจสุดๆ

          “ตอนนั้นเราเป็นเด็ก ก็เอาเงินมาซื้อขนม เลี้ยงเพื่อนฝูง กินก๋วยเตี๋ยว

          เมื่อชกมวยมากขึ้น ก็เป็นที่รู้จักกว้างไกลขึ้น คนที่ชอบมวยจะมาเอ่ยปากชวนไปชกมวยรายการนั้นบ้าง รายการนี้บ้าง ชวนไปซ้อมด้วยกันที่ค่ายบ้าง เหมือนมีแมวมองมาชวนไปซ้อมชก เพราะเมื่อใครเห็นนักกีฬาเก่งๆย่อมอยากสนับสนุนเป็นธรรมดาและครูนกหวีดก็เลือกเข้า ค่ายมวยแถวบ้าน

          “ครูมวยเป็นคนยากจน มีกระสอบใบนึง เย็นๆเลิกเรียนก็ไปจับกลุ่มวิ่งกัน เตะกระสอบ ปล้ำกัน มาเล่นเชิง ลงนวม ออกกำลังกัน เวลามีงานวัด ครูก็จะพาไปชกมวย ครูก็เหมือนหัวหน้าค่าย พาไปเปรียบมวยชก ได้ค่าตัวมั่ง ไม่ได้มั่ง

          แต่ที่ได้แน่นอนคือประสบการณ์ที่มากขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น เรียนรู้เทคนิกแพรวพราว การขึ้นเวทีชกมวยแต่ละครั้งเท่ากับเป็นการฝึกซ้อม มวยก็เหมือนกับกีฬาทั่วไปคือ ยิ่งซ้อมยิ่งเก่ง

         อย่างไรก็ตาม ครูนกหวีดไม่เคยมีโอกาสได้เข้ามาชกมวยในกรุงเทพ ไม่เคยได้ขึ้นเวทีดังอย่างลุมพินีหรือราชดำเนิน เพราะตัดสินใจหยุดชกมวยในวัย 19 ปี เนื่องจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยต่างจังหวะและสอบเข้าศึกษาต่อด้านการเกษตรที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          เมื่อเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ครูนกหวีดไปเป็นเด็กวัด ไปอาศัยอยู่กับวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์

          “ผมไม่เคยได้ที่ 1 ของห้องเลย แต่แม่ผมอบรมสั่งสอนว่า บ้านเรายากจน ให้หาความรู้ใส่ตัว จะได้ไม่ต้องมาทำไร่ทำนา

          หลังเรียนจบ ครูนกหวีดเข้าทำงานในแผนกตรวจสอบคุณภาพ (คิวซี) ตามบริษัทต่างๆอยู่ 3 แห่ง

          จนกระทั่งอาจารย์ท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาชวนให้ครูนกหวีดย้ายไปเป็นคนงานในสวนส้มโอให้กับเศรษฐีชาวซาอุดิอาระเบียคนหนึ่ง ครูเล่าว่า ด้วยความที่ประเทศแห่งนี้เป็นทะเลทราย อากาศร้อนและแห้ง ชาวซาอุจึงชอบรับประทานส้มโอเพราะมันชื่นคอชื่นใจ

          ครูนกหวีดได้คุยกับนายจ้างจากซาอุเรียบร้อยและตกลงจะไปซาอุ เตรียมเอกสารพร้อมทุกอย่างแล้ว ระหว่างรอเวลา ครูจึงลองยื่นเอกสารขอวีซ่าเข้าสหรัฐ เผื่อจะได้ไปเที่ยว

          อเมริกัน ดรีม

          “ตอนนั้นปี 1988 สมัยนั้นมันขอวีซ่าไม่ยาก ผมบอกอาจารย์ว่า อาจารย์ ผมขอโทษนะ ตอนนี้ผมอยู่อเมริกา ผมมาอเมริกาแล้ว ตอนนั้นพูดถึงอเมริกาใครๆก็อยากมา

          ครูนกหวีดพกเงินติดกระเป๋า 600 บาท เดินทางข้ามมายังอีกซีกโลกหนึ่งเพียงลำพังด้วยตั๋วเครื่องบินที่พี่สาวให้ยืมเงินซื้อ เมื่อมาถึงจึงเข้าไปพักอยู่กับรุ่นพี่ร่วมมหาวิทยาลัยในลอส แองเจลิส

          “สมัยก่อนที่นี่หางานง่าย แต่เลือกไม่ได้ ให้อะไรก็ต้องเอา ใครขยันก็ไม่อดตาย

          ครูนกหวีดจึงเข้าทำงานดูแลคนพิการตามบ้าน ได้ค่าแรงชั่วโมงละ 5 เหรียญ (คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันอยู่ที่ 165 บาท) แต่ไม่ได้มีงานเข้ามาบ่อยนัก ครูจึงทำงานเย็บผ้าเพิ่มอีกอย่าง กินค่าแรงชั่วโมงละ 3 เหรียญ (99 บาท)แต่ได้ทำทุกวัน ก่อนจะย้ายไปทำงานเป็นแคชเชียร์ที่เซเว่น-อีเลฟเว่นแลกค่าจ้างชั่วโมงละ 4 เหรียญ (132 บาท)

          หลังเลิกงานช่วงค่ำทุกวัน ครูจะต้องไปเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ซึ่งเปิดสอนฟรี

          จากนั้น ด้วยความรู้ด้านเกษตรกรรมที่มีติดตัว ครูจึงย้ายไปทำงานดูแลแปลงดอกไม้ แปลงกล้วยไม้ที่ฮาวาย รับเงินเดือนเดือนละ 1,500 เหรียญ (4.95 หมื่นบาท) พร้อมที่พักฟรี แต่ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษแล้ว

          “อยู่ฮาวายไม่ได้เรียนหนังสือเลย ต้องทำงานเป็นคนงาน แต่ที่ดีคือได้เก็บสตางค์เพราะเราไม่เที่ยว เรารู้ว่าเราไปทำงาน พอมีเงินเก็บก็ย้ายกลับมาแอลเอเหมือนเดิม

          หลังกลับมาลอส แองเจลิสอีกครั้ง ครูนกหวีดย้ายออกไปเช้าอพาร์ตเมนต์อยู่เอง วันจันทร์-ศุกร์ทำงานในมินิมาร์เกตเล็กๆ เสาร์-อาทิตย์ออกไปขับรถแท็กซี่ เมื่อเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งจึงวางแผนจะทำธุรกิจของตัวเอง

          “สมัย 20 ปีที่แล้ว อาหารไทยยังไม่ป๊อบปูลาร์ ลงทุนไม่มาก คนต่างชาติก็ชอบอาหารไทย ผมก็เลยไปเปิดร้านอาหารเล็กๆร้านหนึ่ง มันก็ดี แต่มันเหนื่อยสุดๆ ทำอยู่ 3 ปีแล้วก็เลิก

          กำไรจากการเปิดร้านหลักหมื่นเหรียญต่อปีบวกกับการขายร้านอาหารได้มาอีกหลักหมื่นเหรียญต่อปี ครูนกหวีดหอบเงินกลับบ้าน ตั้งใจจะใช้ชีวิตสบายๆในเมืองไทย หลังใช้ชีวิตต่างแดนมานานถึง 1 ทศวรรษ

          “ผมเชื่อว่าในอเมริกาคนไทยทุกคนอยากกลับไปอยู่เมืองไทยหลังจากที่ต้องเจออะไร 10-20 ปี อยากกลับไปรีไทร์ที่บ้านเรา มีความสุขที่บ้านเรา แต่พออยู่เมืองไทยเจอระบบคอรัปชั่น ระบบที่ไม่ยุติธรรมกับทุกคน ระบบเส้นสาย ระบบเด็กฝาก แค่เดินขึ้นอำเภอก็เห็นแล้ว คนที่มาอยู่อเมริกานานๆเค้ารับไม่ได้

          ครูนกหวีดจึงออกเดินทางสู่แผ่นดินสหรัฐเป็นคำรบ 2

          มวยไทยที่รัก

          กลับไปสหรัฐครั้งนี้ ครูนกหวีดไปเป็นครูสอนมวยไทยอยู่ที่ค่ายมวยไทย อะคาเดมีของน้องชายของรุ่นพี่คนเดิม หน้าคือสอนมวยไปด้วย พานักเรียนออกไปชกมวยกับโรงเรียนมวยไทยอื่นๆ บางครั้งก็ขึ้นเป็นกรรมการให้คะแนนบ้าง เป็นกรรมการบนเวทีบ้าง

 

          อุปสรรคสำคัญคือ มวยไทยแทบจะไม่เป็นที่รู้จัก ไม่เป็นที่ยอมรับ พวกเขาจัดรวมเข้าไว้กับมวยสากล บ้างก็เรียกว่าคิกบ็อกซิ่ง บ้างก็เรียกว่าไทยบ็อกซิ่ง แต่ไม่ใช่มวยไทย

          เมื่อทำงานที่อะคาเดมีไปเรื่อยๆ ครูนกหวีดจึงเกิดความคิดที่ต้องการจะพัฒนามวยไทย จึงส่งใบสมัครเข้าทำงานในทบวงกีฬาของรัฐแคลิฟอร์เนียในตำแหน่งกรรมการ (คอมมิสชันเนอร์) คอยดูแลและควบคุมการแข่งขัน

          “คิดว่าน่าจะเป็นหน้าที่ที่ทำให้มวยไทยเติบโตขึ้นได้ที่อเมริกา เวลาแข่งชกมวยไทยที่นี่มันลำบาก เพราะเค้าไม่รู้จักมวยไทย ไม่เข้าใจกฎกติกาของมวยไทย

          เวลาผ่านไปหลายต่อหลายปี ด้วยความพยายามของครูนกหวีดจึงทำให้มวยไทยเป็นที่ยอมรับ

          “ที่นี่เอกสารเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มีอะไรที่เป็นเอกสารรองรับจะรับไม่ได้ พอไม่มีกติการะบุไว้ก็ชกแบบมวยไทยไม่ได้ ผมจึงกลับไปเมืองไทย มีโอกาสคุยกับการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดี ให้เอกสารกติกามวยไทยที่เป็นภาคภาษาอังกฤษ

          ครูนกหวีดหอบเอกสารฉบับมาตรฐานการกีฬาแห่งประเทศไทยกลับไปที่สหรัฐ แต่ใช่ว่ามันจะง่ายขนาดนั้น ครูบอกว่า บางกฎโดนมองว่าโหดร้ายเกินไป รุนแรงเกินไป จึงต้องค่อยๆบอกกัน ค่อยๆปรับและพัฒนากันไป

          ระหว่างนี้ ครูนกหวีดมีโอกาสเดินทางไปสัมมนามวยไทย ไปสอนเทคนิคมวยไทยในประเทศต่างๆ อาทิ สเปนและเม็กซิโก พร้อมกับรับหน้าที่เป็นกรรมการมวยบ้าง หรือไม่ก็สอนกรรมการบ้าง

          จากนั้น ครูนกหวีดจึงเกิดไอเดียเปิดโรงเรียนสอนของตัวเองขึ้นมาให้เป็นเรื่องเป็นราว

          “อันดับแรกมันต้องเริ่มจากใจรัก ไม่มีคนไทยมากนักที่จะทำธุรกิจประเภทนี้ โรงยิมที่นั่นมีเยอะ แต่นายทุนชาวต่างชาติเป็นคนเปิดบ้างแล้วจ้างคนไทยไปสอน แต่คนไทยจริงๆเปิดโรงยิมของตัวเองมีน้อยครับ

จากการสนับสนุนของพล.ต.อ.โกวิทย์ ภักดีภูมิ โรงเรียนมวยไทย ยูเอสเอจึงก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ปีที่ผ่านมานี้เอง

          ด้วยระยะเวลาเปิดตัวเพียง 1 ปีท่ามกลางสถานการณ์บอบช้ำทางเศรษฐกิจในสหรัฐ ครูนกหวีดจึงอดประหลาดใจไม่ได้กับเสียงตอบรับที่มาแรงเกินคาด

          ในปัจจุบันนี้ ที่โรงเรียนมีนักเรียนเกือบ 1,000 คน ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัย 70 ปี

          “ผมมองว่ามวยไทยเป็นการต่อสู้ที่ดีที่สุดในโลก มันเป็นกีฬาของชาติไทย เป็นศาสตร์ลี้ลับ แยกไม่ออกระหว่างกีฬากับจิตวิญญาณ ทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นสุภาพบุรุษ มีความมั่นใจในตัวเอง

          ครูนกหวีดและเพื่อนครูมวยไทยที่นี่จะสอนมวยไทยอันเป็นมวยไทยอย่างแท้จริง ชาวต่างชาติจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมการไหว้ ทั้งในยามทักทาย การไหว้ครูก่อนขึ้นชก และยามจากลา

          “เท่ากับว่า คุณยอมรับสภาพแล้วว่าคุณเป็นศิษย์มีครู

          แม้จะเปิดตัวด้วยความสำเร็จเกินคาด แต่ครูนกหวีดยังไม่ได้วางแผนการถึงการขยายสาขา เพราะเพิ่งเป็นก้าวแรกเท่านั้นและยังต้องพิจารณาองค์ประกอบทางด้านการเงิน

          ในขณะที่การขยายตัวทางด้านธุรกิจเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไร้คำตอบที่แน่นอน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ครูนกหวีดรู้ตัวดีเสมอ

          “ผมมีอยู่อย่างทุกวันนี้เพราะมวยไทย ผมมีโอกาสทำงาน มีโอกาสบินไปทั่วโลก มีบ้านอยู่อเมริกา มีโรงเรียนมวยไทยในอเมริกา ความตั้งใจของผมคือ จะทำให้มวยไทยให้ดีที่สุด เป็นออริจินัล เป็นสแตนดาร์ดของมวยไทยจริงๆ

 

ที่มา นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 มีนาคม 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.