Select Page

‘ที-เรย์ วิชั่น’ มองทะลุวัตถุ เหมือนซุปเปอร์แมน

‘ที-เรย์ วิชั่น’  มองทะลุวัตถุ  เหมือนซุปเปอร์แมน

อีกไม่นาน  อุปกรณ์ที่สามารถมองทะลุผ่านวัตถุที่เป็นของแข็งเหมือนอย่างสายตา  “เอกซเรย์”  ของซุปเปอร์แมนในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด  ก็จะมีขนาดเล็กลงและราคาถูกลงจนกลายเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้กันตามบ้านเรือนสบายๆ  หลังจากทีมนักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย  (คาลเท็ค)  ค้นพบหนทางทำให้ซิปคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วของบุคคลทั่วไป  สามารถส่งผ่านคลื่นความถี่สูงในระดับเทราเฮิรตซ์  (1 ล้านล้านเฮิรตซ์)  ได้สำเร็จ

          ที่ความถี่สูงระดับเทราเฮิรตซ์ดังกล่าว  คลื่นความถี่สามารถทะลุผ่านวัสดุที่เป็นของแข็งได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อวัสดุดังกล่าวเหมือนกับเอกซเรย์  ทำให้สามารถใช้ไมโครชิปดังกล่าวนี้มาสร้างอุปกรณ์ที่สามารถมองหาใบมีดโกนที่ซุกอยู่ในแท่งพลาสติก  หรือใช้มันเพื่อตรวจสอบหาปริมาณของไขมันในเนื้อไก้ได้  ที่ก่อนหน้านี้เป็นขีดความสามารถของเครื่องสแกนขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่กับที่  อย่างเช่นเครื่องสแกนเพื่อความปลอดภัยในท่าอากาศยานต่างๆ  เท่านั้น

         อาลี  ฮัจยีมิรี  วิศวกรไฟฟ้าจากคาลเท็ค  ระบุว่า  วิธีการที่ใช้ผลิตไมโครชิปพิเศษดังกล่าวนี้เป็นกรรมวิธีเดียวกับที่ใช้ผลิตไมโครชิปซึ้งใช้กันอยู่ในสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาอื่นๆ  เพียงแต่ไมโครชิปพิเศษนี้สามารถทำงานได้ใความเร็วที่สูงกว่าไมโครชิปทั่วไปดังกล่าวมากถึงเกือบ  300  เท่าตัว  ซึ่งส่งผลให้มันสามารถส่งสัญญาณที่มีความถี่สูงระดับ  1  ล้านล้านเฮิร์ต  ออกมาซึ่งสูงกว่าวิธีการเดิมที่ใช้กันทั่วไปกว่า  1,000 เท่า  ในขณะเดียวกันก็สามารถกำหนดให้คลื่นความถี่ที่สูงมากดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่จุดใดจุดหนึ่งที่ต้องการสแกนหาอะไรบางอย่าง  ผลก็คือเกิดความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ใช้สแกนร่างกายผู้โดยสารแบบเต็มตัวที่สนามบินต่างๆ  ในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้  เช่นเดียวกับการสแกนเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง  อาจลดขนาดลงมาเหลือเพียงเท่ากับโทรศัพท์มือถือเท่านั้น

          ความสำเร็จของการผลิตไมโครชิปพิเศษดงกล่าวเกิดขึ้นจากความพยายามแก้ปัญหาที่ว่า  ทรานซิสเตอร์ทั่วไปสามารถทำงานได้ในความถี่ระดับเทราเฮิรตซ์  จึงไม่สามารถขยายสัญญาณความถี่ได้สูงเกินกว่าระดับที่แน่นอนระดับหนึ่งซึ่งเรียกว่าระดับ  “คัต  ออฟ”  แต่ทีมวิจัยของคาลเท็ครวมเอาพลังของทรานซิสเตอร์จำนวนมากเข้าด้วยกันที่ความถี่ที่ถูกต้องทำให้ระดับสัญญาณโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นมากด้วยเช่นเดียวกัน

          ไมโครชิปดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายอย่างมาก  ตั้งแต่การสแกนทางการแพทย์แบบ  “ไตรคอร์เดอร์”  (อุปกรณ์เพื่อการสแกน,  วิเคราะห์ข้อมูล  และเก็บข้อมูลแบบพกพาตามจินตนาการในภาพยนตร์เรื่องสตาร์เทร็ค)  เรื่อยไปจนกระทั่งถึงการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนทั่วไปให้เป็นอุปกรณ์สแกนทางการแพทย์ประจำบ้าน  และใช้เป็นสแกนเนอร์ทางการแพทย์พกพาสำหรับทหารในสมรภูมิ  เป็นต้น

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน  ฉบับวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2555 หน้า 9

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.