พิพิธภัณฑ์พาณิชย์นาวี โบราณคดีใต้น้ำ
ใครจะรู้….? ว่าวัตถุโบราณที่มีการขุดพบนอกจากใต้พื้นดินที่ขุดขึ้นมาแล้ว ในใต้มหาสมุทรอันลึกถึงท้องทะเลไทย ยังมีวัตถุโบราณที่บ่งบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ไม่แพ้วัตถุโบราณใต้พื้นดินเลย
เรื่อง/ภาพ อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์
จากการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำในท้องทะเลไทย เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัยมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ทำให้มีจำนวนโบราณวัตถุจากแหล่งเรือสำเภาโบราณที่จมเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้วัตถุที่ขุดพบนี้ ได้มีประโยชน์สามารถที่จะเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปฏิบัติงานโบราณคดีใต้น้ำ และประวัติศาสตร์การพาณิชย์นาวีของไทย จึงได้จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี-จันทบุรี ขึ้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี-จันทบุรี เป็นอาคารแฝด ๒ ชั้น พื้นที่ภายในรวม ๓,๕๐๐ ตารางเมตร ตั้งอยู่ในบริเวณโบราณสถานค่ายเนินวง ซึ่งเป็นป้อมค่ายคูเมืองคันดินโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อรับศึกญวนในสมัยรัชกาลที่ ๓ งานนี้ถือว่าคุ้มค่าที่เราได้เรียนรู้ทั้งโบราณสถานบนบก และโบราณวัตถุที่ขุดพบจากใต้ทะเลในที่เดียวกัน……
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี-จันทบุรี แบ่งออกเป็น ๖ ห้อง ด้วยกัน
ห้องที่ 1 เป็นห้องจัดแสดงสินค้าและวิถีชีวิตชาวเรือ ในห้องนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึง การพาณิชย์นาวีในสมัยโบราณ เส้นทางการเดินเรือ เมืองท่าโบราณ สินค้า จัดแสดงโดยใช้เรือสำเภาจำลองขนาดเท่าจริง และมีเอกลักษณ์เป็นเรือสำเภาโบราณซึ่งแตกต่างจากเรือสำเภาที่เราเห็นกันในปัจจุบัน เริ่มจากหัวเรือที่เป็น “หัวเรือหัก” ที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมของเรือสำเภาพร้อมด้วยภาพสิงห์ที่ด้านหน้าของหัวเรือ เปรียบเสมือน “เครื่องราง” ที่ช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้พ้นไป
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ทำให้ผมมีความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นในรายละเอียดของสิ่งที่เราอาจมองข้าม เช่น ดวงตาลักษณะต่างๆ ที่เห็นได้จากด้านข้างของเรือนั้น จะสามารถจำแนกประเภทของเรือได้อีกด้วย
ลักษณะตาปิด 1 ข้างหรือ ตาดำ 1 ข้าง บ่งบอกว่าเป็น “ เรือของโจรสลัด”
ลักษณะตามองเหลือบลงพื้นน้ำ บ่งบอกว่าเป็น “เรือประมง” ซึ่งตานี้เชื่อว่า จะช่วยในการหาปลา เพราะจะช่วยมองปลาในมหาสมุทรได้อีกด้วย
และลักษณะตามองไปข้างหน้าอย่างเรือลำนี้ที่สร้างจำลองไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ บ่งบอกว่าเป็น “เรือพานิช” เพราะเชื่อว่าจะช่วยในการมองวิสัยทัศน์ทางทะเล
ส่วนภายในตัวเรือได้จัดจำลองสภาพของสินค้า ตลอดจนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในเรือที่มิใช่เป็นเพียงพาหนะ แต่เปรียบเสมือนบ้านของพวกเขาที่ใช้ดำรงชีวิตบนพื้นน้ำในแต่ละวัน
ห้องที่ 2 เป็นห้องแนะนำปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำ แสดงเรื่องราว เทคนิคการทำงานของโบราณคดีใต้น้ำ ตั้งแต่โบราณคดีใต้น้ำคืออะไร แตกต่างจากโบราณคดีบนบกอย่างไร โดยจำลองสภาพจริงของแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ วิธีการทำงาน ตลอดจนเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริง
ห้องที่ 3 ห้องคลังเก็บโบราณวัตถุ แสดงให้เห็นถึงการเก็บรักษาโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งอื่น ๆ จะไม่มีบุคคลภายนอกเคยได้เห็นมากนัก เนื่องจากคลังเก็บโบราณวัตถุมักจะเป็นห้องอยู่ภายในอาคาร แต่ที่นี่จะมีบางส่วนที่เปิดเป็นช่องกระจกให้สามารถมองเห็นเข้าไปภายในได้ และถูกเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะเพื่อรักษาความคงทนของวัตถุโบราณแต่ละชิ้นไว้
ห้องที่ 4 ห้องแสดงเรือ และชีวิตชาวเรือ จัดแสดงเรื่องของเรือในประเทศไทย ว่ามีเรือชนิดใดบ้าง เรือแบบใดใช้กันอยู่ในแถบใด แสดงโดยเรือจำลองที่ทำย่อส่วนตามจริง เพื่อให้ผู้ชมได้รู้จักเรือที่บางชนิดก็เคยได้ยินเพียงแต่ชื่อ แต่ก็ยังไม่เคยเห็นว่าที่จริงแล้วมีลักษณะเช่นไร พูดได้เลยว่า เรือบางชนิดผมไม่เคยได้เห็นหรือรู้จักเลย……
ห้องที่ 5 ซึ่งแน่นอนว่ามาเมืองจันทน์ทั้งทีเราก็ต้องรู้จักของดีเมืองจันท์ ซึ่งห้องนี้ได้เล่าถึงเมืองจันทบุรีว่ามีความเป็นมาอย่างไร ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาสตร์ การก่อตั้งเมืองจันทบุรี เหตุการณ์สำคัญ และเรื่องของชนเผ่าซองซึ่งเป็น ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของจันทบุรี และยังมีภาษาซองเป็นของตัวเองอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีมรดกทางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว และของดีที่มีชื่อเสียงของจังหวัดจันทบุรี ให้เราได้ศึกษาอย่างครบถ้วน
ห้องที่ 6 เป็นห้องบุคคลสำคัญ ในห้องนี้ จะแสดงถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ เส้นทางเดินทัพเมื่อคราวมารวมพลที่จันทบุรีในอดีต เพื่อเชิดชูพระมหาวีรกรรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและชาวบ้านผู้ปกบ้านป้องเมือง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจที่ชาวจันทบุรี และคนไทยทั้งประเทศระลึกถึงอยู่ตลอดกาล ….
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี-จันทบุรี แม้มีพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่สามารถเล่าเรื่องราวทั้งบนบก และในน้ำ ผ่านวัตถุโบราณ ได้เป็นอย่างดี ผมขอแนะนำว่าถ้าใครมีโอกาส ผ่านไปจันทบุรี หรือไปถึงเมืองจันทบุรี ลองแวะเขาไปชมได้ ครับ
ผมคิดว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ อาจไม่ต่างอะไรกับตำราเรียนที่ถูกเขียนหรือพิมพ์เป็นหนังสือนับล้านๆเล่มที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ได้ให้ศึกษา แต่ที่นี่นับเป็นการเรียนรู้ที่แสดงออกมาในมิติที่เป็นรูปธรรมที่เราสามารถสัมผัสวัตถุต่างๆ เหล่านี้ ทั้งของจริงและเสมือนจริง ซึ่งแตกต่างจากจินตนาการที่เรานั่งวาดออกมากจากตัวหนังสือที่ไม่รู้ว่าจินตนาการนั้นถูกหรือผิด และอย่างน้อยสถานที่แห่งนี้ทำให้ผมรู้จักประโยคหนึ่งว่า “ การเรียนรู้อดีต สามารถนำมาพัฒนาปัจจุบันได้……”ที่คนไทยได้นำภูมิปัญญามาพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง