Select Page

ตามรอย “คุณค่าพืชพันธุ์ธัญญาหาร”

ตามรอย “คุณค่าพืชพันธุ์ธัญญาหาร”

เมื่อวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2556 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกับเครือบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานเกษตรมหัศจรรย์ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “คุณค่าพืชพันธุ์ธัญญาหาร” ณ ห้างสรรพสินค้า เดอะ มอลล์ บางกะปิ เพื่อเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการเกษตร รวมทั้งต่อยอดการเผยแพร่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทย ในบทบาทที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก

เรื่องและภาพ : วิรงรอง พรมมี

งานนี้มีความพิเศษตรงที่ความหลากหลายของพันธุ์ไม้ประเภทต่างๆ รวมถึงพันธุ์ไม้หายาก ซึ่งดิฉันได้รวบรวมมาฝากท่านผู้อ่านแล้วค่ะ เรามาตามรอย “คุณค่าพืชพันธุ์ธัญญาหาร” มารู้จักพันธุ์ไม้หน้าตาแปลกๆ กันเลยนะคะ

“มะเขือการ์ตูน”

                   มะเขือการ์ตูน หรือ Solanum mammosum มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบอเมริกากลาง โดยทั่วไปมีขนาดทรงพุ่มสูงประมาณ 90-120 เซนติเมตร ทรงพุ่มกว้างประมาณ 60-90 เซนติเมตร เป็นไม้ประดับที่มีลักษณะลูก เป็นปุ่ม 3-5 ปุ่ม คล้ายดาว และมีสีเหลืองจนถึงสีส้ม เป็นที่สะดุดตา ใช้ในงานประดับตกแต่งสถานที่ เช่นโรงแรม หรือกระเช้าดอกไม้ สำหรับเทศกาลต่างๆ โดยมากมีราคาเฉลี่ยกิ่งละ 50-100 บาทต่อกิ่ง (1 ต้น มีประมาณ 20 ลูก)

“เห็ดเรืองแสง”

                  เห็ดเรืองแสง มีลักษณะคล้ายกับเห็ดนางรม ตอนกลางวันดอกเห็ดมีสีขาว แต่ตอนกลางคืนดอกเม็ดจะเปล่งแสงได้เป็นแสงสีเขียว สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ประมาณ  10-20 เมตร ถือเป็นเห็ดดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง มักพบในบริเวณที่มีความชื้นสูง ในช่วงที่ฝนตกหนักในรอบปี คือช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม โดยจะขึ้นเป็นกลุ่มๆละ 4-5 ดอก บนรากไม้หรือกิ่งไม้ที่ตายแล้ว นอกจากนี้ยังมีแนวคิดนำเห็ดเรืองแสงมาใช้ประดับในการจัดตกแต่งสวนเพิ่มความแปลกใหม่ และสวยงามในยามค่ำคืน หรือแนวทางการตัดต่อเอายีนจากเห็ดเรืองแสงไปส่งถ่ายในต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้สามารถเปล่งแสงในตอนกลางคืนตามถนน ทำให้ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่รถยามค่ำคืน ถือเป็นการช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ส่องตามท้องถนนลงได้ รวมถึงอาจนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ ที่มีแนวทางนำสารออกฤทธิ์ดังกล่าวมาบำบัดโรงมะเร็งอีกด้วย

“ข้าวเหนียวลืมผัว”

                  ข้าวเหนียวลืมผัว (ข้าวชาวเขา อร่อยจนชาวเมืองไม่อยากลืม) เป็นข้าวเหนียวนาปีของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวม้ง ปี 2533 นายพนัส สุวรรรณธาดา เจ้าพนักงานการเกษตร 5 ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก พบเห็นและสนใจจึงรวบรวมและนำมาปลูกเปรียบเทียบกับข้าวที่ปลูกจากแหล่งเดิมและคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์

ข้าวเหนียวลืมผัว เป็นข้าวเหนียวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวกล้องสีดำไวต่อช่วงแสง ลักษณะทรงกอตั้ง ต้นแข็ง ไม่ล้มง่าย กลีบดอกระยะออกรวงมีสีเขียวอ่อน เมื่อระยะน้ำนมกลีบดอกเปลี่ยนสี เป็นแถบสีม่วงบนพื้นที่สีเขียวอ่อน ต่อมาเมื่อเข้าสู่ระยะแป้งแข็ง สีกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีฟางแถบม่วงดำ และเมื่อข้าวระยะสุกแก่ สีเปลือกเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีฟางแถบดำ หรือสีฟาง มี KOH ต่ำ อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ อัตราการยืดตัวปกติ ระยะฟักตัว 5 สัปดาห์ ลักษณะเด่น เมล็ดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระรวมสารเหล่านี้ ได้แก่ แอนโทไซยานิน แกมมา โอไรซานอล กรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น โอเมก้า 3 , 6 , 9 วิตามินอี ธาตุเหล็ก แคลเซียม และแมกกานีส  นอกจากนี้ข้าวกล้องเมื่อหุงสุก มีกลิ่นหอม ลักษณะสัมผัสเมื่อแรกเคี้ยว จะกรุบหนึบ ภายในนุ่มเหนียว

“สับปะรดสี”

                  สับปะรดสี เป็นพืชบนดินทนแล้ง พบตามทวีปอเมริกาใต้ กลาง เหนือ สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 แบบคือ แยกหน่อ และเพาะเมล็ด ปัจจุบันสับปะรดสีใช้ตกแต่งทั่วไป เพิ่มบรรยากาศความสดชื่น เป็นพืชทนทานต่อสภาพแสงน้อย เหมาะสำหรับจัดสวนที่ไม่ต้องดูแลมาก

“ข้าวจีไอ” Geographical Indications : GI

                  ข้าวจีไอ คือพันธุ์ข้าวที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2548 ข้าวจีไอจัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียน “ข้าวพันธุ์สังข์หยด” เป็นข้าวจีไอพันธุ์แรกของประเทศไทย ส่งผลให้ข้าวสังข์หยดเป็นที่นิยมในผู้บริโภคทั้งตลาดในและต่างประเทศ จนกระทั่งผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีพันธุ์ข้าวอีกหลายพันธุ์ที่สามารถผลักดันไปสู่ข้าวจีไอ เช่น “ข้าวก่ำล้านนา” ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกในพื้นที่  8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน “ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้” จ.สระบุรี “ข้างเหลืองปะทิวชุมพร” ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของ จ.ชุมพร ข้าวแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานและน่าสนใจทั้งสิ้น

                 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กรมการข้าวมีแผนการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 16,000 สายพันธุ์ โดยการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นพันธุ์ที่มีความพิเศษเฉพาะพื้นที่ เพื่อขึ้นทะเบียนรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือข้าวจีไอ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตข้าวได้อีกทางหนึ่ง เพราะการพัฒนาข้าวที่มีศักยภาพให้ขึ้นทะเบียนเป็นข้าวจีไอ จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า เนื่องจากเป็นสินค้าข้าวที่ได้รับการรับรองกระบวนการผลิต มีการตรวจสอบย้อนกลับได้ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าข้าวนั้น จะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติฯ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าข้าวและเป็นการส่งเสริมการตลาด

 

                 นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “คุณค่าพืชพันธุ์ธัญญาหาร” ในงานเกษตรมหัศจรรย์ ครั้งที่ 4 ซึ่งยังมีไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชพันธุ์นานาชนิดทั้งใน และต่างประเทศ รอทุกท่านไปสัมผัส งานนี้นอกจากจะได้ความรู้ด้านการเกษตรแล้ว ยังได้สินค้าจากการเกษตร ราคาพิเศษ ติดมือกลับบ้านด้วย ถือเป็นการส่งเสริมเกษตรกรไทยอีกทางหนึ่งค่ะ 

 

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.