Select Page

ปราชญ์บ้านหนองตอ อุดรธานี ตอนที่ 1

ปราชญ์บ้านหนองตอ อุดรธานี ตอนที่ 1

 จากเด็กผู้ชายที่สภาพความเป็นอยู่ในวัยเยาว์ไม่เอื้อต่อการเล่าเรียนหนังสือ  จากวัยรุ่นที่คบเพื่อนผิด หลงเข้าไปอยู่ในวังวนของชีวิตอันตราย แต่จากความคับแค้นใจที่ถูกรังเกียจและดูถูกดูแคลน  ทำให้ “ประยงค์  ใจเป็น”ทุบขวดเหล้าแตก ตั้งปณิธานว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยดำเนินรอยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกลายเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ได้รับการยอมรับนับถือ และเพียรถ่ายทอดความรู้วิชาชีวิตเกษตรกรอยู่ที่บ้านไร่ไผ่งาม  ต.หนองตอ อ.เมือง จ.อุดรธานี

เรื่อง:สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

ภาพ:อรรถนนท์ จันทร์ทวีศักดิ์

คลิปวิดีโอ:รายการ”สิงห์ทัศนา”มหาดไทยชาแนล

ถอดเทปสัมภาษณ์ : วิรงรอง พรมมี

            ดิฉันได้มีโอกาสสนทนาขอความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านมาก็มากมายหลายท่าน ต่างกรรมต่างวาระ จากการทำ หน้าที่พิธีกร และผู้ดำเนินการเสวนาในเวทีต่างๆที่มุ่งเผยแพร่ประสบการณ์ชีวิตและภูมิปัญญาจากปูชนียบุคคลเหล่านั้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้ความดี ความงาม รวมถึงการเสียสละประโยชน์ส่วนตัว ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และพ่อประยงค์ ใจเป็น ก็เป็นปราชญ์ชาวบ้านอีกท่านหนึ่งที่ดิฉันได้มีโอกาสพานพบ เมื่อช่วงต้นปี 2554 นี้  

          “ประยงค์ ใจเป็น” ที่ดิฉันเรียกท่านว่า “พ่อประยงค์” ด้วยความประทับใจในกริยาท่าทางอันอบอุ่นและความกรุณาของท่านตลอดการสัมภาษณ์ ท่านเป็นแกนหลักในการถ่ายทอดวิชาชีวิตที่ดำเนินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ที่ศูนย์เรียนรู้บ้านไร่ไผ่งาม หมู่ที่ 5 บ้านหนองตอ ต.เชียงยืน อ.เมือง จ.อุดรธานี ค่ะ แขกไปใครมาโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเรียนรู้วิถีเกษตรแบบพอเพียง หรือวิชาการทำ “ปุ๋ยหมก” (หมกเศษไม้ใบหญ้าและวัชพืชให้กลายเป็นปุ๋ย เรียกว่า ปุ๋ยหมก ที่ไม่ใช่ “ปุ๋ยหมัก” นะคะ)

           พ่อประยงค์ เล่าความหลังเมื่อครั้งวัยเด็กให้ฟังว่า ท่านเป็นเด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา ฐานะไม่ดี เรียนหนังสือก็ไม่เก่งเรียนได้ที่โหล่ประจำทั้งห้องมีนักเรียน 17 คน ก็สอบได้ที่ 17 แม้ว่าพ่อแม่อยากให้เรียนหนังสือมากแค่ไหน ก็พยายามเรียนได้แค่จบ ป.4 

           ตอนอายุ 14-15 ปี ถูกโจรลักวัวควายไปหมด  ประกอบกับที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ก็เกเร กินเหล้าเมายา  คบเพื่อนไม่ดี  พากันหลงผิดไป ใช้ชีวิตในเส้นทางอันตราย  เกือบถูกนักเลงฆ่าเผานั่งยาง  แต่ด้วยไหวพริบก็เอาชีวิตรอดมาได้แล้วไปบวชเรียนพร้อมกับเพื่อน สึกออกมา เลิกยาเสพติด เลิกเป็นนักเลง  แต่ที่เลิกไม่ได้ก็คือการกินเหล้า  ซึ่งก็ทำให้ยังเป็นคนดีได้ไม่เต็มร้อย 

           วันที่ชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ ประยงค์ ใจเป็น เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คือวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2517 พ่อประยงค์เรียกวันนั้นว่า “วันขวดเหล้าแตก” หรือเป็น “วันตาสว่าง”   เนื่องจากถูกดูถูกดูแคลนจากแม่ค้าที่ไปซื้อของ  ว่าไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายหรอก เพราะเอาแต่กินเหล้าเมายา ไม่ทำมาหากิน  ค ำ พูดด่าว่าอย่างรุนแรงต่อหน้าคนอื่นๆ ทำให้พ่อประยงค์แค้นใจ จึงตั้งปณิธานว่า “กูต้องเป็นคน ไม่ใช่หมู ไม่ใช่หมา” คือจะไม่ยอมให้ใครมาดูถูกอีกต่อไป จึงขว้างขวดเหล้าแตก แล้วสาบานว่า 10 ปีจากวันนั้นเป็นต้นไป จะไม่ดื่มเหล้าอีกเลย (ซึ่งแม้ปัจจุบันจะผ่านช่วงเวลา 10 ปีของคำ สาบานแล้ว  พ่อประยงค์ก็ไม่หวนกลับไปดื่มเหล้าอีกเลยค่ะ) 

          “สาเหตุที่เปลี่ยนใจจากคนที่เกเรนะครับ ผมคิดว่าวันที่ค้นหาตัวเองพบ วันที่ผมโกรธไปซื้อข้าวแล้วเขาไม่ขายให้ ….ผมก็เลยเขียนกลอนขึ้นไว้ว่า ยามเรามั่งมีมากมายมิตรหมายมอง ยามเราหม่นหมองมิตรมองเหมือนหมูหมา ยามเราไม่มีหมู่มิตรไม่มองมา ยามมอดม้วยแม้หมูหมาไม่มามอง จากนั้นผมเลยโกรธตัวเอง  ผมจะต้องเป็นคน ผมก็เลยเข้าอบรม(เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง)ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่ก่อนนั้นลูกชาวไร่ชาวนาไม่ได้ทำเกษตรพอเพียงอย่างนี้  ไปอบรมที่ไหนผมก็ไป เขาไม่เรียกผมเขาก็เรียกแต่น้อง หลานผู้ใหญ่บ้าน หลานกำนัน  ผมก็ซ้อนจักรยานหรือเดินไปอยากเข้าอบรมเพื่อที่จะเปลี่ยนเป็นคนใหม่ ใครไปประชุมเกษตรผมก็ขอไป เขาก็ให้ไป  ไปอบรมนี้ 387 ครั้งแล้วครับ ตอนนี้ผมได้ใบประกาศห้าสิบกว่าใบ”  พ่อประยงค์เล่าด้วยความภูมิใจ

           ที่สำคัญคือ พ่อประยงค์ไม่เพียงแต่เป็นนักเรียนรู้เท่านั้น แต่พ่อประยงค์ยังเป็นนักปฏิบัติตัวจริง ทดลองใช้ชีวิตและทำการเกษตรแบบพอเพียงจนเชี่ยวชาญ สร้างความสุข สร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวอย่างมั่นคง แล้วก็ชักชวนคนในหมู่บ้านหนองตอตลอดจนคนต่างบ้านต่างถิ่นที่สนใจ ให้ดำเนินชีวิตตามแนวทางนี้บ้าง

          คุณดุษฎี ช่อสูงเนิน นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ กรมการพัฒนาชุมชน  ได้สรุปปัจจัยความสำเร็จของพ่อประยงค์ว่า”….เป็นผู้ปฏิบัติจริง อย่างจริงจัง ยึดมั่น และก็ทำสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง สามารถประเมินผลได้ เข้าไปประเมินผลตอนไหนก็พบว่าทำอย่างสม่ำสมอ ของแท้ก็ว่าได้ แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องการให้คนขยัน อดทน ทำจริง ปฏิบัติโดยเริ่มต้นจากการลองผิดลองถูก และพ่อประยงค์เป็นคนที่ขยันนะครับ แกไม่จ้างใครหรอก แกจะระดมลูกเต้าขุดจริงทำจริง ขุดคลองเป็นกิโลเมตรครึ่งแกก็ทำเอาเองเพื่อระบายน้ำเข้าสู่แปลงสาธิตของตนเอง จนกลายเป็นจุดเรียนรู้ที่ใครผ่านไปผ่านมาก็แวะมาดูของพ่อประยงค์ครับ…”

          พ่อประยงค์เป็นคนที่มีต้นทุนในวัยเด็กมาไม่น้อย  แม้ท่านจะไม่ได้เล่าเรียนหนังสือมากนักแต่ถือว่าได้จบการศึกษาวิชาชีวิตเกษตรกร  “ผมเรียนจบคือเป็นชาวไร่ชาวนา เราชาวไร่ชาวนาพ่อแม่พาทำเกษตร แต่มูลเหตุทำด้วยตนนั้นก็มากหลายเพราะไม่ทำตามปู่ย่าหรือตายาย เพราะฉะนั้นพวกชาวนาบางรายถึงยากจน แต่ทำไมบางคนเขามั่งมีศรีสุขเพราะเขาสู้ทุกเรื่องการงานไม่ท้อถอย อุตสาหะทำเอาไว้เป็นบ่อพลอย อย่างน้อยๆ เอาไว้กินเมื่อใกล้ตาย ทรัพย์ในดินสินในน้ำทำไปเถิดก็จะเกิดสิ่งตามมาสมปรารถนา พวกเราทำสิ่งใดสิ่งนั้นต้องตามมา จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความเพียร   (วิ ริ เย นะ ทุก ขะ มัจ เจ ติ ) “คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร….”

           เมื่อถามว่า ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงนี้มีหลักปฏิบัติอย่างไร พ่อประยงค์ตอบว่า ” ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ร้อยเปอร์เซ็นต์ บุกบั่น มานะ พยายาม เป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จ แต่ผมจะสอนคนทั้งหลาย นักศึกษาทั้งหลายว่า พ่อแม่พี่น้องผมขอฝาก 4 ข้อ พูดเป็น ทำเป็น  คิดเป็น สามข้อนี้เป็นทุกคนครับ แต่ข้อที่ 4 คนมักทำไม่ได้ แต่ผมทำข้อที่4 ได้ ผมเลยได้ตำแหน่งมา นั่นก็คือการแก้ปัญหาให้เป็น ผมขอกราบขอบพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านบอกว่าคิดผิดให้คิดใหม่ ผมไม่คิดอะไร ผมคิดแค่นี้ ไม่มีอะไรแขวนคอ คิดยามใดว่าพระเจ้าแผ่นดินยังอยู่ดินเลย ผมเคยเหยียบ ทำไมถึงตั้งชื่อว่าอยู่ดิน(หมายถึงพระนาม”ภูมิพล”ซึ่งแปลว่า พลังแห่งแผ่นดิน) ผมยอมรับว่าท่านเป็นองค์ที่ดีที่สุด ท่านเป็นห่วงลูกหลาน  ท่านจึงสั่งสอนให้พออยู่ พอกิน ความสามัคคีคือพลัง การดู การอ่าน การศึกษา โชคปรารถนา ถ้าอยากมีโชคให้แสวงหา ถ้าอยากมีวาสนาต้องมีการกระทำ  ผมจำไว้ไม่เคยลืมมันเขียนยังไง ผมเขียนไว้อ่าน ผมเป็นคนโง่แต่ผมจำได้!!!!

 

(ชมคลิปวิดีโอ)

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.