Select Page

“วารสารศาสตร์จะอยู่รอดหรือไม่…ในยุคคอนเวอร์เจนซ์”

“วารสารศาสตร์จะอยู่รอดหรือไม่…ในยุคคอนเวอร์เจนซ์”

 ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความอยู่รอดของตลาดหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนประเภทแรกของโลกว่าจะอยู่รอดได้หรือไม่ ภายใต้ยุคโลกาภิวัฒน์ ที่มีสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ตหมุนวนรอบตัวตลอดเวลา สื่อใหม่นี้ทำให้พฤติกรรมการรับข่าวสารของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เพราะสื่อใหม่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการรับสาร จึงสามารถรับข่าวสารเมื่อไหร่ก็ได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกวิธีรับสารได้อีกด้วย เช่น อ่าน ดู ฟัง เป็นต้น หรือแม้แต่ผู้รับสารเป็นผู้ผลิตสารเสียเอง ปัจจุบันนี้ก็มีถมไป จึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วผู้ผลิตสารในหนังสือพิมพ์ อย่างนักวารสารศาสตร์จะอยู่รอดได้หรือไม่ในยุคคอนเวอร์เจนซ์นี้

เรื่องและภาพ : วิรงรอง พรมมี

 

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 นักศึกษาสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดการสัมมนาเรื่อง “Journalism of the future วารสารศาสตร์แห่งอนาคต” ณ ห้องประชุมสวพักตร์นิเวศน์ อาคาร 57 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยมีวิทยากรผู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว 3 ท่าน คือคุณบรรยงค์ สุวรรณผ่อง บรรณาธิการที่ปรึกษา หนังสือพิมพ์อีคอนนิวส์, ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา  คณะนิเทศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และคุณฐิติชัย อัฏฏะวัชระ รองประธานฝ่ายวิชาการ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) ซึ่งดำเนินรายการโดย อ.เอกพล เธียรถาวร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

จากประเด็นข้างต้นทำให้มีการศึกษาถึงประเด็นต่างๆ ที่วงการวารสารศาสตร์กำลังเผชิญ ซึ่งก็ได้ผลสรุปในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1. พฤติกรรมการเปิดรับข่าวสารของผู้บริโภคในยุคคอนเวอร์เจนซ์

2. โอกาสของวิชาชีพวารสารศาสตร์ในยุคคอนเวอร์เจนซ์

3. สื่อมวลชนกับการเข้าถึงความเป็นประชาคมอาเซียนของคนไทย

4. อำนาจการกำหนดวาระข่าวสารของสื่อสังคมออนไลน์

5. การสื่อสารความเกลียดชังและรุนแรงในสื่อสังคมออนไลน์

ฉะนั้นเราลองมาฟังความคิดเห็นของวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ในประเด็นข้อสรุปข้างต้นว่า ในทัศนะของท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร

คุณบรรยงค์ สุวรรณผ่อง บรรณาธิการที่ปรึกษา หนังสือพิมพ์อีคอนนิวส์ อธิบายว่า ปัจจุบันผู้บริโภคข่าวสาร ผ่านสื่อที่มีศักยภาพอย่างสมาร์ทโฟน เพราะสามารถหลอมรวมข้อมูลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเปิดรับข่าวสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และอัพเดตตลอดเวลา ส่วนโอกาสของวิชาชีพวารสารศาสตร์นั้น มีแน่นอน เพราะทุกวันนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันบนพื้นฐานของหลักสูตรนั้นๆ และยังมีเครื่องมือที่ทันสมัย ในฐานะที่มองภาพของนิเทศศาสตร์ทั้ง 360 องศา นักวารสารศาสตร์มีโอกาสอย่างหนึ่งคือ ‘การเขียน’ เราต้องหยิบจุดเด่นตรงนี้มา คิดสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ให้น่าสนใจ ได้ผลิตภาพที่ดี เรื่องนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความรู้เรื่องอาเซียนในระดับปานกลาง คิดว่าไม่จริง เพราะนักศึกษาราชภัฏ ถ้าไม่ใช่หลักสูตรนานาชาติ หรือหลักสูตรภาษาอังกฤษ ก็จะรับรู้เรื่องอาเซียนจากภาษาไทย ดังนั้นจึงเข้าไม่ถึงแก่นของเรื่องอาเซียน ซึ่งนี่คืออุปสรรค นอกจากนี้อำนาจการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ทฤษฎีนายประตูข่าวสารตกขอบไปแล้ว

 

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือ ไม่ใช่รอรับข้อมูลข่าวสารอยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นการกระตือรือร้นที่จะรับข่าวสารมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องการสื่อสารหรือแสดงความคิดเห็นทันที ผู้บริโภคจึงเป็นผู้ผลิตข้อมูลเสียเอง โดยเลือกจะซื้อ เลือกจะบริโภค เลือกจะเผยแพร่ต่อ (แชร์) ได้ตามที่ตัวเองต้องการ แต่สื่อกระแสหลักนั่นแหละที่หยิบข้อมูลเหล่านั้นมานำเสนอ เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง คนทุกคนย่อมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะเป็นเชิงการตลาด เชิงการท่องเที่ยว หรืออะไรก็ตาม โลกโซเชียลมีเดียจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วกว่า นักวารสารศาสตร์ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้าถึงผู้บริโภค แต่ก่อนมักคิดจาก ‘คุณค่าข่าว’ แต่เดี๋ยวนี้จะกำหนดตามที่ผู้บริโภคสนใจ อีกทั้งยังคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอข่าว สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนกระบวนการคิดของบรรณาธิการข่าวด้วย โอกาสในวิชาชีพวารสารศาสตร์ ต้องบอกว่าในตลาดสื่อทุกวันนี้ เป็นตลาดที่ขาดแคลนบุคลากร อยากได้คนที่ทำงานได้หลายอย่าง ไม่ต้องการคนที่ทำงานแค่วารสารได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถอย่างมาก โดยปลายปีนี้จะมีทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม เกิดขึ้นอีกมากมาย หากจะเข้าไปทำงานตรงนี้ ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารในรูปแบบใหม่ๆ ไม่เหมือนใคร ส่วนเรื่องสื่อกับAEC ในช่วง 2 ปีนี้ เราพูดถึงเรื่องนี้กันหนาหู โอกาสของสื่อมวลชนไทยไปโกอินเตอร์ มองว่ามีบางส่วน เช่น หนังสือพิมพ์ธุรกิจ และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ อีกทั้งตัวสื่อมวลชนเองก็ต้องมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดี เข้าใจวัฒนธรรมและประเพณีของประเทศนั้นๆ นอกจากนั้นในการศึกษาเรื่องความเกลียดชัง และความรุนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ โซเชียลมีเดียไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว แต่เป็นพื้นที่สาธารณะ ฉะนั้นหากจะเขียน หรือแสดงความคิดเห็นอะไร ควรใช้ความระมัดระวัง จงถามตัวเองว่า ‘คิดก่อนจะคลิกแล้วหรือยัง?

คุณฐิติชัย อัฏฏะวัชระ รองประธานฝ่ายวิชาการ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) อธิบายว่า การเปิดรับข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน มองในเรื่องของ ‘เวลา’ สมัยก่อนการรับสื่อมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา แต่ในปัจจุบันเปิดรับข่าวสารผ่านเฟซบุ๊คมากที่สุด เพราะในโลกออนไลน์จะเปิดรับข้อมูลข่าวสารเมื่อไหร่ก็ได้ ผมพัฒนาธุรกิจตนเองจากการสร้างเว็บไซต์ โดยที่ตัวผมเองจบวารสารฯ ทีแรกก็เอาแค่อ่านได้ ดูได้ ซึ่งผมเรียนจากหนังสือ และเว็บไซต์เอง สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือนักข่าวต้องเป็น Contents Developer เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคต่างกัน ไลฟ์สไตล์ต่างกัน เลือกเวลาอ่านต่างกัน เทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยหนึ่งของการสื่อสารให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นนักวารสารฯ ในยุคนี้จะอยู่ได้ ถ้ามองมุมใหม่ และเข้าใจเลือกสาร โอกาสในวิชาชีพเพิ่มขึ้น คนในวิชาชีพต้องปรับตัวตามสภาพทางพฤติกรรมผู้บริโภค ทำอย่างไรให้เขารู้เท่าทันสื่อ และที่สำคัญเมื่อโอกาสมาแล้วเขาจะอยู่ในสนามได้นานแค่ไหน ส่วนเรื่องการเข้าถึงอาเซียนนั้น ผมเห็นด้วยนะ แต่เพียงบางมุมเท่านั้น เพราะไม่ถูกต้องทั้งหมด คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจน้อย แต่เป็นการสร้างการตื่นตัวเสียมากกว่า โอกาสของวิชาชีพนี้ในตลาด ผมเห็นตลาดมีเยอะนะ ทั้งตลาดสื่อหลัก และสื่อออนไลน์ แต่ต้องมีความสามารถด้านภาษา และมีความคิดสร้างสรรค์ ประเด็นสุดท้ายการสร้างความเกลียดชังรุนแรงมันกระทบหลายส่วน การโพสต์ข้อความอะไรสักอย่าง ควรโพสต์ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นได้ ความเกลียดชัง หรือความรุนแรง เป็นสิ่งที่พบได้ปกติทั่วไป ไม่ใช่แค่ในโลกออนไลน์  ดังนั้นโซเชียลเน็ตเวิร์คจึงเป็นเพียงช่องทางหนึ่งในการแสดงออกเท่านั้น อยู่ที่ผู้บริโภคมีความเข้าใจ หรือภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน

 

ไม่ว่าพรุ่งนี้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าใดก็ตาม แต่จากที่ฟังจากวิทยากรทั้ง 3 ท่านแล้ว ดิฉันเชื่อว่า ในวงการนี้ยังมีที่ว่างสำหรับนักวารสารศาสตร์รุ่นใหม่ๆ อย่างแน่นอน ขอเพียงมีทักษะอย่างรอบด้าน ขยัน ตั้งใจ รู้จักปรับตัวตามสภาพแวดล้อม วารสารศาสตร์ก็จะอยู่รอด ไม่ว่าจะในยุคคอนเวอร์เจนซ์ หรือยุคไหนก็ตาม

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.