Select Page

‘ความสุข’ จากการเป็น ‘ผู้ให้’

‘ความสุข’ จากการเป็น ‘ผู้ให้’

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเดือน ธ.ค. ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้เป็นช่วงเทศกาลแห่งความสุข เป็นเทศกาลแห่งการให้ของขวัญเพื่อส่งมอบความปรารถนาดีและส่งความสุขให้แก่กัน เมื่อพูดถึงเรื่องของความสุข (อีกครั้ง) จะว่าไปแล้วตัวผมเองได้มีโอกาสเขียนเกี่ยวกับเรื่องของคงวามสุขอยู่บ่อยครั้ง (ท่านที่สนใจสามารถอ่านได้ที่ piriya-pholphirul.blogspot.com)

การศึกษาทางด้านความสุขไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่พระพุทธศาสนาได้ทีการอธิบายมาแล้วกว่า 2,500 ปี โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ระบุไว้ว่า ความสุขที่แท้จริงในทางพระพุทธศาสนาก็คือการเข้าสู่นิพพาน โดยแนวทางที่นำไปสู่ความสุขที่แท้จริงก็คือ “การเสียสละ” หรือ “การเป็นผู้ให้” ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาตรงกับคำว่า “ทาน” อันหมายถึง วิธีกำจัดความยึดมั่นถือมั่น ความโลภโกรธหลง ตลอดจนเป็นการสละสิ่งเล็กเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก

ในด้านการเป็นผู้ให้หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่เชื่อมโยงไปสู่ความสุขนั้น ได้มีการศึกษาไว้เช่นเดียวกันในต่างประเทศ โดยงานศึกษาที่มีการถูกกล่าวอ้างมากที่สุด ได้แก่ การศึกษาของ Michael Norton และคณะ (Elizabeth Dunn และ Lara Aknin) ในบทความที่มีชื่อว่า “Spending Money on Others Promotes Happiness,” ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ในเดือน มี.ค. ปี 2008 โดยพบว่าการจ่ายเงินเพื่อคนอื่นๆ จะทำให้มีความสุขทางใจมากกว่าการจ่ายเงินเพื่อตนเอง

งานศึกษานี้ยังถูกนำไปสรุปถึงสาเหตุที่คนในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีระดับของความสุขที่สูงเหมือนกับขนาดของเศรษฐกิจ เนื่องจากคนอเมริกันมักนิยมใช้จ่ายเพื่อตนเองและไม่ได้มีการใช้จ่ายเพื่อคนอื่นๆ มากนัก ในขณะที่งานศึกษาของ Liu and Aaker (2008) ยังระบุว่า การให้ในรูปแบบของ “เวลา” (เช่น การทำงานอาสาสมัครและงานการกุศลต่างๆ) จะส่งผลบวกต่อระดับความสุขมากกว่าการให้ในรูปแบบของทรัพย์สินเงินทอง

ตัวผมเองได้ลองนำข้อมูลการสำรวจดัชนีชี้วัดความสุข ซึ่งเป็นดัชนีที่ถูกจัดทำภายใต้โครงการ “การพัฒนาและทดสอบดัชนีชีวัดสุขภาพจิตคนไทย” จัดทำโดย อภิชัย และคณะ (2550) โดยข้อมูลได้ทำการสำรวจ 2 รอบ ซึ่งมีจุดเด่นของข้อมูล โดยเป็นการศึกษาจากตัวแทนประชากร ทุกภาคในประเทศไทยที่มีอายุ 15-60 ปี ที่อยู่อาศัยทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท จาก 5 ภาค โดยแบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็นกลุ่มจังหวัดที่ร่ำรวย มีรายได้ปานกลาง และยากจน หลังจากนั้นได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ แล้วพบผลที่น่าสนใจว่า คนที่บอกว่าตัวเองมีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นเมื่อมีโอกาสจะมีค่าระดับของความสุขที่สูงกว่าคนที่บอกว่าตนเองไม่เคยช่วยเหลือผู้อื่นเลย ในขณะที่คนที่บอกว่าตัวเองได้เสียสละแรงกายและทรัพย์สินเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทนเองก็มีระดับค่าเฉลี่ยของความสุขที่สูงกว่าคนที่ไม่ได้เสียสละแรงกายเช่นเดียวกัน

 

งานศึกษา (แบบตะวันตก) ยังอธิบายถึงสาเหตุที่การให้นำมาซึ่งความสุขไว้ว่า

1.การให้ เป็นการทำให้เราเป็นผู้เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และทำให้เรามองเห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์

2.หารให้ คือการสร้างความสมานสามัคคีกับคนอื่นๆในสังคม ซึ่งนำมาสู่ความอบอุ่นใจ ความมั่นคง และความสุข

3.การให้ ทำให้เรารู้สึกสบายใจและยกย่องในคุณค่าของตัวเองว่ามีส่วนช่วยเหลือสังคม วึ่งนำมาสู่ความสุขมากขึ้น

4.การให้ นำมาสู่ภาพลักษณ์ที่ดีของผู้ให้ ซึ่งทำให้คนคนนั้นได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งนำมาสู่ความสุขมากขึ้น

5.การให้ นำมาสู่ผลกระทบทางบวก (Positive Externality) ซึ่งเปรียบเสมือนกับการสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่แก่คนอื่นๆ ที่จะเป็นผู้ให้ตามมา ซึ่งจะทำให้คนเหล่านั้นมีความภูมิใจ และพึงพอใจระหว่างกันมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบตะวันตก (เช่น ตามหลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนา) งานศึกษาแบบตะวันตกก็ดี หรือการใช้ข้อมูลแบบไทยๆ สิ่งที่เราสามารถสรุปได้แน่ชัดก็คือ “การเป็นผู้ให้” เช่น การเสียสละ การบริจาค หรือการทำงานอาสาสมัครต่างๆ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความสุขที่เพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นอาจจะไม่แปลกอะไร ถ้าดัชนีความสุขในเดือน ธ.ค. จะเป็นช่วงเดือนที่มีค่าดัชนีที่สูงที่สุด (นี้ยังไม่ได้เอาความสุขจากการเป็น “ผู้รับ” เข้ามาคิดด้วยนะครับ)

ในท้ายนี้ ผมในนามของคณาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน ประสบแต่ความสุขและความเจริญในชีวิต “สวัสดีปีใหม่ 2556 ครับ พบกันใหม่ปีหน้า”

 

ที่มา : คอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์วิเคราะห์ ฉบับวันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2555 หน้า 2

About The Author

Leave a reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.