Select Page

คนพิการ กับ การเข้าถึงสื่อ ‘ฝันค้าง’ หรือ ‘ฝันที่เป็นจริง’

คนพิการ กับ การเข้าถึงสื่อ ‘ฝันค้าง’ หรือ ‘ฝันที่เป็นจริง’

สหประชาชาติ หรือยูเอ็นแถลงว่า ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2555) โลกเรามีประชากรมนุษย์สูงถึง 7 พันล้านคน และอาจเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านหรือมากกว่านั้นในปี 2593 หรืออีก 38 ปี มีประชากร 285 ล้านคน ที่มีความพิการทางสายตา มี 39 ล้านคนตาบอดสนิท อีก 246ล้านคน เป็นบุคคลที่มีการมองเห็นเลือนราง แล้วเขาเหล่านั้นจะใช้ชีวิตอยู่ในยุคดิจิตอลอย่างมีความสุขได้อย่างไร

มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภาสมัยที่ 2 ผู้มีความพิการทางสายตาคนเดียวในสภา ในคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ (UN-Committee Convention on the Rights of Person with Disabilities-CRPD) วาระปี 2556-2559 กล่าวว่า สิทธิทางการสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองในระบบประชาธิปไตยควรได้รับ แต่ความจริง “คนพิการ” คือ กลุ่มคนที่ถูกมองข้ามมากที่สุด ทั้งในฐานะของผู้ผลิตและผู้บริโภคสื่อ

“สื่อที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุคสื่อดิจิตอล ที่การส่งผ่านข้อมูลข่าวสารรวดเร็วมากเท่าไหร่ ผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย ยิ่งเข้าถึงข้อมูลยากขึ้นเท่านั้น กสทช. ผู้มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ควรคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ด้วย เพราะสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นของคนทุกกลุ่ม”

เมื่อมีการวางโครงสร้างระบบโทรคมนาคมหรือการสื่อสาร คนพิการที่มีความต้องการพิเศษ ทั้งความสามารถทางการมองเห็น การได้ยิน หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวร่างกายมักถูกมองข้าม อาจเป็นเพราะบุคคลกลุ่มนี้มีจำนวนน้อย และความต้องการไม่ตรงกับคนในกระแสหลัก ผู้ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในทุกกระบวนการของระบบโทรคมนาคม จึงต้องตั้งโจทย์ที่สามารถสนองความต้องการของคนด้อยโอกาสที่สุด

          มณเทียรบอกอีกว่า วันนี้เรายังไม่ต้องพูดถึง 3 จี ที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซัง ต้องกลับไปคิดก่อนว่าระบบโทรคมนาคมของประเทศไทยทุกวันนี้สามารถสนองความต้องการของคนด้อยโอกาสในสังคมได้หรือยัง สามารถเข้าถึงทั้งในฐานะผู้ผลิตและบริโภคสื่อตามหลัก Universal design หรือการออกแบบเพื่อทุกคน หากทำได้ประโยชน์ก็จะเกิดแก่คนทั้งปวง

          มณเฑียรไม่ได้กล่าวลอยๆ แต่ความคิดนี้ ปรากฏในเอกสารสำคัญคือ “คำประกาศหลักการของ World Summit on the Information Society” ใจความว่า “สังคมสารสนเทศนั้นจะต้องให้คนเป็นศูนย์กลาง ไม่เลือกปฏิบัติ เคารพสิทธิมนุษยชนสากล อีกทั้งกระบวนการกำกับดูแล จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นประชาธิปไตย แ ละมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ที่พูดถึง “สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” (Communication right) ซึ่งคนพิการอยากให้เกิดขึ้น แต่ยังไม่เกิดการปักธง ในวงการสิทธิมนุษยชนคนพิการไทยอย่างจริงจัง

          นอกจากการออกแบบระบบโครงข่ายทางการสื่อสารแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ “เทคโนโลยี” (Gadgets) สิ่งอำนวยความสะดวก โดยการดัดแปลงสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์ที่มีอยู่เพื่อคนกลุ่มนี้ เช่น หากนายกอไก่ต้องการฟังข่าวสารบ้านเมือง แต่นายกอไก่มีความพิการทางการได้ยิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช.ก้ต้องคิดค้นเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของนายกอไก่ได้

          แม้ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน แต่การออกแบบโทรคมนาคม มักพิจารณาจากเหตุผลทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่มองที่ความต้องการของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ดังนั้นเนื้อหาเทคโนโลยีที่นำไปสู่เนื้อหา และค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงต้องไม่แพงเกินไป แต่จะทำอย่างไร ในเมื่อคนที่มีความต้องการพิเศษทางการได้ยิน การมองเห็น และการสัมผัสคู่ขนานไป

          คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติชาวไทยคนแรกบอกว่า ข้อมูลข่าวสารต้องมีเนื้อหาเข้าใจง่ายต่อการเข้าใจและการเข้าถึง ส่วนเทคโนโลยีหรือเครื่องมือต้องมีราคาถูก ซึ่ง กสทช.สามารถกำหนดพิธีการเข้าแทรกแซงราคาได้ และผ่านการคิดค้นและพัฒนาเพื่อคนด้อยโอกาส เป็นเครื่องมือในการเข้าถึง

          “โจทย์ที่ท้าทายอีกข้อคือ โลกที่เข้าสู่ยุคดิจิตอล ซึ่งองค์กรคนพิการโลก เตือนว่าดิจิตอลทีวี จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงของคนพิการ ในทวีปยุโรปมีมาตรการรองรับแล้ว ในสหรัฐอเมริกามีการพูดถึงประเด็นนี้แล้ว แล้วประเทศไทยล่ะ มีการคิดถึงเรื่องนี้หรือยัง”

          “หากเราไม่นำ Universal design มาใช้ จะเป็นการกีดกันการเข้าถึงของคนพิการ จำกัดสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ โดยเฉพาะรายการข่าว การศึกษา สาระบันเทิง” หากคนพิการที่มีความต้องการสูงสุดในสังคมไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น

          มณเฑียร บุญตัน เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ ยกตัวอย่างกรณีแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเซนได ประเทศญี่ปุ่น “ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้ามากที่สุดชาติหนึ่ง มีเทคโนโลยีเตือนภัย การซ้อมหนีภัย ถือเป็นชนชาติที่ประมาทน้อยที่สุด แต่พบว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดคือ ผู้พิการ ที่มีอัตราการตายมากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า 1 ใน 5 ของผู้พิการหูหนวกอันเป็นเหตุให้ไม่ได้ยินสัญญาณเตือนภัย ข้อเท็จจริงแสดง ให้เห็นว่า แม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้ว ก็ยังไม่มีหลักประกันการเข้าถึงของคนพิการ”

          “จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีอุทาหรณ์ที่ทำให้เราต้องช่วยกันคิด คือเรื่อง การออกแบบที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ แม้ในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติ ใครจะว่าเราสุดโต่งก็ช่าง”

          “ฉะนั้น เนื้อหา เทคโนโลยี (เครื่องมือ) และราคา ต้องสามารถเข้าถึงในสถานการณ์ที่อาจเกิดภัยพิบัติตลอดเวลา หากตอบโจทย์นี้ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ประโยชน์และความปลอดภัย ก็จะเกิดแก่สังคมโดยรวม”

          สมาชิกวุฒิสภาผู้พิการทางสายตาที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนพิการยังบอกอีกว่า คนพิการก็มีไอเดีย มีความคิด มีภูมิปัญญาที่ต้องการแบ่งปัน ร่วมผลิต จัดการ สร้างสรรค์ และพัฒนาเนื้อหาของข้อมูลข่าวสารทุกวันนี้ด้วย

          “เราก็เป็นพลเมืองที่นอกจากจะมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ในฐานะผู้บริโภคแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้ประกอบการ ร่วมผลิตเนื้อหาเทคโนโลยี ร่วมพัฒนาและกำหนดทิศทางระบบโทรคมนาคม อันจะช่วยเติมเต็มให้แนวคิด Universal design สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น” เพราะการคำนึงถึง “การเข้าถึงทั้ง 2 มิติ” จะทำให้ระบบโดยรวมสมบูรณ์และก่อประโยชน์แก่ส่วนรวมมากขึ้น  ทั้งนี้  “พลเมือง” ต้องตระหนักในสิทธิของตัวเอง แสดงความคิดเห็นร่วมกำหนดทิศทางฝัน ร่วมกับ กสทช. ว่า  Communication right หรือสิทธิในการสื่อสารจะเป็นจริงขึ้นมาสักวัน

 

ที่มา : หน้าประชาชื่น หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2555 หน้า 20

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.