Select Page

นวดไทยไฮเทค “สื่อเดซี”หมอนวดในโลกมืด

นวดไทยไฮเทค “สื่อเดซี”หมอนวดในโลกมืด

มีการคิดค้นและจัดทำหนังสือเสียงเดซี (Daisy) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา ภายใต้โครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทย เพื่อสานฝันของคนตาบอดที่อยากจะเป็นหมอนวดแผนไทยให้เป็นจริง

ในวันที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการทางสายตาหรือคนตาบอดเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือให้พึ่งพาตนเองน้อยเหลือเกิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการประกอบอาชีพเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

        อาชีพนวดแผนไทยดูเหมือนว่าจะเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมจากผู้พิการทางสายตาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะผู้พิการเหล่านี้สามารถนวดได้อย่างชำนาญและลึกซึ้ง ด้วยระบบประสาทสัมผัสที่ดีกว่าคนทั่วไป สร้างความภาคภูมิใจให้แก่บรรดาหมอนวดตาบอดเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาตระหนักดีว่าแม้สายตาจะพิการ แต่ก็ประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองและเลี้ยงครอบครัวได้ด้วย

         อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนตาบอดสามารถอุ่นใจและมั่นใจในการประกอบวิชาชีพการนวดไทยของตนเองได้ก็คือ “ใบประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย” ตามพ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพบปัญหาใหญ่เรื้อรังอยู่ข้อหนึ่ง นั่นก็คือแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะระบุให้คนตาบอดสามารถสมัครสอบเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทยได้ แต่ขั้นตอนต่างๆ กลับยากยิ่งกว่าการสอบของผู้ที่มีสายตาปกติ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่แต่ละองค์กรเคยมีหลักสูตรของตนเอง แต่ก็แตกต่างกันทั้งด้านเนื้อหาวิชา ชั่วโมงการเรียนการสอน ครู สื่อการเรียนการสอน และการประเมินผล

         วันนี้จึงได้มีการคิดค้นและจัดทำหนังสือเสียงเดซี (Daisy) หรือ Daisy Accessible Information System ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เขาต้องการค้นหาได้ ภายใต้โครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทย โดยมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ เครือข่ายองค์กรผู้พิการทางสายตา และวิทยาลัยราชสุดา เพื่อสานฝันของคนตาบอดที่อยากจะเป็นหมอนวดแผนไทยให้เป็นจริง

         ผศ.ดร.พิมพา ขจรธรรม คณบดีวิทยาลัยราชสุดา กล่าวว่า หลักสูตรแรกที่วิทยาลัยได้จัดทำสำหรับหนังสือเสียงเดซี คือ สื่อการเรียนการสอนสำหรับหมอนวดตาบอดที่มีทั้งเสียงและรูปภาพแบบนูนที่ผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสในหนังสือได้ ซึ่งหนังสือเสียงเดซีนี้จะมีทั้งสองรูปแบบ คือแบบที่เป็นแผ่นซีดีที่สามารถเปิดใช้ในคอมพิวเตอร์ได้  และแบบเล่มที่เป็นรูปภาพนูนที่สามารถสัมผัสรูปภาพและนำไปปฏิบัติตามได้

“จุดเด่นของหนังสือเสียงเดซีที่แตกต่างจากหนังสืออักษรเบรลและเทปเสียงก็คือ รูปแบบอัจฉริยะและยืดหยุ่น”

     คณบดีวิทยาลัยราชสุดา ยกตัวอย่างให้ฟังว่า หากผู้พิการทางสายตานำโปรแกรมหนังสือเสียงเดซีมาเปิดในคอมพิวเตอร์ ก็สามารถสืบค้นคำที่ต้องการค้นได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เช่น หากอยากค้นหาคำว่า “นวดสมุนไพร” โปรแกรมก็จะค้นหาคำนั้นให้พร้อมมีเสียงประกอบ และข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการนวดสมุนไพรก็จะวิ่งขึ้นมาที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้พิการทางสายตาจะสามารถฟังเสียงตามตัวอักษรที่หน้าจอได้เลย

     “โปรแกรมอื่นๆ ไม่สามารถทำได้แบบนี้ แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้พิการไม่อยากฟังในรูปแบบของเสียง ก็สามารถพิมพ์ออกมาในรูปแบบของภาพนูนเพื่อทำการศึกษาได้ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา สามารถเข้าถึงการสอบเพื่อให้ได้ใบประกอบโรคศิลปะด้านการนวดไทยได้” ผศ.ดร.พิมพา กล่าวอย่างมั่นใจ

         นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการวิชาชีพการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ โดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎระเบียบตามพ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 กระทั่งสามารถเปิดโอกาสให้คนตาบอดมีสิทธิสอบเพื่อรับใบประกอบโรคศิลปะได้ในสาขาการนวดไทย แต่การจะมีสิทธิสอบได้นี้ คนตาบอดจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันและหลักสูตรการสอนที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยและประเภทการนวดไทย (หมอนวดไทย) ขึ้น เพื่อสานฝันในเรื่องที่กฎหมายเปิดโอกาสไว้แล้วให้เป็นจริง

         “โครงการพัฒนาผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยและประเภทการนวดไทย จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยต่อยอดให้ผู้พิการสามารถสร้างอาชีพของตนได้อย่างภาคภูมิใจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการให้เรื่องนี้เป็นจริงโดยเร็วที่สุด” นพ.วิชัย กล่าว

         ด้าน เครื่อง สีบัวพันธ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมอาชีพของมูลนิธิคอลฟิลด์กล่าวว่า ในความเป็นจริงประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบว่าคนตาบอดมีโอกาสเข้าถึงการประกอบอาชีพและการศึกษาได้ยากมาก เพราะจากตัวอย่างของคนตาบอดที่เข้ามาเรียนเรื่องการนวดในมูลนิธิคอลฟิลด์และมูลนิธิอื่นๆ นั้น ส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย แต่ผู้พิการเหล่านี้สามารถนวดได้อย่างชำนิชำนาญ เพราะประสาทสัมผัสของคนตาบอดดีกว่าของคนทั่วไป

         “แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้แล้ว แต่ยังต้องการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะทำให้คนตาบอดสามารถเข้ารับการสอบเพื่อใบประกอบโรคศิลปะทางการนวดแผนไทยได้อย่างแท้จริง เนื่องจากในกระบวนการสอบ คนตาบอดไม่สามารถใช้รูปแบบการสอบเหมือนบุคคลทั่วๆ ไปได้ ทั้งนี้ หากกระบวนการสอบเป็นอุปสรรคก็ไม่ต่างอะไรจากการตัดโอกาสและสิทธิของผู้พิการเหล่านั้นไปอย่างสิ้นเชิง เรื่องนี้ผมว่าเราต้องคิดและช่วยกันแก้ไขปรับปรุงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง”

ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย

 

 

ที่มา : นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.