เล่นเกมอย่างไร ให้ชีวิตสมดุล
เกม กับ เด็ก เป็นของคู่กัน ยิ่งวงการเกมออนไลน์ พัฒนารูปแบบให้เกมสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจได้มากขึ้นแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้เด็กชื่นชอบมากขึ้น ธุรกิจร้านเกมจึงเกิดขึ้นสนองตอบความต้องการของเด็กและเยาวชนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่บริเวณใกล้กับสถานศึกษา และขยับเข้าใกล้ตัวที่สุดอย่างโทรศัพท์มือถือ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กอย่างไร จึงจะเล่นเกมได้ และชีวิตก็สมดุลด้วย
เรื่อง : วิรงรอง พรมมี
คณะแพทยศาสตร์ศิริพยาบาล จึงจัดการอบรมโครงการ “เกมสมดุล ชีวิตสมดุล” เพื่อให้ความรู้และสร้างทักษะให้กับผู้ปกครอง อีกทั้งยังช่วยปรับพฤติกรรมและลดปัญหาการติดเกมในเด็ก ซึ่งการอบรมนั้นจะใช้เวลาทั้งหมด 8 ครั้ง/คอร์ส ณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 ห้อง 7005 โรงพยาบาลศิริราช โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
คุณเอษรา วสุพันธ์รจิต นักจิตวิทยาประจำสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เล่าให้ฟังว่า “ ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจว่าสำหรับปัญหาเด็กติดเกมนั้น สามารถส่งผลกระทบได้ ทั้งในส่วนตัวของเด็กเอง ครอบครัว รวมไปถึงสังคมที่เด็กอยู่ ซึ่งมักจะเห็นผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ เช่น เมื่อเกิดปัญหากับตัวเด็ก ย่อมส่งต่อให้เกิดความเครียดในครอบครัว เกิดสัมพันธภาพที่ขัดแย้งกัน นอกจากนี้การเล่นเกมของเด็กยังอาจขยายตัวรุนแรงไปสู่ปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
ปัญหาเด็กติดเกมที่ส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก แรกๆอาจเป็นเรื่องทางกาย เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อต่างๆ ปวดหรือมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา บางรายที่มีความรุนแรง อาจเห็นได้จากข่าวหนังสือพิมพ์ ที่เล่นติดต่อกันนานๆ แล้วหัวใจวายหน้าจอคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเกิดลิ่มเลือดอุดตันอันเกิดจากการนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ส่วนด้านอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงชัดอีกอย่างคือ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองจะลดลง เช่น เรื่องการเรียน การทำการบ้าน หรือ งานบ้าน หลายรายพบว่าประสิทธิภาพในการคิดหรือสมาธิจะสั้นลง เพราะหมกมุ่นแต่เรื่องของเกม อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป บางรายอาจแสดงท่าทีหงุดหงิด หรือก้าวร้าวมากขึ้น บางรายอาจต่อต้านรุนแรง เมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่นเกม บางรายซึมเศร้า หรือ แยกตัวเพื่อมาเล่นเกม บางรายอาจโดดเรียน หนีเรียน หลับในห้องเรียน และหลายรายก่อปัญหาพฤติกรรม เช่น โกหก หรือลักขโมย เพื่อนำเงินที่ได้ไปเล่นเกม
ส่วนปัญหาในครอบครัวที่พบ คือ ความสัมพันธ์ในบ้านจะเริ่มคลอนแคลน เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดปัญหาทางอารมณ์ ขาดการใช้เวลาร่วมกัน ห่างเหินกันมากขึ้น ส่วนปัญหาการเล่นเกมที่กระทบต่อสังคม เราอาจเห็นได้จากตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น การลักขโมย การใช้หรือซื้อขายยาเสพติดในร้านเกมที่ผิดกฏหมาย การใช้ความรุนแรงที่เลียนแบบจากในเกม เป็นต้น
โครงการ HealthyGamer.net เกมสมดุล…ชีวิตสมดุล เริ่มจากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเด็กติดเกมของ รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล ในช่วงปี 2550 หลังจากผ่านกระบวนการเก็บข้อมูลทั้งหลาย อาจารย์มีความเห็นว่าแทนที่เราจะเก็บข้อมูลพวกนี้อยู่แต่ในกระดาษ เย็บเป็นเล่มหนาๆ ทิ้งไว้ให้ฝุ่นเขรอะในห้องสมุด รอให้เฉพาะคนที่ทำงานวิจัยมาหยิบอ่าน สู้เราเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายและรู้เท่าทันปัญหาที่ติดมากับเทคโนโลยีจะไม่ดีกว่าหรือ? อาจารย์จึงเลือกทำเว็บไซต์ HealthyGamer ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่จำกัดเวลาการเข้า และไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนในการรับบริการต่างๆ เช่น การทำแบบทดสอบการติดเกม หรือการให้คำปรึกษา เป็นต้น โดยได้รับทุนสนับสนุนการก่อตั้งเว็บไซต์จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปีแรก และทุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ในการช่วยบริหารจัดการและปรับปรุงเว็บไซต์ ตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นมา ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลช่วยสนับสนุนบุคลากรในการร่วมก่อตั้งและดำเนินงานเว็บไซต์”
คุณเอษรา บอกด้วยว่า “จุดมุ่งหมายของเว็บไซต์ของเราไม่ได้ต่อต้านการเล่นเกมโดยสิ้นเชิงนะคะ แต่อย่างที่ motto ประจำเว็บของเราบอกเอาไว้ว่า “เกมสมดุล…ชีวิตสมดุล” เราหวังให้ทุกคนในสังคมรู้เท่าทัน ตระหนักในปัญหา และระวังในการเล่นหรือก่อนจะหยิบยื่นเกมให้ลูกหลานเล่น พูดง่ายๆว่า เล่นเกมโดยไม่ติดค่ะ เล่นเพียงเพื่อผ่อนคลาย เล่นแค่เป็นของเล่นชิ้นหนึ่ง ที่เมื่อเราเลิกเล่นแล้ว เรายังมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน หรือต่อชีวิตปกติของเราอยู่ ไม่ใช่หมกมุ่นและตกเป็นทาสของเกมไปเสีย
จากทั้งหมดจึงเป็นความฝันเล็กๆของพวกเรา ทั้งอาจารย์ชาญวิทย์ และทีมงานทุกคนของ HealthyGamer.net ว่าอยากเห็น ครอบครัวและสังคมไทยมีความสุขจากการที่เด็กไทยไม่ติดเกม ค่ะ ผู้ปกครองหลายรายที่ได้เข้าร่วมอบรมผู้ปกครองเรื่องการปรับพฤติกรรมเด็กติดเกมได้ให้ความเห็นว่าการอบรมช่วยให้มีหลักการในการมองสิ่งที่เกิดขึ้น มีแนวทางในการตอบสนองเด็กๆ และช่วยให้ปรับมุมมองเกี่ยวกับตัวของเด็กได้ จากเดิมมองแค่ด้านแย่ๆที่วันๆลูกเอาแต่เล่นเกม เปลี่ยนเป็นการมองเห็นมุมบวกของลูก และท่าทีในการตอบสนองที่มีสติและใจเย็นขึ้น ช่วยให้สัมพันธภาพในบ้านดีขึ้นตามลำดับ และนำมาสู่ความเข้าใจ และปฏิบัติตามกติกาที่ตั้งไว้ ลดเวลาการเล่นเกมลงได้ทีละน้อยค่ะ
ส่วนความเห็นต่อการใช้เว็บไซต์ ก็มีหลากหลาย ส่วนใหญ่จะมองว่าการที่เว็บสามารถเป็นที่ให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นได้ และสามารถประเมินระดับการเล่นเกมของเด็กแต่ละคนได้ ช่วยให้พ่อแม่หรือคุณครูสามารถนำข้อมูลไปช่วยในการดูแลและปรับพฤติกรรมของเด็กโดยไม่ต้องเสียเวลามาโรงพยาบาลในรายที่ไม่ได้มีอาการหนักมาก ถือเป็นการช่วยลดภาระของผู้ปกครองและเป็นการป้องกันปัญหาการติดเกมแต่แรกได้เป็นอย่างดีค่ะ สำหรับปัญหาการติดเกม พ่อแม่มีส่วนช่วยได้โดยการฝึกวินัยให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก เช่น ฝึกให้ช่วยงานบ้าน มีกติกาในบ้านที่ชัดเจนและเอาจริงเมื่อลูกทำผิด เป็นต้น นอกจากนี้การสื่อสารเชิงบวก การให้คำชมหรือรางวัลเมื่อลูกทำดี เสริมความภาคภูมิใจในตัวเองให้เขา การมีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว หรือการมีเวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน เป็นส่วนช่วยให้เด็กเติบโตขึ้น โดยมีเกราะป้องกันทางใจไม่ให้หันไปหมกมุ่นอยู่ในโลกของเกมได้ค่ะ และหากผู้ปกครองจะร่วมกันตั้งกติกาในบ้านแล้ว แนะนำว่าให้เป็นการตั้งกติการ่วมกันระหว่างสมาชิกในบ้าน รวมถึงเด็กๆด้วยนะคะ เพราะเรายังคงต้องเคารพความคิดเห็นของลูกๆเช่นกัน
ส่วนกติกาเกี่ยวกับเกมที่แนะนำ คือให้พ่อแม่วางคอมพิวเตอร์ไว้ที่ส่วนกลางของบ้าน ในจุดที่มีคนเดินผ่านไปมาได้ เพื่อเห็นว่าเขากำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่ในคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ เวลาในการเล่นเกม ในวันธรรมดาไม่ควรเกินวันละ 1 ชั่วโมง วันหยุดไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นโอกาสในการติดเกมจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเลยค่ะ ปัญหาการติดเกมที่น่ากลัวอีกอย่างคือ การที่เด็กรุ่นใหม่หลายคนที่ติดเกมนี้ ติดอยู่กับเกมที่มักมีเนื้อหาของความรุนแรง ทำให้เกิดเป็นความเคยชิน และเมื่อเวลาผ่านไป เด็กเหล่านี้จะโตไป กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เคยชินกับความรุนแรง และขาดความเห็นอกเห็นใจ ในขณะที่ผู้ใหญ่ในตอนนี้เริ่มชราลง กลายเป็นวัยที่ต้องให้เด็กตอนนั้นหรือผู้ใหญ่ในอนาคตเลี้ยงดู นั่นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง…? นั่นคือผลกระทบที่ไม่อาจเห็นชัดในตอนนี้ แต่พวกเราจะรอคอยให้มันเกิดหรือ…?
อีกประการคือการป้องกันดูแล ย่อมง่ายกว่าการซ่อมสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้น การที่ผู้ใหญ่ช่วยกันฝึกวินัย และเสริมสร้างให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ใจเขาหมกมุ่นหลงใหลในโลกของเกม เพราะถ้าหากโลกแห่งความเป็นจริง ลูกๆหลานๆของเรา มีความสุข และเขารู้ว่ามีคนที่เห็นค่าเขาแล้ว เขาก็ไม่ต้องออกไปแสวงหาคุณค่าของตัวเองจากโลกใบอื่น(โลกของเกม) อีกต่อไปค่ะ
ได้ฟังแนวทางจากนักจิตวิทยาอย่างนี้แล้ว ดิฉันเชื่อเหลือเกินว่าคงจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังประสบปัญหาลูกติดเกม ให้นำแนวทางดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ และคืนสุขความสุข ความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวให้กลับมาอีกครั้งค่ะ