Select Page

‘รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนได้ด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์’ ช่วยการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง

‘รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนได้ด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์’ ช่วยการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ เอแอลเอส (ALS –Amyotrophic Lateral Sclerosis) เป็นโรคเกี่ยวกับเซลล์ประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเสียหรือเสื่อมไป โรค ALS พบน้อยมาก โดยพบได้เพียง 4 ถึง 6 ต่อประชากร 100,000 คน และโอกาสที่จะพบผู้ป่วยรายใหม่มีเพียง 1.5 ถึง 2.5 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี โรคนี้เป็นกับผู้ใหญ่วัยใดก็ได้ แต่จะพบบ่อยขึ้นตามอายุ ซึ่งอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 65 ปี มักเป็นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่หากผู้ใดเป็นโรคนี้แล้ว จะมีความยากลำบากในการดำรงชีวิตอย่างมากทีเดียว

เรื่อง : วิรงรอง พรมมี

 ผศ.นพ.นิยม ลออปักษิณ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อ.องครักษ์ เป็นผู้ให้แนวคิดว่าควรจะมีอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วย กล้ามเนื้ออ่อนแรง (ตั้งแต่ช่วงเอวลงไปถึงด้านล่าง) ที่ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น ไม่สามารถลุกยืน หรือจับสิ่งของได้ด้วยตัวเอง ให้มีการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถแบ่งเบาภาระให้กับญาติหรือผู้ดูแลได้ จึงเป็นที่มาของการประดิษฐ์รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนได้ด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
          รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนได้ด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์  มีคุณสมบัติพิเศษคือ  สามารถใช้เป็นรถเข็นไฟฟ้าแบบทั่วไป แต่สามารถยืดขึ้น เพื่อพยุงให้ผู้ป่วยสามารถลุกยืนขึ้นได้ โดยมีไมโครคอนโทรลเลอร์ (อุปกรณ์ชิปไอซีพิเศษชนิดหนึ่ง ที่สามารถเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานตามที่ต้องการได้) เป็นชุดควบคุมการทำงานทั้งระบบ การควบคุม มี 2 ลักษณะ คือ คันโยก (Joy Stick) และชุดควบคุมระยะไกล (Remote Control) สามารถเคลื่อนที่ได้ 4 ทิศทางคือ เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา สามารถปรับระดับให้ผู้ป่วยลุก-ยืน โดยมีสายรัดประคองตัวบริเวณหน้าท้องและหัวเข่า ขณะนั่งหรือยืนขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการเคลื่อนตัวและลุกยืนของผู้ป่วย

 

รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนได้ด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ ถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์มาก สำหรับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะจะทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยตนเองในการดำรงชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งนวัตกรรมนี้ยังมาจากฝีมือคนไทย มีราคาต้นทุนประมาณ 35,000 บาท ซึ่งถูกกว่าเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศอยู่มาก ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หวังว่านวัตกรรมนี้จะรองรับผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง เว็บไซต์ของเราจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ให้อุปกรณ์ดีๆ อย่างนี้ ได้เป็นที่รับรู้และขยายวงกว้างออกไปถึงกลุ่มเป้าหมายอีกทางหนึ่ง

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.