Select Page

“ส้วมเฉพาะกิจ จากน้ำใจนิสิตจุฬาฯ”

“ส้วมเฉพาะกิจ จากน้ำใจนิสิตจุฬาฯ”

ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 14 ปี นับจากปีพ.ศ.2538 ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจ

 

เรื่อง: วิรงรอง พรมมี

ภาพ: อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์,วิรงรอง พรมมี

         อุทกภัยครั้งนี้สร้างความเดือดร้อนแก่พี่น้องชาวไทยไม่ต่ำกว่า 30 จังหวัด แต่จังหวัดที่ประสบอุทกภัยอย่างหนัก คือ พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท เป็นต้น เพราะจังหวัดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและบางแห่งเป็นพื้นที่ท้ายเขื่อนหรือพื้นที่รับน้ำ ซึ่งประสบปัญหานี้เป็นประจำ ปีนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์น้ำมากจริงๆ ทำให้เส้นทางคมนาคมหลายสายถูกตัดขาด ไม่สามารถนำความช่วยเหลือไปสู่พี่น้องพี่น้องชาวไทยในพื้นที่ห่างไกลได้ นอกจากนี้พื้นที่บางแห่งยังประสบอุทกภัยนานกว่าหนึ่งเดือน ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม และสุขา

        ด้วยความรู้สึกเพียงแค่อยากช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย ทางคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทำโครงการ “ส้วมเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม” ขึ้น วันนี้เรามาคุยกับผู้ริเริ่มทำโครงการกันค่ะ

         นายวรา จิตรประทักษ์ ศิษย์เก่า คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า “แรงบันดาลใจในการทำโครงการนี้มีจุดเริ่มต้นจากความรู้สึกอยากช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยเท่านั้นเอง จึงเริ่มทำจากกลุ่มเล็กๆก่อน โดยที่มีเพื่อนของเราเป็นผู้ประสบอุทกภัยและต้องการส้วมเป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยเหลือด้วย เบื้องต้นเราไม่ได้คิดผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมาเอง แต่ได้ต้นแบบมาจากเว็บไซต์พันธ์ทิพย์ ซึ่งมีการนำไปใช้แล้วที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยนำเก้าอี้ 5 ขามาเจาะรู”

    วัสดุอุปกรณ์ในการทำ ได้แก่ 1.เก้าอี้ 5 ขา หรือ 6 ขา เพื่อความแข็งแรในการนำไปใช้งาน 2.ถุงดำขนาด30×40 นิ้ว(จำนวน 1 แพ็ค) 3.กระดาษทิชชู 4 ม้วน 4.ตัวหนีบผ้า 4-8 ตัว  5.ยางรัด 1-2 กำมือ 6.จุลินทรีย์ EM 1ขวด

ขั้นตอนการทำ

         “ส้วมเฉพาะกิจ 1 ชุด”                                                                                                         
 
      1.นำเก้าอี้ 5 ขา หรือ 6 ขา มาเจาะรูเป็นรูปห้าเหลี่ยม
ด้วยเครื่องเจียร 

      2.ใช้ตะไบหรือกระดาษทรายขัดขอบเก้าอี้พลาสติกให้หมดคม เพื่อจะได้ไม่ทำให้ถุงดำขาด     
      3.แพ็คกองที่เป็นอุปกรณ์เสริมในถุงเดียวกัน ประกอบด้วย ถุงดำขนาด30×40 นิ้ว(จำนวน 1 แพ็ค) กระดาษทิชชู 4 ม้วน ตัวหนีบผ้า 4-8 ตัว  ยางรัด 1-2 กำมือ และจุลินทรีย์ EM 1ขวด (ช่วยดับกลิ่น)
 
 
 
 
 

 

 

             
            วิธีการนำไปใช้
 
             นำถุงดำสวมลงไปในรูเก้าอี้ แล้วใช้ตัวหนีบผ้ายึดทั้ง 4 มุม เมื่อใช้ทำธุระเสร็จแล้ว ก็ทำความสะอาดด้วยกระดาษทิชชู และดับกลิ่นด้วยจุลินทรีย์ EM สุดท้ายคือปิดปากถุงให้เรียบร้อยด้วยยางรัด แต่หากเป็นกรณีจะใช้ซ้ำต้องใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองก่อน แล้วค่อยใช้จุลินทรีย์ EM ดับกลิ่นทีเดียวได้     
              
             นอกจากนี้คุณวรา ยังมีความคิดเห็นว่า  “ตอนนี้มีปัญหาว่าเราจะจัดการของเสียอย่างไร แต่ก็ดีขึ้นตรงที่ไม่ต้องขับถ่ายลงน้ำ ทั้งนี้อยากขยายผลเรื่องนี้ครับ หากมีหน่วยงานใดที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ก็อยากให้เข้ามาช่วยกัน ตอนนี้เราพร้อมมากๆที่จะให้ความช่วยเหลือ ส่วนเรื่องการส่งมอบส้วมเฉพาะกิจนี้ ตามแผนก็จะส่งมอบให้ช่อง 3 ซึ่งเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยส่งมอบในวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม นี้ครับ เป็นชุดส้วมเฉพาะกิจจำนวน 300- 400 ชุด ซึ่งช่อง 3ร่วมกับกองทัพเรือจะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในพื้นที่ที่รถเข้าไม่ถึง แต่หากใครมีความประสงค์ต้องการส้วมเฉพาะกิจนี้ ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้

             เรื่องจำนวนจิตอาสาในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าต้องการมากน้อยแค่ไหน เพราะเราเพิ่งเริ่มทำ และยังไม่ทราบถึงผลตอบรับจากผู้นำไปใช้ หรือความต้องการของผู้ประสบภัยครับ การทำส้วมเฉพาะกิจนี้ต้องถือว่าได้นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ด้วยครับ คือเราต้องดูก่อนว่ากระบวนการทำมีกี่ขั้นตอน แล้วก็วางแผนการทำ 1 2 3 4  เช่นขั้นตอนในการเจาะรูเก้าอี้ เราต้องมาคิดว่าตัดอย่างไรให้เหลือพื้นที่นั่งมากที่สุด เครื่องมือที่เจาะจะใช้อะไร แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเร็วไว้ก่อน

        สุดท้ายอยากฝากให้ช่วยเหลือกันครับ คือให้ในสิ่งที่เรามีก่อน ถ้าเราช่วยได้ เราก็ช่วยก่อน  อยากให้ทุกฝ่ายออกมาช่วยกัน โดยไม่ต้องคำนึงว่าทำดีไหม ทำแล้วเหมือนวัวหายล้อมคอกหรือเปล่า ไม่มีเวลาคิดแล้ว ซึ่งผมก็ถือว่าเริ่มทำช้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย สำหรับการบริจาคของยังเปิดรับเสมอครับ บริจาคได้ที่ชั้น 1 ตึกคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอของล็อตแรกออกไปแล้ว เราจะทำต่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผลตอบรับและงบประมาณนี่แหละครับ สมมติว่าทำต่อ เราก็มีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่กำลังทดลองทำ นั่นก็คือ “ผนังปิดล้อมส้วม” เพื่อความสะดวกในการขับถ่าย ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ครับ”

          เห็นความร่วมมือร่วมใจจากนิสิตจุฬาฯ ศิษย์เก่า คณาจารย์ และผู้มีจิตอาสาร่วมกันทำงานอย่างตั้งใจแล้ว รู้สึกว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยก็ตาม ขอเพียงคนไทยไม่ทิ้งกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามความสามารถที่ทำได้ เพียงเท่านี้ก็ทำให้ผู้ประสบภัยทุกคนมีกำลังใจฟันฝ่าปัญหาในครั้งนี้ให้ผ่านลุล่วงไปได้แล่วค่ะ ดิฉันขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยทุกคนด้วยนะคะ “ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ อดทนรอ ต่อสู้กับมันต่อไป” สู้ๆค่ะ

 

              

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.