Select Page

“หอแห่งแรงบันดาลใจ” ต้นแบบการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า

“หอแห่งแรงบันดาลใจ” ต้นแบบการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า

          ดอยตุง” จ.เชียงราย ยามปลายฝนต้นหนาวอย่างนี้ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้าขึ้นไปเที่ยวชม “พระตำหนักดอยตุง” สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “แม่ฟ้าหลวง” ของปวงไทย พร้อมกับชมความงามของดอกไม้นานาพันธุ์ที่ชูช่ออยู่ภายใน “สวนแม่ฟ้าหลวง”

          horห่างจากพระตำหนักดอยตุง-ใกล้กับสวนแม่ฟ้าหลวง เพียงใช้เวลาเดินไม่กี่นาที เป็นที่ตั้งของ “หอแห่งแรงบันดาลใจ” สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งใหม่บนดอยตุง

ที่มา: นสพ.มติชน วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

          ที่มาของหอแห่งแรงบันดาลใจนั้น “คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาดอยตุง เล่าว่า เกิดจากการจัดนิทรรศการ “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงพระประวัติและพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2550

          เสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการจัดงานและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็มีความเห็นว่า ควรนำส่วนหนึ่งของนิทรรศการแสงหนึ่งคือรุ้งงามมาจัดแสดงเป็นการถาวร ณ “หอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แต่ต่อมาคณะทำงานเห็นว่าหอพระราชประวัติก่อสร้างมานานแล้ว ควรมีการปรับปรุงสถานที่รวมทั้งเนื้อหาจัดแสดงใหม่ จึงเนรมิตให้เป็น “หอแห่งแรงบันดาลใจ” ใช้งบประมาณราว 28 ล้านบาท

          งานนี้ “ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม” นัดดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นหัวหน้าคณะทำงานสร้างสรรค์ “หอแห่งแรงบันดาลใจ” ออกแบบโดยได้แนวคิดจากหยดน้ำ ที่แม้เพียงหยดเดียวก็สามารถส่งแรงกระจายไปเป็นวงกว้าง เปรียบได้กับสมาชิกราชสกุลมหิดลทุกพระองค์ที่ทรงเริ่มงานจากจุดเล็กๆ แต่ผลที่ได้นั้นยิ่งใหญ่และทำให้ทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินไทยมีความสุขhor1

           “หอแห่งแรงบันดาลใจจัดแสดงเรื่องราวของราชสกุลมหิดล เริ่มจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

          “ทุกพระองค์ต่างทรงเรียนรู้และทรงเป็นต้นแบบของกันและกัน เพื่อสร้างประโยชน์และความสุขให้กับแผ่นดิน” คุณหญิงพวงร้อยบอก

“หอแห่งแรงบันดาลใจแบ่งออกเป็น 7 ห้อง นำเสนอนิทรรศการด้วยเทคโนโลยีทันสมัยน่าตื่นตาตื่นใจ”

          ห้องแรก คือ “ราชสกุลมหิดล” แนะนำสมาชิกราชสกุลมหิดลทั้ง 5 พระองค์ มีผังราชสกุลที่ย้อนไปถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

          ใกล้กันเป็นโซน “ดั่งหยดน้ำ” ที่ภายในห้องขนาด 25 ตารางเมตรนั้นมืดสนิท มีเพียงแสงจากวิดีโอฉายลงตรงอ่างน้ำที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เมตรครึ่งเท่านั้น ติดกันเป็นแผ่นป้ายสีฟ้าเขียนว่า “หอแห่งแรงบันดาลใจ เพียงหยดน้ำ หนึ่งหยดเล็กๆ ก็ส่งแรงกระเพื่อมสะเทือนไหว แต่ขยายยิ่งใหญ่ กว้างไกลไม่มีที่สิ้นสุด ราชสกุลมหิดล เปรียบได้ดั่งหยดน้ำหยาดลงบนแผ่นดิน สร้างความฉ่ำเย็นให้ชนทั้งมวล”

          ห้องนี้ใช้น้ำจริงๆ หยดลงมา ขณะเดียวกันก็ใช้เทคนิคการฉายภาพเพื่อช่วยทำให้เห็นแรงกระเพื่อมของน้ำ เมื่อน้ำกระเพื่อมเป็นวงก็จะมีภาพฉายขึ้นมาเป็นประโยค เช่น “หยดน้ำคือความหวัง” “หยดน้ำคือความฉ่ำเย็น” “หยดน้ำคือชีวิต” “หยดน้ำคือจุดกำเนิด” เป็นต้น

          ถัดมาเป็นห้อง “เรื่องราวของราชสกุลผ่านพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” กล่าวถึงพระราชประวัติสมเด็จย่าในแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่ยังทรงเป็นเด็กสาวสามัญ กระทั่งได้เป็นคู่ชีวิตของเจ้าฟ้า ได้เห็นและเรียนรู้พระจริยวัตรในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมฯ และทรงนำมาเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาทั้ง 3 พระองค์ ตลอดจนการอุทิศพระองค์เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำเสนอแต่ละช่วงพระชนมายุผ่านการฉายหนัง

          การปฏิวัติ พ.ศ.2475 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของหลายเรื่องราว หนึ่งในนั้นคือสมาชิกพระองค์หนึ่งในราชสกุลมหิดลที่เสด็จนิวัติกลับสู่ผืนดินไทย ด้วยทรงตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ทรงมีต่อประเทศชาติ เป็นที่มาของห้องที่ 3 “การกลับคืนสู่มาตุภูมิของราชสกุลมหิดล”

          ห้องที่ 4 “ความทุกข์ยากของประชาชน” นำเสนอหลายปัญหาที่กระทบต่อชีวิตของคนไทย ทั้งปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การขาดแคลนน้ำ สภาวะแห้งแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่สมาชิกราชสกุลมหิดลทุกพระองค์ทรงรับรู้และทรงช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา ต่อด้วยห้องที่ 5 “แบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนอย่างยั่งยืน” จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกแห่งในประเทศไทย เพื่อทรงแก้ปัญหา โดยทรงยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

          ภายในส่วนนี้ยังนำวิธีการแก้ปัญหาน้ำใน 4 ภูมิประเทศ นั่นคือ บนภูเขา-ต้นน้ำ ที่ราบสูง-กลางน้ำ ที่ราบลุ่ม-ในเมือง และแถบชายฝั่งทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาศึกษาทดลองกระทั่งได้ผลดีมาจัดแสดงให้ชม ซึ่งประชาชนที่เข้าชมสามารถรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริได้ผ่าน “ชาโดว์ แอนิเมชั่น” ที่ทำเป็นจอขนาดใหญ่ หากสนใจโครงการพระราชดำริโครงการไหน ก็ชูมือให้เงาขึ้นที่หน้าจอ ตัวละครก็จะออกมาอธิบายความเป็นมาของโครงการพระราชดำรินั้น อย่าง โครงการกังหันชัยพัฒนา โครงการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น

          ต่อด้วยห้อง “แบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนบนดอยตุง” สะท้อนพระวิสัยทัศน์สมเด็จย่าที่ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง เพื่อช่วยเหลือให้ชาวเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทรงศึกษาจากโครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงนำมาปรับใช้

          hor2ห้องสุดท้าย คือ “ห้องแห่งแรงบันดาลใจ” แสดงถึงความใกล้ชิดและความผูกพันระหว่างสมาชิกราชสกุลมหิดลทั้ง 5 พระองค์ ซึ่งต่างเรียนรู้และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน และทุกพระองค์ต่างทรงงานหนักเพื่อประชาชนคนไทยได้มีความสุข

          ห้องนี้ทิ้งคำถามให้ผู้ชมได้คิดว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหอแห่งแรงบันดาลใจนั้น ผู้ชมจะสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตได้อย่างไร และจะสามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้บ้าง

          “กว่าจะออกมาเป็นหอแห่งแรงบันดาลใจได้ต้องมีการค้นคว้าข้อมูลเยอะมาก อยากให้ผู้ชมได้แรงบันดาลใจจากการเข้าชม ถ้าหากได้แรงบันดาลใจแล้วนำไปใช้ในด้านที่มีประโยชน์ จากจุดเล็กๆ ก็กลายเป็นจุดใหญ่ สังคมก็ดีขึ้นได้” คุณหญิงพวงร้อยบอก

          “หอแห่งแรงบันดาลใจ” เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-17.30 น. โดยเสียค่าผ่านประตูคนละ 50 บาท

          “พสกนิกรชาวไทย อยู่เย็นเป็นสุข ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ดังเรื่องราวที่ปรากฏใน “หอแห่งแรงบันดาลใจ” ที่เมื่อเปรียบกับ “น้ำ” แม้เพียงหนึ่งหยดเล็กๆ ก็ส่งแรงกระเพื่อมสะเทือนไหว และขยายยิ่งใหญ่ กว้างไกลไม่มีที่สิ้นสุด

About The Author

aof

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.