Select Page

น้ำพระทัยทูลกระหม่อมหญิงฯ กับ สิ่งประดิษฐ์ช่วยชีวิตยามน้ำท่วม

น้ำพระทัยทูลกระหม่อมหญิงฯ กับ สิ่งประดิษฐ์ช่วยชีวิตยามน้ำท่วม

ปี 2554 นับเป็นหน้าประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่คนไทยทุกคนต้องจารึกไว้ในความทรงจำ ถึงความทุกข์ยาก ความลำบากและความสูญเสีย จาก ‘มหาวิบัติอุทกภัย’อันใหญ่หลวง แต่หากมองในมุมกลับกัน จะเห็นว่าท่ามกลางภาวะวิกฤตินี้ คนไทยทุกคนต่างยื่นมือเข้าเหลือกันอย่างร่วมมือร่วมใจ ไม่เว้นแม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงห่วงใย จึงพระราชทานความช่วยเหลืออย่างมิขาดสายแด่พสกนิกรผู้ประสบอุทกภัยทุกคน

        เรื่องและภาพ: วิรงรอง พรมมี

     คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ผู้แทนพระองค์ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ‘หนึ่งใจ สู้ภัยพิบัติ’ โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2554 เวลา 14.00 น. ในการนี้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ผู้แทนพระองค์ ได้ชมการสาธิตทำเสื้อชูชีพ แพขนของ เครี่องกรองน้ำแบบพกพา เครื่องตรวจกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบอุทกภัย

                วันนี้ดิฉันจึงรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ และขั้นตอนการทำสิ่งประดิษฐ์ทั้ง 4 แบบ มาฝากท่านผู้อ่าน เพื่อเป็นความรู้ หรือหากใครต้องการนำไปทำตามบ้างก็ไม่ว่ากันค่ะ

                เริ่มจากสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกที่เป็นที่ต้องการของผู้ประสบภัย คือ เลื้อชูชีพ’ นะคะ เสื้อชูชีพที่ว่านี้ทำมาจาก ขวดน้ำพลาสติกค่ะ วัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ 1.กระสอบปุ๋ยจำนวน 2 ถุง 2. กรรไกร 3.ขวดน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร 4.ด้ายเย็บกระสอบ 5.ตาไก่ธรรมดาเบอร์ 25 จำนวน 8 อัน 6.ตัวเจาะตาไก่ 7. เชือกขนาดความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 46 เซนติเมตร จำนวน 8 เส้น

ขั้นตอนการทำ

1.ใช้ปากกาเมจิกวาดคอดังรูปและและขีดเส้นบริเวณด้านล่างขึ้นมาประมาณ 14 นิ้ว สำหรับใส่ขวด

2.ตัดคอตามเส้น แล้วใช้จักรเย็บบริเวณคอและตามเส้นที่ขีดไว้

3.ใส่ขวดขนาด 1.5 ลิตร บริเวณช่องที่เว้นไว้ 4 ขวด แล้วเย็บปิดช่องให้เรียบร้อย

4.เจาะรูใส่แผ่นรองตาไก่จากนั้นติดตาไก่ ดังภาพห่างเส้น 1.5 นิ้ว และห่างจากด้านข้าง 2 นิ้ว

5.นำเชือกมาผูกเงื่อนในตาไก่ทั้งหมด 4 เส้น

6.นำกระสอบปุ๋ยทั้ง 2 ตัวมาเย็บติดกันบริเวณบ่าทั้งสองข้าง เป็นเสื้อชูชีพ 1 ตัว

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นที่ 2 คือ เครื่องทดสอบไฟรั่ว’ หนึ่งชุดประกอบไปด้วย 1.หัววัดไฟ มี 2 แบบ คือ แบบทุ่น และแบบแผ่นโฟมลอยน้ำ (ส่วน ก.) 2.เครื่องวัดไฟรั่ว (ส่วน ข.) 3.สายไฟ ยาวประมาณ 250 เซนติเมตร

การประกอบใช้งาน

1.นำสายไฟมายึดกับด้ามไม้ หรือท่อพีวีซี ยาว 1 เมตร ให้ปลายด้านหนึ่งของสายไฟอยู่ที่ปลายของด้ามไม้ และเหลืออีกปลายยาวประมาณ 120 เซนติเมตร

2.ต่อสายไฟด้านที่อยู่ติดกับด้ามไม้เข้ากับเครื่องวัดไฟรั่ว (ส่วน ข.) โดยต่อสายสีแดงเข้าช่องสีแดง และสายสีดำเข้าช่องสีดำ

3.ต่อปลายอีกด้านของสายไฟเข้ากกับหัววัดไฟ(ส่วน ก.) โดยต่อสายไฟสีแดงเข้าช่องสีแดง และสายไฟสีดำเข้าช่องสีดำ (ติดแบบทุ่นในกรณีวัดไฟรั่วใต้น้ำและแบบแผ่นโฟมลอยน้ำในกรณีวัดไฟรั่วที่ผิวน้ำ)

การใช้งาน

1.จับอุปกรณ์เหมือนใช้เบ็ดตกปลา เมื่อเปิดสวิตซ์ที่ตรวจไฟรั่ว(ส่วน ข.) จะเห็นไฟสีเขียวสว่างขึ้น แสดงว่าพร้อมใช้งาน

2.ทดสอบอุปกรณ์ก่อนวัดไฟ โดยนำสายไฟด้านที่จะต่อกับหัววัดไฟ (ส่วน ก.) ต่อเข้ากับถ่ายไฟฉาย ถ้าหลอดไฟสีแดงติด แสดงว่าอุปกรณ์พร้อมใช้งาน

3.หย่อนหัววัดไฟ (ทุ่น หรือ โฟมลอยน้ำ : ส่วน ก.)ที่ต่อไว้ที่ปลายของสายไฟด้านที่ห้อยอยู่ลงไปในน้ำ บริเวณที่ต้องการวัดอันตรายจากไฟรั่วในน้ำ

4.ถ้าหลอดไฟสีแดง ที่เครื่องตรวจไฟรั่ว (ส่วน ข.) ติดขึ้น แสดงว่าบริเวณที่ทุ่น หรือโฟมลอยน้ำลอยอยู่มีไฟรั่ว

หากใครมีความประสงค์เครื่องทดสอบไฟรั่ว สามารถติดต่อเพื่อขอรับได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หรือโทร 02-218-5000 ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก: ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นที่ 3 คือ เครื่องกรองน้ำแบบพกพา’ โดย 1 ชุด ประกอบด้วย 1.ถ่านกรองน้ำ หรือถ่านกัมมันต์ 2.สารจับตะกอน (สาร ก.) 3.สารฆ่าเชื้อโรค (สาร ข.) ขวดน้ำพลาสติก 1.5 ลิตร 5.ผ้าขาวบาง 6.เชื้อเพลิงชนิดแข็ง หรือแอลกอฮอล์ก้อน 7.ไฟแช็ก

ขั้นตอนการทำ

1.นำสารจับตะกอน (สาร ก.) เทลงในน้ำดิบ จากนั้นทิ้งไว้ 10 นาที ตะกอนจะนอนก้น จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง

2.นำสารฆ่าเชื้อโรค (สาร ข.) เทลงในน้ำที่กรองแล้ว (จากข้อ 1) ทิ้งไว้ 15 นาที จะได้น้ำประปาหรือน้ำใช้

3.เทถ่านกรองน้ำลงในขวดน้ำพลาสติกขนาด 1.5 ลิตร เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการกรองน้ำประปาให้เป็นน้ำดื่ม เทน้ำประปา (จากข้อ 2) ลงในถ่านกรองน้ำ แล้วใช้แก้วรองด้านล่าง จะได้น้ำดื่ม แต่เพื่อความปลอดภัย ควรนำไปต้มก่อนดื่มอีกครั้ง ด้วยอุปกรณ์แอลกอฮอล์ก้อนและไฟแช็กที่เตรียมให้ในชุด (ใช้เวลา 3 นาที)

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นสุดท้าย คือ แพขนของ’ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในขณะนี้ โดยต้นทุนการผลิตของที่นี่ก็ถูกมากๆ เพียง 400-600 บาทต่อ 1 แพ แต่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม

วัสดุอุปกรณ์   1.ถังสีพลาสติก  2.ท่อพีวีซีขนาด 8 ทุน  3.ข้อต่อขนาด 8 หุน  4.กาวซิลิโคน  5.แผ่นไม้  6.ตะปู  7.ค้อน  8.เลื่อย  9.เชือกฟาง  10.กาวต่อท่อพีวีซี

ขั้นตอนการทำ

1.นำถังสีพลาสติกมาแกะหูถังออก

2.ปิดฝาถังสีให้แน่นและลงด้วยกาวซิลิโคนให้สนิท เพื่อป้องกันน้ำเข้า

3.นำถังสีพลาสติกร้อยต่อกันด้วยเชือกฟางให้แน่น โดยมีขนาด 4×5 ถัง

4.นำท่อพีวีซีมาต่อกันเป็นโครงของแพ เชื่อมกันด้วยข้อต่อและทากาวให้แน่น

5.นำแผ่นไม้มาต่อติดกันเป็นแพประมาณ 10 แผ่น ใช้ตะปูตอกให้แน่น แล้ววางด้านบนของถังที่ร้อยติดกันใต้โครงท่อพีวีซี ทดสอบประสิทธิภาพการลอยน้ำ ก่อนส่งต่อให้ผู้ประสบอุทกภัย

เรามาฟังคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล พูดถึงโครงการ ‘หนึ่งใจ สู้ภัยพิบัติ’ ของมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี กันหน่อยดีกว่านะคะ

 

                     คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ผู้แทนพระองค์ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี กล่าวว่า “งานในวันนี้เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย จึงเล็งเห็นว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะให้เสาหลักของประเทศได้ใช้ความรู้ ใช้นวัตกรรมต่างๆ คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีชีวิตอยู่กับน้ำได้ ตลอดระยะเวลาอีกหนึ่งเดือนที่น้ำท่วม ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามท่านอธิการบดีและคณาจารย์ รวมทั้งนิสิต ก็ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆหลายอย่าง ที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเสื้อชูชีพ แพ ถ่านจากแอลกอฮอล์ เครื่องกรองน้ำ หรือเครื่องมือที่สำคัญมากอย่าง เครื่องตรวจวัดกระแสไฟ เพราะช่วงนี้มีคนถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตทุกวัน วันละหลายราย ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในโครงการเราจะมีการรับบริจาคสิ่งของไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ ถังน้ำ กระป๋องต่างๆ เพื่อมาเป็นอุปกรณ์ โดยทางคณาจารย์และนิสิตจะเป็นผู้รับอาสาสมัครมาช่วยกันผลิตด้วย ดังนั้นจะขออนุญาตให้ท่านอธิการบดีได้เล่าถึงรายละเอียดสักนิดนึงนะคะ”

    

  ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล  อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า “เบื้องต้นสิ่งแรกที่ทำคือเสื้อชูชีพ โดยเอาวัสดุเหลือใช้อย่างขวดน้ำมาทำ โดยมีความจำเป็นว่าหลายคนอาจจมน้ำได้ ประการที่สอง เป็นแพลอยน้ำ ใช้ขนสิ่งของหรือผู้คนจำนวน 3-4 คน ประการที่สาม เครื่องมือตรวจสอบไฟรั่ว ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบกระแสไฟฟ้าทั้งระดับผิวน้ำและใต้น้ำที่ลึกลงไป ถือว่ามีประโยชน์มากอย่างที่คุณหญิงท่านได้กล่าวไปแล้วนะครับ ประการที่สื่ คือทำที่จุดไฟจากแอลกอฮอล์แข็ง ใช้หุงข้าวขนาด 2-3 ถ้วย หรือใช้ต้มน้ำได้ ซึ่งมีความจำเป็นในขณะนี้ และประการสุดท้ายคือเครื่องกรองน้ำ เพราะเล็งเห็นว่าตอนนี้เรื่องน้ำสะอาดมีความจำเป็นมาก จึงคิดประดิษฐ์ขึ้น  ของทั้ง 5 อย่างนี้ ตอนนี้สามารถนำไปช่วยประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนแล้ว สมดังที่พระองค์ได้ทรงห่วงใยประชาชนในขณะนี้ครับ ”

หากท่านใดมีความประสงค์ต้องการรับสิ่งของเหล่านี้สามารถติดต่อได้ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หรือหากต้องการบริจาคขวดน้ำและสิ่งของต่างๆก็สามารถบริจาคได้ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นกันค่ะ ยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก มาร่วมด้วยช่วยกันเยอะๆนะคะ ที่นี่เขารอคนใจดีอยู่ค่ะ

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.